ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ถิรไทย” ที่ระดับ “BBB+/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2012 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทได้รับแรงหนุนจากสัญญาการใช้ลิขสิทธ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG จากประเทศออสเตรียซึ่งช่วยสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และการเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นหลัก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า ศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกหลายแห่ง และอุปสรรคที่ค่อนข้างสูงในการเข้าสู่ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้มากกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทต้องพึ่งพิงลูกค้าในภาครัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก ความต้องการแหล่งอ้างอิงในการเข้าตลาดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย โดยบริษัทควรสำรองสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ให้เพียงพออยู่เสมอ นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ไม่ควรเพิ่มสูงเกินกว่า 50% แม้จะมีการลงทุนในอนาคต ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2554 มีนายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และมีคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 34% บริษัทถิรไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศจำนวน 2 รายที่ผลิตทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 5-300 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ถึง100 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 กิโลโวลต์ รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายในสัดส่วน 66% หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง 31% และรายได้จากการขายอุปกรณ์หม้อแปลงไฟฟ้าและงานบริการอีก 3% ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (46% ของรายได้รวม) บริษัทเอกชน (35%) และลูกค้าภาคการส่งออก (16%) ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทถิรไทยเป็น 1 ในผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังทั้ง 4 ราย และเป็น 1 ใน 2 รายที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้า 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ด้วยแรงดันไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเนื่องจากรูปแบบทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรือธุรกิจที่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือและคุณภาพจึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง รวมถึงผลงานในอดีตและแหล่งอ้างอิงจึงได้รับการกำหนดให้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายมีการแข่งขันสูงในด้านราคาเนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนน้อยกว่าและมีผู้ผลิตจำนวนมาก สำหรับตลาดในประเทศนั้น รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าโดยตรงและเป็นผู้ใช้รายสำคัญเนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งของประเทศ โดยปกติรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าจะจัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อพัฒนาสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อย รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบสายส่ง ส่วนผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าอื่น ๆ เป็นกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบสำคัญในโรงงาน ดังนั้น ความต้องการในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าจึงขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างผันผวนซึ่งเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ยอดรับคำสั่งซื้อของบริษัทถิรไทยลดลง 14% เป็น 1,122 ล้านบาทในปี 2553 จาก 1,305 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2551 และการประกาศระงับโครงการอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดเมื่อเดือนกันยายน 2552 นอกจากนี้ ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ยังทำให้เกิดภาวะชะลอการลงทุน ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปี 2553 เท่ากับ 1,492 ล้านบาท ลดลง 33% จาก 2,223 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากการมียอดรับคำสั่งซื้อที่ต่ำในช่วงปี 2552-2553 อย่างไรก็ตาม ความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้ากลับมาปรับตัวดีขึ้นในปี 2554 โดยยอดรับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,821 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งสูงกว่ายอดรับคำสั่งซื้อในปี 2553 และ 2552 ทั้งปี ประมาณ 60% ของยอดรับคำสั่งซื้อในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มาจากหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ดังนั้น รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้น 26% เป็น 1,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,132 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวน 924 ล้านบาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งมีกำหนดส่งมอบในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ดังนั้น รายได้ของบริษัทจึงคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในช่วง 14%-16% จากปี 2550 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวดีขึ้นจาก 10%-13% ในช่วงปี 2545-2549 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการกำหนดราคาและการยืนราคาในระยะเวลาที่สั้นลง กระแสเงินสดของบริษัทยังคงแข็งแกร่งโดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมดีขึ้นเป็น 63.03% ในปี 2553 จาก 48.92% ในปี 2552 และ 49.76% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้นจาก 42.79% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงเดียวกันของปี 2553 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยน้อยกว่า 50% ในช่วงปี 2550 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2554 ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) (TRT) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