กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--บีโอไอ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมบีโอไอ และหน่วยงานภาครัฐ ประชุมหารือกับหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย หวังสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน หอการค้าต่างประเทศเสนอภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างแรงงานระดับช่างเทคนิค และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการประชุมหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand : JFCCT) จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่ดีของประเทศไทย ด้วยการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหอการค้าต่างประเทศ และตอบข้อซักถามของนักลงทุนโดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ บีโอไอ กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมสรรพากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการกงสุล และกรมศุลกากร
นอกจากนี้ การประชุมหารือในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสให้ชี้แจงถึงนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะทำให้ฐานภาษีของไทยปรับลดลงมาเทียบเท่าประเทศอื่นในภูมิภาค และความคืบหน้าในการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้รับฟังปัญหาและอุปสรรคของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและสอดคล้องกับการดำเนินงานของภาครัฐ
“การหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อนำปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปปรับปรุงแก้ไข เป็นบรรยากาศที่ดีของประเทศในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้ประกอบการต่างชาติครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้อย่างแท้จริงต่อไป” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าว
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอ จะได้รวบรวมปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจในไทยที่ได้จากการหารือร่วมกันครั้งนี้ นำไปพิจารณาปรับปรุง หรือนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขต่อไป โดยประเด็นคำถามจากหอการค้าต่างประเทศในไทย อาทิ การขาดแคลนแรงงาน การพัฒนาฝีมือแรงงานและการเร่งสร้างแรงงานระดับช่างเทคนิค การพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ ในพื้นที่ Eastern Seaboard เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามบีโอไอ ได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงมาตรการต่างๆ ของบีโอไอ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงสิทธิเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของกิจการบางประเภทเพื่อรองรับความต้องการของ ผู้ประกอบการอย่างแท้จริง
สำหรับทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือน มกราคม 2555 นี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยมีนักลงทุนต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาแล้ว 80 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 25,027 ล้านบาท จำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 67 โครงการ ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 15,300 ล้านบาท
กิจการที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจยื่นขอส่งเสริม ส่วนใหญ่อยู่ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และกิจการบริการและสาธารณูปโภค โดยกลุ่มที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ยังคงเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น รองลงมาเป็นนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ตามลำดับ