กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กระทรวงพลังงาน
ด้วย ก.พ.ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อ บรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ ๓ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๔.๒/๔๕๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๕ ของหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๘.๔/ว ๑๕ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๕ เรื่อง หลักสูตร วิธีการสอบแข่งขันและวิธี ดำเนินการ เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน เกณฑ์การตัดสิน การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งอื่นและการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๐๗๐๘.๔/ว ๑๐ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันฯ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน ดังต่อไปนี้
๑. ตำแหน่งที่จะบรรจุและแต่งตั้ง และเงินเดือนที่จะได้รับ
๑.๑ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ ๓ ส่วนคลังและพัสดุ สำนักบริหารงานกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน จำนวน ๑ อัตรา
๑.๒ อัตราเงินเดือน ๖,๓๖๐ บาท
๒. คุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของผู้มีสิทธิสมัครสอบ
๒.๑ ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามเอกสารหมายเลข ๑
๒.๒ ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งดังนี้
ได้รับวุฒิปริญญาตรีทางบริหารธุรกิจ
สำหรับพระภิกษุหรือสามเณรทางราชการไม่รับสมัครสอบและไม่อาจให้เข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารที่ นว ๘๙/๒๕๐๑ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๑ และตามความในข้อ ๕ ของคำสั่งมหาเถรสมาคม ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๘
๓. การรับสมัครสอบ
๓.๑ วัน เวลา และสถานที่รับสมัครสอบ
ให้ผู้ประสงค์จะสมัครสอบขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่ ส่วนบริหารงานบุคคล สำนักบริหารงานกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน อาคาร ๔ ชั้น ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน - ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ในวันราชการ ภาคเช้าเวลา ๐๘.๓๐ น.- เวลา ๑๒.๐๐ น ภาคบ่ายเวลา ๑๓.๐๐ น. - เวลา ๑๖.๓๐ น.
๒/๓.๒ ค่าธรรมเนียมสอบ
๓.๒ ค่าธรรมเนียมสอบ
ผู้สมัครสอบต้องเสียค่าธรรมเนียมสอบ จำนวน ๑๐๐ บาท เมื่อสมัครสอบแล้ว ค่าธรรมเนียม สอบจะไม่จ่ายคืนให้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง แต่ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการ ขอคืนก่อนวันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสอบแข่งขัน
๓.๓ หลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมใบสมัครสอบ
(๑) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด ๑ x ๑.๕ นิ้ว ถ่ายครั้งเดียวกันไม่เกิน ๑ ปี (นับถึงวันปิดรับสมัคร) จำนวน ๓ รูป
(๒) สำเนาใบปริญญาบัตร หรือใบระเบียนการแสดงผลการเรียน ที่แสดงว่าเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาตรงกับตำแหน่งที่สมัครสอบ ทั้งนี้ ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรขั้นปริญญาบัตรของสถานศึกษาใดนั้นก็จะถือตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบเกี่ยวกับการศึกษาตามหลักสูตรของสถานศึกษานั้น ๆ เป็นเกณฑ์ โดยจะต้องสำเร็จการศึกษา และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติ ภายในวันปิดรับสมัครสอบ
(๓) สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการ หรือทะเบียนบ้าน อย่างใดอย่างหนึ่ง
(๔) หนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ อนุญาตให้สมัครสอบแข่งขันได้ ในกรณีที่ผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และประสงค์จะสมัครสอบแข่งขันในตำแหน่งที่มีระดับไม่สูงกว่าตำแหน่งที่ผู้สมัครสอบดำรงอยู่ และใช้คุณวุฒิเช่นเดียวกันกับตำแหน่งที่ผู้สมัครสอบดำรงอยู่
(๕) สำเนาหนังสือรับรองผลการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ระดับปริญญาตรีของ ก.พ. จำนวน ๑ ฉบับ (ถ้ามี) ผู้ไม่มีหนังสือรับรองให้ยื่นซองจดหมายขนาด ๑๑ X ๒๒ ซม. จ่าหน้าซองถึงตนเองโดยระบุเลขประจำตัวสอบ และติดแสตมป์ดวงละ ๓ บาท ๑ ดวง
(๖) หลักฐานอื่นๆ เช่นใบเปลี่ยนชื่อ - สกุล หลักฐานทุกฉบับให้รับรอง "สำเนาถูกต้อง" และลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกแผ่น
๓.๔ เงื่อนไขในการรับสมัครสอบ
ผู้สมัครสอบจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่สมัครสอบตรงตามประกาศรับสมัครสอบจริง และจะต้องกรอกรายละเอียดต่างๆในใบสมัคร พร้อมทั้งยื่นหลักฐานในการสมัครสอบให้ถูกต้องครบถ้วน ในกรณีที่มีการผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครสอบ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน อาจไม่รับสมัครสอบ
๔. การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสอบแข่งขัน
สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสอบแข่งขันในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ณ สถานที่รับสมัคร และทางเว็บไซด์ http://www.energy.go.th
๕. หลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขัน ตามเอกสารหมายเลข ๒
๓/๖. กำหนดวัน…
๖. กำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน
๖.๑ กำหนดวัน เวลา และสถานที่สอบ ตามเอกสารหมายเลข ๓
ทั้งนี้ การสอบแข่งขันจะกำหนดให้ผู้สมัครสอบ สอบภาคความรู้ความสามารถ ทั่วไปและภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งก่อน แล้วจึงให้ผู้สอบได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง
๖.๒ ระเบียบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ตามเอกสารหมายเลข ๔
๗. เกณฑ์การตัดสิน
ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้ จะต้องเป็นผู้ที่สอบได้คะแนนในแต่ละภาคตามหลักสูตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐
๘. วันประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ จะประกาศในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗
