กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กรีนพีซ
กรีนพีซจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “ดินแดนในเงาหม่น” ซึ่งสะท้อนผลกระทบ ของอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมาและสถานการณ์ของผู้คนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นจากวิกฤตครั้งนี้ และเป็นคำเตือนว่าอุบัติภัยนิวเคลียร์อันร้ายแรงสามารถเกิดขึ้น ณ ที่ใดก็ได้ที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตั้งอยู่“ดินแดนในเงาหม่น” เป็นผลงานของช่างภาพชั้นนำคือ โรเบิร์ต นอท์ทและนักภาพยนต์สารคดี อังตัวเนต เดอ จอง(1) และเปิดดูได้ที่ http://www.greenpeace.or.th/shadowlands กรีนพีซยังได้ทำการรวบรวมข้อความผ่านโซเชียลมีเดียและเว็บไชต์เพื่อส่งกำลังใจไปให้ชาวญี่ปุ่น
โรเบิร์ต นอท์ท กล่าวว่า อุบัติภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมานั้นมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของผู้คนในบริเวณกว้าง
รอบโรงไฟฟ้า เราทำการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ผ่านการถ่ายภาพภูมิทัศน์และภาพบุคคล รวมทั้งการสัมภาษณ์คนที่มาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พวกเขาไม่สามารถกลับไปที่บ้านได้อีก สิ่งที่เราพบคือความรู้สึกที่ลึกซึ้งของการสูญเสีย
นับตั้งแต่วิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมาเริ่มขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ผู้เชียวชาญด้านรังสีของกรีนพีซทำการสำรวจบันทึกผลกระทบของการปนเปื้อนรังสีต่อสิ่งแวดล้อม อาหารและอาหารทะเล (2) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลของญี่ปุ่นนั้นได้ประเมินและรายงานผลกระทบจากรังสีรอบๆ พื้นที่แถบฟูกูชิมาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
จูนอิชิ ซาโตะ ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า การประเมินอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของรัฐบาลญี่ปุ่นส่งผลให้ความทุกข์ยากของชาวฟูกูชิมามีเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเร่งรีบที่จะเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขึ้นใหม่ซึ่งสวนทางกับความเห็นของประชาชน และมิได้เรียนรู้อะไรจากอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมา เราหวังว่านิทรรศการภาพถ่ายนี้จะช่วยนำไปสู่การหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อสะท้อนถึงผลของการตัดสินใจ
ยาน เบอราเนก หัวหน้าฝ่ายงานรณรงค์ด้านพลังงานของกรีนพีซสากล กล่าวว่า “อุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมาเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลญี่ปุ่น
ล้มเหลวในการปกป้องประชาชน โดยเลือกที่จะเอาใจอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนในประเทศญี่ปุ่นจึงยังต้องได้รับอันตรายจากการสัมผัสรังสีแม้เวลาจะผ่านไปอีกหนึ่งปี พวกเขาไม่ได้รับการชดเชยใดจากการสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น และก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ ที่จำเป็นในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สิ่งเหล่านี้เตือนให้เรานึกถึงคนนับล้านที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ว่าจะที่ใดในโลกซึ่งมีความเสี่ยงจากผลกระทบแบบเดียวกันหากมีอุบัติภัยนิวเคลียร์เกิดขึ้น
ภาพถ่าย “ดินแดนในเงาหม่น” คือภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม เพียงแต่บางอย่างหายไป นั่นคือ ผู้คน ประชาชนจำนวน 150,000 คน ต้องอพยพจากพื้นที่ฟูกูชิมาเนื่องจากการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี
โรเบิร์ต นอท์ท กล่าวว่า ธรรมชาติเข้ามาแทนที่ รุ่งเช้าลิงออกมาหาอาหารในพื้นที่รอบหมู่บ้าน หมูป่าออกเดินกลางทุ่ง นกกระเรียนส่งเสียงร้องกังวานไปทั่ว และก็มีความเงียบ
กรีนพีซ ญี่ปุ่น นำเสนอนิทรรศการภายถ่ายชุดแรกของโรเบิร์ต นอท์ท(3) ความร่วมมือของโรเบิร์ต นอท์ทและอังตัวเนต เดอ จองในผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งการของการทำงานร่วมกับกรีนพีซที่สืบเนื่องมาจากผลกระทบที่ยังดำเนินอยู่ของอุบัติภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่มีผลกระทบต่อชาวยูเครน(4)
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินการเดินเครื่องใหม่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใดในประเทศ และให้มีการลด ละ เลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอันตรายแฝงเร้นอยู่ทั่วโลก
กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ tara.buakamsri@greenpeace.org +66894769977
เกรก แมคเนเวิน แผนกสื่อสาร กรีนพีซ สากล greg.mcnevin@greenpeace.org, +81 80 5416 6507
ยูกิ เซกิโมโตะ แผนกสื่อสาร กรีนพีซ ญี่ปุ่น yuki.seikimoto@greenpeace.org, +81 80 5088 3048
สายด่วนโต๊ะข่าว กรีนพีซสากล อัมสเตอร์ดัม +31 20 7182470
หมายเหตุ:
(1) โรเบิร์ต นอท์ท และนอท์ทและอังตัวเนต เดอ จอง ทำงานร่วมกันหลายโครงการ รวมถึงกิจกรรมครบรอบอุบัติภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล 20 และ 25 ปี ทั้งคู่มีชื่อเสียงในเนเธอร์แลนด์และนานาชาติในหยิบยกมุมมองรายละเอียดที่สวยงามของเรื่อง เช่น ผลกระทบของกากสารพิษ ผลกระทบระดับโลกของการค้าเฮโรอีนในอัฟกานิสถาน และผลที่ตามมาจากรังสี ผลงานของพวกเขาแสดงตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงในลอนดอน อัมสเตอร์ดัม มอสโคว์ และซิดนีย์ และตีพิมพ์ใน New York Times, Der Spiegel, The Guardian and National Geographic ทั้งคู่ได้รับรางวัลที่ World Press, PDN Awards และ the Dutch Silver Camera
(2) ข้อมูลการติดตามตรวจสอบรังสีจากอุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมาของกรีนพีซดูได้ที่: http://bit.ly/gfbhu5
(3) นิทรรศการภาพถ่ายจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ 2555 ในฮาราจูกุ โตเกียว และจัดแสดงในอีก 16 ประเทศทั่วโลก นิทรรศการภาพถ่ายออนไลน์มีอยู่บนเว๊บไซต์ของกรีนพืซใน 11 ประเทศ รวมถึงบนเว็บไซต์ของกรีนพีซสากล
(4) ผลงานภาพถ่ายเชอร์โนบิลของโรเบิร์ต นอท์ท ดูได้ที่
http://bit.ly/xudSDL
http://bit.ly/zNM6xi