บทสรุปจากการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก นานาชาติร่วมประกาศเจตนารมณ์ เอาจริงกับการแก้ไขปัญหาน้ำเมา

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2012 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยความสำเร็จในหลายๆด้านในการจัดการและแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ว่าเป็น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขหรือการมีองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสุขภาพอย่างเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ฯลฯ จึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Declaration/GAPC)ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานี มีนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน ภาคสาธารณสุข ภาครัฐ นักรณรงค์ และสื่อมวลชนจาก 59 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าบทสรุปจากการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Declaration/GAPC) ครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ ปัญหาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก เพื่อลดปัญหาและอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Global Strategy to Reduce Harmful Use of Alcohol endorsed) หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่าน้ำเมาของทุกประเทศทั่วโลกให้ลดน้อยลง สร้างสังคมโลกที่ปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการประชุมได้สิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 15 ก.พ. 2555 นี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ระดับโลกและร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อให้การดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศและระดับท้องถิ่นให้มีการ 1) สนับสนุน สร้างความเข้มแข็ง และผสมผสานมาตรการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในยุทธศาสตร์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มีประสิทธิผลของความคุ้มค่า และควรผนวกเข้าไปในกระบวนการวางแผนทางด้านสาธารณสุขและนโยบายการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ 2) สนับสนุนด้านทรัพยากรที่เพียงพอและยั่งยืน ผ่านช่องทางทางการเงิน รวมถึงการขึ้นภาษี หรือ การเก็บเงินพิเศษสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแบ่งรายได้ที่จัดเก็บได้ให้แก่แผนงานรณรงค์เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3) ส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาครัฐ เพื่อก่อให้เกิดนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล และ 4) พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ทั้งสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความเข้มแข็งของนโยบาย ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่ากรมควบคุมโรคมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและประสิทธิผลการควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดำเนินงานในปีนี้จึงได้กำหนดนโยบายเน้นหนักที่จะพัฒนามาตรการการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับชาติ ผลักดันกฎหมายลำดับรองที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ผลักดันการดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจเตือนและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง พร้อมทั้งพัฒนาบุคคลต้นแบบในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ เพื่อให้สอดรับกับข้อเรียกร้องจากที่ประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก ซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อ ด้วยกันคือ 1) การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอและต่อเนื่องผ่านระบบต่างๆ รวมถึงระบบดั้งเดิมและระบบการเงินสมัยใหม่ 2) สนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และประเทศต่างๆ ที่กำลังขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในทุกระดับ พร้อมทั้งตรวจสอบและประเมินความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น 3)พัฒนาระบบการควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติที่มีประสิทธิผล 4) ขับเคลื่อนทางสังคมในระดับนานาชาติและสนับสนุนภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการผลักดัน และสนับสนุนนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล 5) สร้างเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (GAPA) และหน่วยงานเครือข่ายในระดับภูมิภาคตลอดจนองค์กรในระดับนานาชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้มแข็งในเครือข่าย การแบ่งปันข้อมูล และความร่วมมือของภาคประชาสังคม และองค์กรวิชาชีพ และ 6) สนับสนุนการบูรณาการเป้าหมายของการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์เข้าไปในประเด็นการพัฒนาความร่วมมือระดับนานาชาติรวมถึงการต่อสู้กับความยากจน การสร้างสังคมประชาธิปไตย การหยุดยั้งโรคเอดส์และวัณโรค การเพิ่มอำนาจ (empower) ให้แก่ผู้หญิง การลดอาชญากรรมและความรุนแรง นพ.ทักษพล ธรรมรังสี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Declaration/GAPC) กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์การประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก หรือ GAPC Declaration เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ระดับโลกเพื่อเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาชีพ ชุมชน และปัจเจกบุคคล ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ร่วมกันขับเคลื่อน สนับสนุน สร้างเครือข่าย ความเข้มแข็ง ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบด้านนโยบายและมาตรการในการควบคุมปัญหาแอลกอฮอล์ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน www.ddc.moph.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