๙. การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
ก. ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ จะใช้คะแนนรวมภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) โดยเรียงลำดับจากผู้ที่สอบได้คะแนนรวมภาค ข. และภาค ค. สูงลงมาตามลำดับ ในกรณีที่มีผู้สอบได้คะแนนรวมเท่ากัน จะพิจารณาดังนี้
ข. ให้ผู้สอบได้คะแนนภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค. ) มากกว่าเป็นผู้อยู่ในลำดับที่สูงกว่า ถ้ายังได้คะแนนเท่ากัน ให้ผู้ได้รับเลขประจำตัวสอบก่อนเป็นผู้อยู่ในลำดับที่สูงกว่า
การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ จะขึ้นบัญชีไว้เป็นเวลา ๒ ปี นับตั้งแต่วันขึ้นบัญชี แต่ถ้ามีการสอบแข่งขันอย่างเดียวกันนี้ และได้ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ใหม่แล้ว บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ครั้งนี้เป็นอันยกเลิก
๑๐. การบรรจุและแต่งตั้ง
ผู้สอบแข่งขันได้จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิที่กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้นตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑ ในอัตราที่ ก.พ. กำหนดในกรณีที่มีตำแหน่งว่างในส่วนราชการอื่น บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ก็จะใช้บรรจุในส่วน ราชการอื่นได้ด้วย
ประกาศ ณ วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗
เอกสารหมายเลข ๑
คุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี
(๓) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(๔) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
(๕) ไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามรถหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
(๖) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(๗) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(๘) ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๙) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๑๐) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๑๑) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(๑๒) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น
(๑๓) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะการกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือตามกฎหมายอื่น
(๑๔) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ
ผู้ที่ขาดคุณสมบัติตาม (๗) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) หรือ (๑๔) จะมีสิทธิสมัครสอบต่อเมื่อได้รับการยกเว้นจาก ก.พ. แล้ว สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติตาม (๔) มีสิทธิสอบแข่งขันได้ต่อเมื่อพ้นจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองแล้ว
เอกสารหมายเลข ๒
หลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ
ก. ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป
ให้ทดสอบความรู้ความสามารถดังต่อไปนี้โดยวิธีสอบข้อเขียน โดยคำนึงถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการของตำแหน่ง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง คะแนนเต็ม ๒๐๐ คะแนน
๑. วิชาความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล
ให้ทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้สรุปความหรือจับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว หรือให้วิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมืองเศรษฐกิจหรือสังคม หรือให้หาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูล หรือสมมติฐานหรือให้การศึกษาวิเคราะห์และสรุปเหตุผลโดยการอย่างอื่น ซึ่งเหมาะสมแก่การทดสอบความสามารถดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างก็ได้ กำหนดคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน
๒. วิชาภาษาไทย
ให้ทดสอบความรู้และความสามารถในการใช้ภาษา โดยการให้สรุปความและหรือตีความจากข้อความสั้นๆหรือบทความ และให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆ จากคำหรือกลุ่มคำประโยค หรือข้อความสั้นๆ หรือให้ทดสอบโดยการอย่างอื่นที่เหมาะสมกับการทดสอบความรู้ความสามารถดังกล่าว กำหนดคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน
ข. ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (คะแนนเต็ม ๒๐๐ คะแนน) ทดสอบความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้ โดยวิธีสอบข้อเขียน
๑. วิชาพัสดุ (๑๐๐ คะแนน)
การซื้อ การจ้าง การควบคุมและการจำหน่ายพัสดุ ครุภัณฑ์ ตามระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม การบริหารงานพัสดุ ครุภัณฑ์ ตามระเบียบของทางราชการ และระเบียบการจัดซื้อจัดหาคอมพิวเตอร์ของรัฐ
๒. วิชาคอมพิวเตอร์ (๕๐ คะแนน)
แนวทางการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์กับการพัสดุ (การใช้ Microsoft Office , Applications และเทคโนโลยีระบบ Internet ด้านการพัสดุ)
๓. วิชาภาษาอังกฤษ (๕๐ คะแนน)
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ
ค. ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน)
ให้ประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และพฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบ และจากการสัมภาษณ์ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมอีกก็ได้ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ที่อาจให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ความรู้ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ความสามารถ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ จรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน คุณธรรม จริยธรรม การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบ และบุคลิกภาพอย่างอื่น เป็นต้นเอกสารหมายเลข ๓
กำหนดวัน เวลา สถานที่สอบข้อเขียน - สัมภาษณ์
๑. ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป
วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๑.๓๐ น.
