กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ แนวโน้มเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ... เน้นเสถียรภาพราคา โดยสำนักวิจัยมีความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะให้น้ำหนักความสำคัญกับการจัดการด้านเสถียรภาพของราคา มากกว่าประเด็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผลพวงของพายุเฮอริเคนแคทรินาและริต้า แต่จากปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาที่อยู่อาศัยซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะกำลังเผชิญภาวะฟองสบู่ของราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ (House Price Bubble) ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯประจำเดือนกันยายนที่สูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 15 ปี และ 25 ปีตามลำดับ จึงคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ที่จะถึงนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 3.75% เป็น 4.00 % ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นครั้งที่ 12 ติดต่อกันนับจากกลางปี 2547
สำนักวิจัย มองว่า ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน อีกเป็นครั้งที่ 6 ในรอบปี 2548 โดยให้น้ำหนักกับเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาเป็นสำคัญ รวมทั้งรักษาความสมดุลระหว่างอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศให้คงไว้ในระดับที่จะไม่กระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งสัญญาณให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน และช่วยส่งเสริมการออมในระบบรองรับการเพิ่มขึ้นของการลงทุน อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัย มีความเห็นว่า ธปท.อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% เช่นในการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา (7 ก.ย.และ 19 ต.ค.) แต่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2548 ไม่ได้ปรับตัวสูงกว่าปัจจุบัน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2549
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2549 สำนักวิจัย มีความเห็นว่า ยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกประมาณ 1.0-1.5% หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วหลายครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2548 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ เช่น อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นเป็น 4.50-4.75% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 14 วันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะปรับขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสภาพคล่องส่วนเกินมีแนวโน้มลดลงจากการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ การเสนอขายพันธบัตรกองทุนน้ำมันล็อตที่สองจำนวน 15,600 ล้านบาทประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และการทยอยออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังวงเงิน 30,000 ล้านบาท--จบ--