กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าว “แผนดำเนินงานเพื่อผลักดันโครงการ SMART THAILAND” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความพร้อมของโครงข่ายโทรคมนาคมลดลงเป็นอย่างมาก โดยจากการศึกษาของ World Economic Forum พบว่าอันดับความพร้อมใช้งานโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 อยู่ที่อันดับ 59 ลดลงจากปี พ.ศ. 2549 ที่อยู่ในอันดับ 37 ขณะที่ประเทศ เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามนั้นมีอันดับที่ดีขึ้น ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องพัฒนาด้าน ICT ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน และรูปแบบการ ใช้งาน (Applications) รวมทั้งบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค Digital economy
ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานหลักซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้ดำเนินโครงการ SMART THAILAND ซึ่งเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยสำหรับปี พ.ศ. 2554-2563 หรือ ICT 2020 รวมถึงนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินงานหลักๆ ใน 2 ส่วน คือ 1. SMART NETWORK เป็นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่เน้นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 ในอีก 3 ปีข้างหน้า และร้อยละ 95 ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไปถึง (Reach) ระดับตำบล ครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 87 แต่ยังขาดความพร้อมของอุปกรณ์ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานของประชากรได้ประมาณร้อยละ 33 เท่านั้น และเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ รวมทั้งการวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนของทั้งโครงการประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนในการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพื่อให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปถึงในระดับตำบล และให้มีบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ
พร้อมกันนี้ ยังได้วางเป้าหมายด้านราคาด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้เกิดการใช้สินทรัพย์โครงข่ายร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการเข้ามาลงทุนในส่วน Last mile ต่อจากโครงข่าย SMART NETWORK ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคาดว่าผลของการดำเนินการนี้จะสามารถลดอัตราค่าใช้จ่ายของประชาชนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากประมาณร้อยละ 6 ของรายได้ต่อประชากร เป็นร้อยละ 3 และลดเหลือร้อยละ 1 ของรายได้ต่อประชากร ซึ่งเป็นอัตราที่เทียบเท่ากับของประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับการดำเนินงานในส่วนที่ 2. คือ SMART GOVERNMENT เป็นการส่งเสริมการให้บริการผ่านโครงข่าย SMART NETWORK ซึ่งบริการอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีความสำคัญต่อการกระตุ้นความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สูงถึงประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท (37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)เป็นผู้ดูแลและส่งเสริมการเติบโตของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ในขณะเดียวกันยังจะได้ผลักดันบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของภาครัฐ โดยในขั้นแรกจะเป็นการผลักดันบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนในเขตเมืองและชนบท เช่น โครงการรักษาพยาบาลทางไกล โครงการศึกษาทางไกล
ด้านนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานทั้ง 2 ส่วน ว่า ในส่วนของ SMART NETWORK ได้แบ่งแผนการดำเนินงานออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ การขยายโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการจัดตั้งหน่วยงานบรอดแบนด์แห่งชาติ ในส่วนของการขยายโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะมุ่งเน้นการนำสินทรัพย์โครงข่ายที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นการขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว นำแสงในส่วนของ Backbone และ Backhaul ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นทางผ่านของข้อมูลปริมาณมากและรองรับความเร็ว ได้สูง เพื่อเชื่อมต่อไปยังชุมสายในพื้นที่ระดับตำบลและสถานที่ราชการสำคัญ ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ขณะที่โครงข่ายในส่วนที่จะเชื่อมต่อจากชุมสายไปยังผู้ใช้งาน หรือที่เรียกว่า Last mile นั้น จะให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นเข้ามาลงทุนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ในแต่ละพื้นที่ เช่น การให้บริการด้วยเทคโนโลยี Mobile 3G, 4G/LTE, Wi-Fi หรือ FTTx เป็นต้น
สำหรับแผนการดำเนินการขยายโครงข่าย SMART NETWORK จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2555 — 2558เป็นการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของโครงข่ายที่มีอยู่เดิมให้มีความพร้อมในการรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยไม่ต้องลงทุนลากสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพิ่มเติม ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2559 — 2563 จะเป็นการลงทุนลากสายเคเบิล ใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมไปยังตำบลที่ยังไม่มีโครงข่ายฯ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 95 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยการขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงนี้ จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงข่ายในจังหวัดที่มีความครอบคลุมของโครงข่ายน้อยก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สตูล กระบี่ อุดรธานี ร้อยเอ็ด และขอนแก่น เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีแนวคิดที่จะระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการขยายโครงข่าย SMART NETWORK เช่น การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้การขยายโครงข่ายดำเนินไปได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินงบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนการขยายโครงข่ายบรรลุผลสำเร็จ กระทรวงฯ จะสนับสนุนให้มีการแบ่งแยกบทบาทของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ชัดเจน รวมถึงการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งหรือแต่งตั้งหน่วยงานบรอดแบนด์แห่งชาติ หรือที่ในต่างประเทศเรียกว่า National Broadband Network Company หรือ NBNCo ซึ่งจะเป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่รวบรวมโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายของรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคม ได้แก่ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาบริหารเพื่อให้มีการบริหารและการลงทุนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งแนวทางในการรวบรวมโครงข่ายสามารถดำเนินงานได้หลายแนวทาง เช่น การโอนสินทรัพย์มาร่วมกันแล้วก่อตั้ง NBNCo หรือ การให้ NBNCo เช่า หรือ ซื้อโครงข่าย เป็นต้น
NBNCo จะทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนในโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมโดยเฉพาะการขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ห่างไกล และให้บริการให้เช่าโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในระดับขายส่งให้แก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่สนใจเพื่อนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ในระดับขายปลีกต่อไป ซึ่งโครงข่ายของ NBNCo หรือ โครงข่าย SMART NETWORK นี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทุกรายมาใช้บริการอย่างเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดอัตราค่าบริการขายส่งที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย ในท้องถิ่น เช่น องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) เป็นต้น สามารถมาขอเชื่อมต่อและให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนมอบหมายให้ทำหน้าที่บำรุงรักษาโครงข่ายในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้มีการสร้างอาชีพและพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่ได้
สำหรับการก่อตั้ง NBNCo นั้น กระทรวงฯ มีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการโอนสินทรัพย์โครงข่ายมาร่วมลงทุน หรือผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อนำมาขยายเพิ่มเติม ซึ่งการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนี้จะช่วยให้การบริหารงานและการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีแนวทางและรูปแบบการดำเนินงานของเอกชน อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลเพื่อช่วยกันส่งเสริมให้มีการใช้สินทรัพย์โครงข่ายร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน
ส่วนแผนการดำเนินงาน SMART GOVERNMENT ซึ่งเป็นการส่งเสริมการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้เกิดบริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวก ทั่วถึงและเป็นธรรม แก่ประชาชน รวมถึงเป็นการกระตุ้นประชาชนให้มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น โดยกระทรวงฯ ได้วางแผนที่จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงต่างๆ ในการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐต่างๆ โดยระยะแรกจะเน้นถึงการส่งเสริมให้มีบริการของภาครัฐที่เป็นบริการพื้นฐานหลัก และก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างแก่ประชาชนคนไทย คือ
1. บริการ Smart - Education เป็นการพัฒนาและส่งเสริมการขยายโครงข่ายการให้บริการการศึกษาไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 2. บริการ Smart - Health เป็นโครงการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลทางไกลผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3. บริการ Smart - Government เป็นโครงการเพิ่มช่องทางการให้บริการทะเบียนราษฎร์ออนไลน์ โดยขยายการให้บริการภาครัฐ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4. บริการ Smart - Agriculture เป็นโครงการพัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร โดยให้บริการข้อมูลทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (Kiosk) ตามแหล่งชุมชนของแต่ละตำบล และการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับการเพาะปลูก
นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังมีโครงการ SMART PROVINCE ของจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายจะยกระดับคุณภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐต่างๆ ของจังหวัด โดยให้จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดนำร่องในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนาและประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงจะสามารถนำรูปแบบการดำเนินการไปใช้เป็นแม่แบบเพื่อประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
การดำเนินโครงการ SMART THAILAND ของกระทรวงฯ นี้ จะช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งการใช้งานโดยตรง (Direct access) และการใช้งานโครงข่ายร่วมกัน (Shared facilities) โดยประชาชนสามารถใช้งานโดยตรงผ่านการให้บริการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 3G และ 4G เป็นต้น และโครงการนี้ ยังสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียน และโครงการส่งเสริมการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายในพื้นที่สาธารณะ หรือ Free wi-fi ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกด้วย