กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ผู้ทรงคุณวุฒิรวม 13 ท่าน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 ในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ศาสตราจารย์ ดร.อู๋ ฉิง จี (Professor Dr.Ching —Ji Wu) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว
ศาสตราจารย์ ดร.อู๋ ฉิง จี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไต้หวัน ท่านเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านวิชาการและด้านการศึกษาจนเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์หลายเล่ม และเป็นอาจารย์แลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ( Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Type A Academic Research จากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ปี คศ.1984-1987) รางวัล Education Award, Educational and Academic Association of R.O.C (ปี ค.ศ 1984,1989,1994,2000และ 2007) นอกจากนี้ยังใช้ความรู้ ความสามารถส่งเสริมการศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศต่างๆกับประเทศไต้หวันอีกด้วย
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาสังคมและมนุษย์
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรีของเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) และหม่อมจันทร์เทพย์ เป็นผู้ที่มีผลงานในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาอย่างต่อเนื่อง จนได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญและโล่เชิดชูเกียรติทางวัฒนธรรมในหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาสังคมล้านนา เป็นนักจัดรายการวิทยุทั้งภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างและแก้ไขภาพลักษณ์ผู้หญิงล้านนา ริ่เริ่มการสร้างอาชีพให้แก่สตรีในท้องถิ่น ใช้ความรู้ด้านกฎหมาย ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเด็ก ได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ดูแลด้านสิทธิเด็กและสตรี ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสมทบคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งเป็นสตรีท่านแรกที่ได้นั่งบัลลังก์ในฐานะตุลาการ จากการทุ่มเททำงานจนเป็นที่ประจักษ์จึงทำให้ ได้รับเหรียญ VOICE OF AMERICA (V.O.A) และประกาศเชิดชูเกียรติเป็นต้นแบบคนดีศรีแผ่นดินจากกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์
นายเอี่ยม งามดำรงค์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา บริหารธุรกิจ
นายเอี่ยม งามดำรงค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยได้รับความไว้วางใจจากประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้บริหารธุรกิจหลัก ๔ กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ เป็นประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เป็นรองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกำลังคน บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัย จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบทบาทในการริเริ่มและพัฒนาธุรกิจการค้ากับต่างประเทศ โดยในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ นายเอี่ยม งามดำรงค์ เป็นผู้เสาะหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศจีน เพื่อสนับสนุนกิจการปศุสัตว์ในประเทศไทย และได้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อสัมพันธ์กับภาคธุรกิจจีน เป็นผู้ริเริ่มการส่งออกพืชเกษตร อาทิ แป้งมันสำปะหลังไปยังประเทศในทวีปยุโรป ทำการค้าข้าวโพดกับประเทศไต้หวัน การลงทุนในประเทศเวียดนาม ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและวิจัยพืชเศรษฐกิจหลัก ของประเทศ เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรในการสร้างผลผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พืชศาสตร์ (พืชสวน)
รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้รับราชการด้วยความอุตสาหะ และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ท่านเป็นแบบอย่างของ “ครู” อย่างแท้จริง ได้ทุ่มเทกับการสอนอย่างเต็มความสามารถ โดยยึดหลักว่า “ทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุดเป็นความสุขอย่างยิ่ง เมื่อมีหน้าที่สอน ก็ต้องสอนให้ศิษย์พัฒนาความรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีที่สุด” ด้วยความมุ่งมั่นจึงทำให้ก้าวหน้าในวงวิชาการจนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน ได้สร้างผลงานวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นคุณูปการต่อวงการการเกษตรของประเทศไทย ผลงานที่สร้างชื่อเสียง อาทิ การถ่ายขวดเพาะกล้วยไม้ ตำรากล้วยไม้สำหรับผู้เริ่มเล่น คู่มือครูวิชาชีพไม้ประดับบ้าน และการปลูกกล้วยไม้ในบ้าน งานวิจัยเรื่อง “เทคนิคการผสมพันธุ์กล้วยไม้เพื่อให้ได้กล้วยไม้ลูกผสม” เป็นผลงานที่อำนวยประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ ช่วยร่นระยะเวลาให้ได้ผลเร็วขึ้น อีกทั้งสามารถขยายพันธ์กล้วยไม้ลูกผสมได้เป็นจำนวนมาก
นายกิตติ ดำเนินชาญวณิชย์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การจัดการชุมชน
