กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--อพท.
เชียงคาน อำเภอที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของจังหวัดเลย ซึ่งเป็นอำเภอแรกของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่มีแม่น้ำโขงไหลกลับเข้ามาเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกครั้ง หลังจากที่แม่น้ำโขงไหลผ่านเข้าไปในประเทศลาว ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันเชียงคานได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศของเรือนไม้เก่าริมน้ำโขงและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนในชุมชนไปแล้ว ซึ่งหากมีโอกาสได้เข้าไปในตัวเมืองเชียงคานนี้ เราก็จะได้พบผ้าห่มนวมของฝากยอดนิยม ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นวางขายอยู่มากมาย เนื่องจากเชียงคานเป็นแหล่งผลิตผ้านวมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเลยนั่นเอง
ด้วยความที่ในฤดูหนาวมีอากาศที่หนาวเย็นและในอดีตอำเภอแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกฝ้ายอันดับต้นๆ จึงทำให้คนที่นี่รู้จักการทำผ้าห่มนวม เพื่อใช้ป้องกันสภาพอากาศที่หนาวเย็นกันเป็นอย่างดี โดยแต่เดิมนั้นชาวเชียงคานจะทำผ้าห่มนวมกันเพียงแค่พอใช้กันเองในครัวเรือน
ผ้าห่มนวมเชียงคานนั้นถือได้ว่าเป็นงานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน เนื่องจากขั้นตอนกระบวนการผลิตผ้าห่มนวมของคนที่นี่ยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก กรรมวิธีในการผลิตอย่างคร่าวๆ เริ่มที่การใช้ไม้เหวี่ยงขึงด้ายเป็นตารางบน กง หรือ กัง ซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมที่ทำจากไม้ เหล็กหรือท่อ PVC โดยตวัดไปมาทางขวาง 2 รอบ ทางตรง 3 รอบ และทางเฉียงอีก 3 รอบ จากนั้นจึงนำเอาฝ้ายที่หีบเมล็ดออกและดีดจนฟูเป็นปุยแล้วมาแผ่ให้เป็นแผ่นบนพื้นให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นก็โน้มเอากงที่ขึงด้ายไว้ลงมาทาบ แล้วก็เอาไม้ผุนหรือไม้หมุน ซึ่งเป็นแผ่นไม้กลมๆ ทำจากไม้ซ้อ มีที่จับด้านบน มาหมุนคลึงจนทั่ว เพื่อให้ตารางขนาดเล็กที่เกิดจากการขึงด้ายนี้เป็นตัวช่วยยึดปุยฝ้ายเอาไว้ ทำให้ผ้านวมทนทานไม่หลุดลุ่ย เมื่อทำเสร็จแล้วจึงกลับอีกด้านขึ้นมาวางด้ายที่ขึงเป็นตารางในแบบเดียวกัน ก็เป็นอันว่าเสร็จสิ้นกระบวนการทำไส้ผ้าห่มนวม จากนั้นก็จะเอาไส้ผ้าห่มนวมที่ได้ยัดใส่ในปลอกผ้ามุ้งและเอาปลอกผ้าชั้นนอกที่จะสามารถถอดซักได้มาสวมทับอีกชั้นหนึ่ง
ผ้าห่มนวมผืนขนาดที่พอห่มได้ 2 คน จะใช้ปุยฝ้ายประมาณ 3 กิโลกรัมเลยทีเดียว ผ้าห่มนวมจากฝ้ายนี้ค่อนข้างจะมีราคาสูง เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายของจังหวัดเลยลดลงไปอย่างมากจนไม่เพียงพอต่อความต้องการในการนำมาผลิตเป็นผ้าห่มนวม รวมทั้งราคาฝ้ายก็ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตบางรายต้องสั่งซื้อฝ้ายจากจังหวัดใกล้เคียงหรือนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน บางแห่งก็ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้ไยสังเคราะห์แทนเลยก็มี แต่นิยมกันว่าผ้าห่มนวมที่ทำจากฝ้ายแท้ๆ นี้ แต่ละผืนจะใช้งานได้นานหลายปีเลยทีเดียว
แวะเวียนไปเที่ยวเชียงคานคราวหน้า ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมกรรมวิธีการผลิตผ้าห่มนวมตามแบบฉบับของชาวเชียงคาน และอุดหนุนผลิตภัณฑ์พื้นเมืองนี้กลับไปเป็นของใช้หรือของฝากกันด้วยนะครับ
ขอขอบคุณ ร้านสุณีพรผ้าห่มนวม ที่อนุญาตให้คณะเจ้าหน้าที่สำนักงานพื้นที่พิเศษเลยเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผ้าห่มนวมมา ณ ที่นี้ด้วย