“มิวเซียมสยาม" จัดนิทรรศการ “Ola Siao 500 ปี ไทย-โปรตุเกส” ในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต ฟัง-คุย-ดม-ชม-ชิม

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2012 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--มิวเซียมสยาม มิวเซียมสยาม จัดนิทรรศการ “Ola Siao 500 ปี ไทย-โปรตุเกส” ปฏิบัติการสุดขอบฟ้า เพื่ออำนาจ เงินตรา หรือศรัทธาแห่งพระเจ้า? ครั้งแรกของวงการพิพิธภัณฑ์ไทยกับ “นิทรรศการมีชีวิต” ฟัง-คุย-ดม-ชม-ชิม หวังสร้างการเรียนรู้แนวใหม่ด้วยภาพจำ เพื่อให้คนไทยเข้าใจรากเหง้าและ ภูมิหลังแห่งความสัมพันธ์ของชนชาติโปรตุเกสและสยามประเทศที่มีมายาวนานถึง 500 ปี นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เผยว่า โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ได้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในปี พ.ศ. 2054 นับถึงปัจจุบันโปรตุเกส-สยาม (ไทย) มีสัมพันธไมตรีกันมายาวนาน 500 ปี ซึ่งเป็นเวลายาวนานที่สุดจากในบรรดาชาติตะวันตกทั้งมวล ความสัมพันธ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมเปิดของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งสามารถทำการค้ากับนานาชาติและต้อนรับชาวต่างชาติจากทั่วโลก อีกทั้งพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันและอดีต ที่ทรงริเริ่มและเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติมหาอำนาจตะวันตกได้ในฐานะเป็นรัฐที่เท่าเทียมกันตลอดมา “นิทรรศการ “Ola Siao 500 ปี ไทย-โปรตุเกส” ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของวงการพิพิธภัณฑ์ไทย ที่ได้มีการจัดนิทรรศการพิเศษที่ไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ โดยผู้ชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวสำคัญต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่องจากนักแสดงที่สวมบทบาทเป็นชาวโปรตุเกสผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสยาม ในชุดแต่งกายสมจริง เพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปกับบรรยากาศจำลอง ซึ่ง ภาพจำ ที่เกิดขึ้นจากการชมนิทรรศการมีชีวิตครั้งนี้ เราคาดหวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจ และจดจำ ได้มากกว่าการอ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว” นายราเมศ กล่าว ภายในงานนิทรรศการครั้งนี้จะมีนักแสดงกว่า 10 ชีวิต สวมบทเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์สำคัญ 8 บทบาท ได้แก่ อัลฟองซู ดือ อัลบูแกร์เกอ, โดมิงกูซ ดือ ไซซ่าส์, ฟรานซิส จิตร, ดอญ่า กูโยมาร์ เดอ ปินา หรือ มารี กีมาร์, ปินตู, คริสเตียโน โรนัลโด, บาทหลวง และ หญิงสาวชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งเป็นบุคคลที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ในรูปของศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ที่หลอมรวมกันระหว่างโปรตุเกสและสยามจนกลายเป็นมรดกสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ควบคู่ไปกับการนำเสนอภาพและอุปกรณ์ประกอบที่มีสีสันสดใส โดยวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ชมจะได้ชิมอาหารโปรตุเกสคาวหวานหลากหลายชนิด ซึ่งบางเมนูเริ่มหารับประทานได้ยากมากขึ้น ผศ. ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “ในอดีตคนไทยมักจะเรียกประเทศโปรตุเกสว่า พุทธเกตุ หรือ ปะตุกัน ซึ่งเป็นสำเนียงไทยที่ได้ออกเสียงเพี้ยนไป ชาวโปรตุเกสเป็นนักเดินทาง จนถือว่าเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่สำคัญของโลกเมื่อ 500 ปีก่อน สาเหตุสำคัญที่ต้องออกมาเป็นนักเดินทางคือเรื่องการค้า และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ โดยสินค้าที่โปรตุเกสสนใจในดินแดนแถบนี้คือเครื่องเทศ ซึ่งจะมีคุณค่าและราคาสูงลิบลิ่วเมื่อนำกลับไปขายยังทวีปยุโรป จนถึงขนาดเรียกเครื่องเทศทองคำ ส่วนการเผยแผ่ศาสนานั้น เมื่อได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 โปรตุเกสก็เริ่มออกเดินทางในทันที ในสมัยอยุธยาเริ่มปรากฏศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิต ซึ่งเป็นของโปรตุเกส ก่อนสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ 200 ปี ส่วนการเข้ามาเป็นทหารรับจ้าง และพ่อค้าอาวุธสงครามนั้น เริ่มปรากฎเป็นครั้งแรกสมัยอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราช คุณจุลลดา มีจุล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า การรับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของโปรตุเกสและสยามค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยในปัจจุบันมักจะอยู่ในวงวิชาการ มิวเซียมสยามจึงหยิบยกเอาประเด็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยามมานำเสนอในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิตให้เหมาะกับยุคสมัย ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงพื้นหลังของโปรตุเกสและสยามประเทศเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมาได้เข้าใจมากขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ — 29 เมษายน 2555 ตั้งแต่เวลา 10.00 — 18.00 น. ที่ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-2252777 ต่อ 407 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