นายกิตติ ดำเนินชาญวณิชย์ ดำรงตำแหน่งประธานผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) เคยดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และตำแหน่งประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทเกษตรกรรุ่งเรื่องพืชผล จำกัด และดำรงตำแหน่งประธานผู้ก่อตั้งและกรรมการกลุ่มบริษัท สวนกิตติ จำกัด เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไม้ยูคาลิปตัสและงานวิจัยด้านวนวัฒน์วิทยา จัดตั้งบริษัท แอ๊ดวานซ์อะโกร จำกัด ก่อตั้งกิจการส่งเสริมเกษตรกรปลูกสวนไม้เพื่อเชิงพาณิชย์ในภาคตะวันออก จัดตั้งบริษัท๙๙ กรุ๊ป เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายกระดาษ บุกเบิกการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจแบบครบวงจรในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อตั้งกิจการอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ บริษัทมหาชน จำกัด แอ๊ดวานซ์อะโกร และโรงงานอุตสาหกรรมจากไม้ต่อเนื่องในกลุ่มพันธมิตรดับเบิลเอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขยายเป็นเขตอุตสาหกรรม ๓๐๔ อินดัสเตรียลปาร์ค อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี และจัดตั้ง Double A Thailand Print Center เพื่อเป็นศูนย์กลางรับงานพิมพ์ต่างประเทศ และให้การสนับสนุน กองทุนสนับสนุนการวิจัย (ส.ก.ว.) ในการทำ “โครงการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยการปลูกต้นไม้โตเร็ว” หรือ “การส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ รวมทั้ง จัดตั้ง “มูลนิธิดำเนินชาญวนิชย์” เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษา สนับสนุนงานวิจัยพัฒนาการศึกษาอีกด้วย
นายอำนาจ เดชะ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พืชศาสตร์
นายอำนาจ เดชะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management) ตามแนวพระราชดำริ ร่วมปฏิบัติงานวิจัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “การวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในประเทศไทย “เพื่อนำไปทดลองใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ยังเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรสู่สาธารณชน ตระหนักในความสำคัญของการเกษตรซึ่งต้องบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ ทั้งยังมีคุณสมบัติของนักบริหารที่มีความเป็นกัลยาณมิตร สุภาพ อ่อนโยน เห็นความสำคัญของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และส่งเสริมให้ทุกคนทำความดี จากความรู้ความสามารถดังกล่าว ทำให้ได้รับรางวัล “ข้าราชการที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น” ของสำนักพระราชวัง ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ อีกด้วย
นายณรงค์ชัย ศรีสันติแสง ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารจัดการอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์
นายณรงค์ชัย ศรีสันติแสง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส และกรรมการผู้จัดการบริษัทเบทาโกร (กัมพูชา) จำกัด และบริษัทเบทาโกร (ลาว) จำกัด โดยมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสายธุรกิจภูมิภาคและธุรกิจอาหารสัตว์ที่ได้จัดตั้งบริษัทสาขาในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ประชาชนทั้งประเทศได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ภายใต้นโยบายการทำงานของนายณรงค์ชัย ศรีสันติแสง ที่เน้นกระบวนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจเกษตรร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน ในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศพม่าและมาเลเซีย เพื่อขยายการเติบโตทางธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ นายณรงค์ชัย ศรีสันติแสง ยังได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กรรมการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กรรมการสมาคมสุกรไทยเอสพีเอฟ และเคยดำรงตำแหน่งกรรมการและเหรัญญิกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทยและกรรมการวิทยาลัยชุมชน
ต้นน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา ส่งเสริมการเกษตร
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน มีผลงานทางวิชาการด้านการวิจัย ได้แก่ การวิจัยเรื่องการนำป่าสงวนแห่งชาติมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน การวิจัยเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการไทย และการวิจัยเรื่องการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ การเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการและเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และอีกหลายแห่ง จากการที่นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา เป็นกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จึงมีบทบาทในการดำเนินการออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูพัฒนาของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางของประชาชนทั้งประเทศ โดยได้ร่างพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ๒) ปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ และพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นต้น
นายไชย ไชยวรรณ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา บริหารธุรกิจ
นายไชย ไชยวรรณ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัทริมเพ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กรรมการบริหาร บริษัทไทยเอเชีย ปซิฟิก บริวเวอรี่ จำกัด กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท โรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด ซึ่งนายไชย ไชยวรรณ นับว่าเป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นด้านการบริหารธุรกิจ เป็นผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเป็นผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาล
