กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์
มีคนเคยเปรียบอาชีพ “ครู”ว่าเสมือน “เรือจ้าง” พายเรือส่งลูกศิษย์ให้ไปสู่จุดหมายคือความสำเร็จในชีวิต แต่สำหรับครูหนุ่มคนหนึ่งภาระนี้อาจดูหนักหนายิ่งกว่า เพราะอุปสรรคที่ขวางหน้าคือพื้นที่เวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาของทะเลสาบแม่น้ำปิงเหนือเขื่อนภูมิพลที่กั้นขวาง “ครู” และ “โอกาสการเรียนรู้” ไม่ให้เข้าถึงเด็กๆ
เพราะ ห้องเรียนเรือนแพ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนสุดท้ายที่รถยนต์เข้าถึงได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงด้วยเรือยนต์ ล้อมรอบไปด้วยน้ำและน้ำ โดยมีภูเขาสูงชันเป็นฉากหลัง ที่นี่ไม่มีไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ ในเวลากลางวันมีน้ำ ฟ้า ป่า เขา และฝูงปลาเป็นห้องเรียนทักษะชีวิต ยามตะวันลับมีเดือนกับดาวเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์
เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่ “สามารถ สุทะ” อดีตนักกีฬามวยปล้ำทีมชาติที่ผันตัวเองมาเป็น “ครูมาด” ของเด็กๆ ลูกหลานชาวประมงที่ตั้งรกรากปลูกเรือนแพลอยน้ำประกอบอาชีพอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล เนื่องเพราะการเดินทางที่ยากลำบากและห่างไกลทำให้เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ห้องเรียนแห่งนี้จึงก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537 เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ไปสู่เด็กกลุ่มนี้ แต่เพราะความห่างไกลไร้สิ่งอำนวยความสะดวก ครูหลายคนจึงมาอยู่เพียงไม่นานแล้วก็จากไป จนชาวบ้านหมดหวังที่จะได้ครูมาสอน
“ก่อนที่จะมาที่นี่ผมก็ไม่รู้ว่าโรงเรียนจะเป็นแบบนี้ ไม่คิดว่าจะไกลขนาดนี้ คิดว่าน่าจะเป็นชุมชนเรือนแพเหมือนกับทะเลสาบดอยเต่าที่มีรถเข้าถึง มาดูห้องเรียนครั้งแรกไม่มีอะไรเลย รกมาก นั่งเรือมาชั่วโมงกว่า มาถึงก็ไม่มีครู ไม่มีนักเรียน มีแต่หยากไย่ขึ้นเต็มไปหมด ป้าที่อยู่เรือนแพฝั่งตรงกันข้ามก็บอกว่า ที่นี่ไม่มีครูมา 6-7 เดือนแล้ว ถึงมีครูมาอยู่แค่เดือนสองเดือนแล้วก็ไป”
เป็นความรู้สึกครั้งแรกของ “ครูสามารถ” ว่าที่ “ครูสอนดี” ตามโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เมื่อได้มาเห็นสภาพของห้องเรียนกลางทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่ครูหลายคนผ่านเข้ามาแล้วก็จากไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำใฟ้ครูสอนดีผู้นี้ถอดใจ เมื่อประสบการณ์ในวัยเด็กที่ต้อง “บวช” เพื่อให้ได้ “เรียน” กระตุ้นเตือนใจให้ทำหน้าที่หยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กๆ โดยมี “ความท้าทาย” เหมือนในเกมส์กีฬาเป็นแรงผลักดัน
“พอได้เห็นว่าเด็กขาดโอกาสเพราะไม่มีครูมาสอน ฐานะครอบครัวก็ยากจนมาก ภาพที่เห็นสะท้อนชีวิตของตัวเองในวัยเด็กที่ต้องมาบวชเรียน ผมจึงไม่ได้สนใจว่ามันจะอยู่ไกลขนาดไหน สนใจแค่ว่าเด็กพวกนี้ต้องการคนที่จะมาให้โอกาสพวกเขา เพราะโอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” ครูมาดกล่าว
ห้องเรียนเรือนแพ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนกิน-นอนที่ผู้ปกครองจะนำเด็กมาฝากเข้าเรียนในตอนเช้าวันจันทร์และมารับกลับบ้านในเย็นวันศุกร์ โดยมี “ครูสามารถ” เป็นผู้ดูแลตั้งแต่อาหารการกิน เสื้อผ้า ที่นอน รวมถึงจัดกระบวนการเรียนการสอนชนิดที่เรียกว่าเด็กในเมืองยังต้องอิจฉาเพราะที่นี่สอนกันแบบตัวต่อตัว
“สิ่งที่ถือเป็นแกนหลักในการสอนเด็กที่นี่ก็คือทักษะชีวิต เด็กนักเรียนทุกคนจะต้องทำงานบ้านช่วยเหลือตัวเองทั้งหมด มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ แล้วนำทักษะชีวิตของเด็กมาประกอบในการเรียนวิชาสามัญทั่วไป โดยบูรณาการให้เด็กเรียนรู้ร่วมกับสิ่งที่เห็นและใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นจะจับปลาอย่างไรให้สามารถจับปลาไปได้ชั่วชีวิต คือต้องเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย” ครูมาดกล่าว
