สนช. จัดอบรมวิทยากรเขตเพื่อการสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

ข่าวทั่วไป Friday April 2, 2004 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (1 เม.ย.47) เวลา 9.00 น. สำนักพัฒนาชุมชนจัดอบรมวิทยากรเขตเพื่อการสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่โรงแรม เอส ดี อเวนิว โดยมีนายชาญชัย ภาวสุทธิการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน เป็นประธาน พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมอบรม
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้กำหนดรูปแบบของลักษณะของสังคมไทยและคนไทยที่พึงประสงค์ในอนาคต โดยกำหนดเป็นเครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ. ) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยการส่งเสริมให้สถานภาพความเป็นอยู่ของคนไทยผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานทุกตัวชี้วัด คือ สุขภาพดี มีบ้านพักอาศัย ฝักใฝ่การศึกษา รายได้ก้าวหน้า ปลูกฝังค่านิยมไทย ร่วมใจพัฒนา สำหรับขั้นตอนดำเนินการนั้นประกอบด้วย การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.การรู้ปัญหาชุมชน การวิเคราะห์ปัญหาเพื่อกำหนดสาเหตุของปัญหา การจัดลำดับก่อนหลังและวางแผนแก้ไข การดำเนินตามแผน และการประเมินผล ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนที่ดำเนินการสำเร็จได้เป็นชุมชนตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็นชุมชนเครือข่ายซึ่งจะเกิดการเรียนรู้ และ เปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างวิทยากรระดับเขตในการปฏิบัติงานตามเงื่อนไขต่างๆ เพื่อความสำเร็จของ จปฐ. ขององค์ประกอบทั้ง 3 คือ บทบาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ จปฐ. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างดี สามารถเชื่อมแนวความคิดเข้ากับการพัฒนาชุมชนที่มีอยู่เดิม สามารถกระตุ้นให้ประชาชนบรรลุเกณฑ์ จปฐ. รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่วิทยากรระดับล่างสุดเพื่อถ่ายทอดเรื่อง จปฐ. ไปให้ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุน กระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแผนที่วางไว้ และติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง บทบาทขององค์กรประชาชน ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ จปฐ. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถนำไปปฏิบัติในชุมชนตนเองได้ และถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจไปยังชุมชนอื่น หรือชุมชน ใกล้เคียง นำผลสำรวจ จปฐ. มาวางแผนพัฒนาชุมชนแล้วปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ได้อย่างจริงจัง มีการระดมทรัพยากรในท้องถิ่น ตนเองมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการติดตามช่วยเหลือกันและกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ภายในชุมชน หรือชุมชน ใกล้เคียง ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการอื่นๆ ในการดำเนินงานหากเกินความสามารถในการดำเนินงาน รวมทั้งมีการฟื้นฟูความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ จปฐ. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นประจำ และประเมินผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน โดยสำรวจ จปฐ. ซ้ำทุกปี บทบาทขององค์กรเอกชน ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและกำลังคน ความรู้วิชาการต่างๆ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แนวความคิดเรื่อง จปฐ. ให้มีการสื่อความหมายและถ่ายทอดความคิดให้ตรงกัน ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพและความมีพลังในการทำงาน ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นตามวัตถุประสงค์--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