นอกจากการทำงานในหน้าที่ประจำแล้ว ยังดำรงตำแหน่งในหน้าที่พิเศษและมีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นกรรมการมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการโฆษณา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆด้านการจัดการตลาดต่างๆ ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์กรมธรรม์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ข้าราชการและบุคคลด้อยโอกาสในสังคม อาทิ กรมธรรม์ประกันชีวิตทหาร กรมธรรม์พิเศษเพื่อผู้พิการ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิไทยประกันชีวิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยและจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศล อีกด้วย
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา บริหารธุรกิจ
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทตนานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริษัทมีโชคมาร์เก็ตติ้งจำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัทดีเซ็นทริค จำกัด กรรมการผู้จัดการบริษัทธนาจิตร ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัทนิคมพลาซ่า จำกัด และกรรมการ บริษัทโขงวิว จำกัด นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นับว่าเป็นบุคคลที่มีความความสามารถโดดเด่นด้านการบริหารธุรกิจ และมีบทบาทและให้การสนับสนุนงานขององค์กรภาครัฐ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมนักธุรกิจไทย — จีนเชียงใหม่ เป็นประธานมูลนิธิศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาทประจำศาลแขวงเชียงใหม่ เป็นกรรมการคณะกรรมการร่วมหอการค้า ๔ ชาติ (จีน ลาว พม่า ไทย) เป็นที่ปรึกษาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการนโยบายการเงินการคลัง และงบประมาณวุฒิสภา เป็นต้น
ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ว่าที่ร้อยตรีชัชวาลย์ เกตุแก้ว วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา พืชศาสตร์ (พืชสวน)
ว่าที่ร้อยตรีชัชวาลย์ เกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทสยามไทโยฟาร์มจำกัด จังหวัดสมุทรสาคร อีกทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งกรรมการสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย และกรรมการสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย รวมถึงเป็นที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย และอีกหลายแห่ง เป็นผู้นำด้านธุรกิจการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกจนเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ ด้วยการคิดค้นสายพันธุ์กล้วยไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นและเวียดนาม อีกทั้งได้พัฒนารูปแบบทางธุรกิจให้มีความหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ อาทิ การทำการตลาดแบบขายตรง Delivery Orchid Flowers to Japan ร่วมกับสายการบิน Japan Airline การทำตลาดดอกกล้วยไม้เป็นของขวัญ สำหรับนำขึ้นเครื่องบินกลับต่างประเทศ เป็นต้น จนทำให้ฟาร์มกล้วยไม้ไทโย จำกัด ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดสมุทรสาคร
นายจอนิ โอ่โดเชา รัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชน
นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของ บรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน จนเป็นที่ประจักษ์ โดยเริ่มงานอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ควบคู่กับการสร้างกิจกรรมการพัฒนารวบรวมเครือข่ายชาวไทยภูเขา ๑๓ เผ่า ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ได้ดำเนินการบวชป่า ๕๐ ล้านต้น เนื่องในวโรกาสปีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช๒๕๓๙ จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ๑๐๐ องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวาง จำนวน ๔๐ หมู่บ้าน จากการทุ่มเทในการทำงานจึงทำให้ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิได้รับการประกาศจากคณะกรรมการ “คนดีศรีสังคม” ให้เป็น ปราชญ์แห่งขุนเขา อีกทั้งได้รับยกย่องเป็น “บุคคลผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม” ตามคำประกาศของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในด้านงานวิชาการ ได้ทำการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ตามวิถีของบรรพบุรุษจนสามารถรวบรวมและเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์” ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจอันลุ่มลึก และตกผลึกทางความรู้ ด้านป่าไม้ และธรรมชาติ
นายสหพรรณชนก ศรีสวัสดิ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารจัดการอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์
นายสหพรรณชนก ศรีสวัสดิ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล บริษัทคาร์กิลล์ มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด มีความสามารถโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ จนได้รับการยกย่องจากบริษัทคาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานต่างด้าว” เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มส่งเสริมให้มีการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวและกัมพูชา เข้ามาทำงานในบริษัทอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์และวิทยากรพิเศษบรรยายความรู้ด้านการจัดการด้านการผลิต การตลาด การจัดการด้านงานบุคคล การเตรียมตัวก่อนเข้าทำงาน และกฎหมายแรงงาน ให้แก่สถาบันการศึกษา ส่วนราชการ และหน่วยงานเอกชน
ด้วยความรู้ความสามารถคุณูปการทั้งหลายที่มีต่อประเทศชาติและประชาชน สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประสาทปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ 13 ท่านดังกล่าว เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้สืบไป