นอกจากจะทำหน้าที่เป็น “ครู” สอนหนังสือ และ “พ่อครัว” ทำกับข้าวให้กับเด็กๆ เป็น “ภารโรง” ดูแลความสะอาดเรียบร้อยในตอนกลางวันแล้ว ในตอนกลางคืน “ครูสามารถ” ก็ยังทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ คอยเล่านิทานสอดแทรกข้อคิดคติเตือนใจให้เด็กฟังก่อนนอนทุกวัน
นายสมทัด สมมุติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร เล่าถึงสภาพการเรียนการสอนของห้องเรียนเรือนแพว่า ค่อนข้างยากลำบากต้องกินนอนใช้ชีวิตอยู่กลางน้ำ ชุมชนก็อยู่ห่างไกลจะเดินไปไหนหรือคุยกับใครก็ไม่ได้ หากใจไม่ถึงหรือไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกอย่างก็จบ
“คนอยู่ที่นี่หัวใจต้องมาก่อน ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ต้องรักเด็ก ถ้ามานับวันขีดปฏิทินว่าวันพรุ่งนี้จะลงดอยหรือยังก็จบ แต่พอมาเห็นครูสามารถแล้ว ได้เห็นเขาเอาใจใส่เด็ก แต่ถ้ามาเทียบเรื่องความรู้อาจจะสู้ไม่ได้ แต่ทักษะชีวิตที่นี่สุดยอด เด็กทุกคนหุงข้าวเอง ช่วยครูล้างจาน ช่วยกันทุกอย่าง เห็นแล้วทึ่งในความเป็นครูที่เขามาอยู่ที่นี่ได้ถึง 7 ปี อยากให้ครูทั่วประเทศหลายคนที่อยู่ในโรงเรียนที่กันดารคิดแบบนี้ ทำงานใจต้องให้ก่อน” ผอ.สมทัดระบุ
ด้าน นางสาวสมใจ สังข์คำ ชาวประมงที่ปลูกบ้านอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับห้องเรือนเรือนแพ เล่าให้ฟังว่าใช้ชีวิตอยู่บนเรือนแพมานานกว่า 40 ปี ตลอดระยะเวลาที่มีห้องเรียนเรือนแพเกิดขึ้นเกือบ 20 ปีไม่เคยเห็นว่าจะมีครูคนไหนที่ทุ่มเทกับการเรียนการสอนและอยู่ที่นี่ได้นานเท่ากับครูสามารถ
“ที่ผ่านมาเปลี่ยนครูบ่อยมาก บางปีเปลี่ยนครูถึง 3 คน ส่วนมากก็จะอยู่ไม่นาน ทำให้เด็กๆ ขาดการเรียนไปนานหลายเดือน แต่ครูมาดเขามีความทุ่มเท รักเด็ก มีจิตอาสาจริงๆ ไม่อย่างนั้นเขาก็คงย้ายไปนานแล้ว บางปีที่น้ำลดมากเรือเข้าไม่ถึงต้องเดินเท้าไกลๆ ก็ไม่ท้อ เวลาที่มาสอนก็ซื้อขนมผลไม้ อาหารทะเลมาให้เด็กได้กิน ชาวประมงแทบทุกคนรักครูคนนี้เพราะความดีที่เขาทำ” น.ส.สมใจกล่าว
ห้องเรียนเรือนแพในวันนี้ถึงแม้จะมีเด็กนักเรียนเพียง 5 คน หลายคนอาจจะมองว่าเด็กเหล่านี้ถึงแม้จะเรียนไปอย่างไรสุดท้ายก็คงออกไปช่วยพ่อแม่ทำประมง แต่สำหรับ “ครูสามารถ” แล้ว แม้ในบางปีจะมีเด็กนักเรียนเพียง 2 คนก็ยังทุ่มเทอุทิศจัดการเรียนการสอนเพียงเพราะคำว่า “โอกาส”
“ถ้าไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสนี้ให้เด็กเลย เด็กกลุ่มนี้ก็คงจะไปเป็นชาวประมงเหมือนเดิม แต่ถ้ามีคนหยิบยื่นโอกาสมาให้ ตรงนั้นก็อาจจะเป็นการจุดประกายให้เด็กสู้ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตก็ได้ เพราะพื้นฐานของผมมาจากการที่มีคนให้โอกาสได้เรียนหนังสือ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากจะให้โอกาสกับคนอื่น จึงอยากจะเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนแล้วก็ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น”
โดยสิ่งที่ “ครูสามารถ” คาดหวังกับลูกศิษย์อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับครูอีกหลายๆ คนในเมืองใหญ่ เพราะหวังเพียงแค่การให้เด็กๆ กลุ่มนี้เติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม
“ผมอยากให้เด็กกลุ่มนี้ แค่เป็นคนดีของสังคม ปรับตัวเข้ากับสังคมในโลกปัจจุบันให้ได้ และเป็นเด็กที่ดีของพ่อแม่ก็พอแล้ว แต่ถ้าทุกวันและในอนาคตของเขาได้รับการศึกษาที่ดีและสูงขึ้น ผมมั่นใจว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนได้” ครูสามารถสรุป