กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ไทยออยล์
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการบริษัท ไทยออยล์ได้อนุมัติให้ลงทุน Linear Alkyl Benzene หรือ LAB ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงซักฟอกและสารซักล้าง เช่น แชมพู ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 9,000 ล้านบาท หากโรงงานนี้เกิดขึ้นจะเป็นโรงงานแรกของประเทศไทยที่ผลิต LAB ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าที่ประเทศไทยต้องนำเข้าปีละ 70,000 ตัน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค แต่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ LAB ทั้งหมด หากผลิตได้เองก็จะช่วยลดการนำเข้า สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ ขณะนี้ไทยออยล์กำลังเจรจาหาพันธมิตรร่วมลงทุน และจะประกาศภายในกลางปีนี้ หลังจากนั้นเริ่มก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559
โครงการ LAB เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุน 5 ปี (2555-2559) วงเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแผน 5 ปี จะมีการขยายการลงทุนด้าน ท่อน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าระบบโคเจเนอเรชั่น หรือเอสพีพี 2 โครงการ กำลังผลิตรวมประมาณ 240 เมกะวัตต์
โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าเอสพีพี 2 โครงการ ตามสัญญาจะต้องก่อสร้างโครงการให้เสร็จและส่งไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในปี 2557-2558 วงเงินลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่เนื่องจากไทยออยล์มีความพร้อมในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า จึงได้ยื่นเรื่องต่อ กฟผ. เพื่อขอเลื่อนระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าให้เร็วขึ้นในบล็อก 2 จากปี 2558 มาเป็นปี 2557 พร้อมกับบล็อก 1 ซึ่งขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะเดียวกันจะลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับการสร้างถังน้ำมันเพิ่มรองรับการรับนำมันดิบให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับการที่ประเทศไทยจะยกเลิกการใช้เบนซิน 91 เดือนตุลาคมนี้ ซึ่งต้องปรับมารับน้ำมันดิบที่ได้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ลดการผลิตเบนซิน
นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตจะลดการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษ ช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะในขณะนี้ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นมาก โดยเบื้องต้นไทยออยล์ใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้น้ำมันเตาได้ 400-500 ตันต่อวัน ประหยัดเงินได้ 54 ล้านบาทต่อเดือน
ส่วนการขยายท่าเรือ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยจะขยายจากปัจจุบันรองรับเรือได้ประมาณ 5,000 เดตเวทตัน เป็นรองรับได้ 50,000 เดตเวทตัน เพื่อรองรับการส่งออกผลิตของบริษัท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ EHIA