๒. ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น.
สถานที่สอบข้อเขียน จะประกาศให้ทราบในวันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแข่งขัน
วันประกาศผลการสอบข้อเขียน ภายในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗
๓. ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง
( สำหรับรายละเอียดจะประกาศให้ทราบในวันประกาศผลการสอบข้อเขียน)
วันสอบสัมภาษณ์ วันที่ ๒๒ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗
สถานที่สอบสัมภาษณ์ จะประกาศให้ทราบในวันประกาศผลสอบข้อเขียน
วันประกาศผลการสอบแข่งขัน ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗
เอกสารและหลักฐานที่จะต้องนำมายื่นในวันสอบสัมภาษณ์
(๑) สำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตร หรือบัตรประจำตัวประชาชน อย่างใดอย่างหนึ่ง
(๒) ใบรับรองแพทย์ แสดงว่าไม่เป็นโรคที่ต้องห้าม ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๒๖) และปรับปรุงแบบใบรับรองแพทย์โดยหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๐๗๐๓/๑๓๓๕ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๓
(๓) สำเนาเอกสารสำคัญทางทหาร
(๔) สำเนาภาพถ่ายหลักฐานอื่นๆ เช่น ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
เอกสารหมายเลข ๔
ระเบียบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน
๑. การสอบแข่งขัน จะใช้วิธีสอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์ ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและวิธีการสอบ ทั้งนี้ ให้ผู้สอบปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และวิธีการสอบของแต่ละวิชา
๒. ให้ผู้เข้าสอบปฏิบัติตามระเบียบ ดังนี้
๒.๑ แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามประเพณีนิยม และประพฤติตนเป็นสุภาพชน
๒.๒ เป็นหน้าที่ของผู้เข้าสอบที่จะต้องทราบวัน เวลา สถานที่สอบ และห้องสอบ
๒.๓ ต้องนำบัตรประจำตัวสอบและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ไปในวันสอบทุกครั้ง เพื่อให้แสดงคู่กัน หากไม่มีบัตรใดบัตรหนึ่งในการสอบวิชาใด กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่คุมสอบอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้เข้าสอบวิชานั้นได้
๒.๔ การสอบข้อเขียน
๒.๔.๑ ควรไปถึงสถานที่สอบก่อนเริ่มเวลาสอบไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที
๒.๔.๒ ผู้เข้าสอบที่ไปถึงห้องสอบหลังจากเวลาที่กำหนดเริ่มสอบไปแล้ว ๓๐ นาที จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบ
๒.๔.๓ ผู้เข้าสอบจะต้องนั่งสอบตามที่คณะกรรมการดำเนินการสอบฯ กำหนดให้ ผู้ใดนั่งสอบผิดที่หรือผิดห้องสอบในวิชาใดจะไม่ได้รับการตรวจให้คะแนนสำหรับวิชานั้น
๒.๔.๔ ต้องจัดหาเครื่องเขียน เช่น ปากกา ยางลบ ไปเอง นอกนั้นจะต้องใช้กระดาษและอุปกรณ์ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานจัดไว้ให้โดยเฉพาะ
๒.๔.๕ ไม่นำตรา หนังสือ บันทึกข้อความ หรือ วัสดุอุปกรณ์อื่นใดเข้าไปในห้องสอบ
๒.๔.๖ เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่คุมสอบ โดยเคร่งครัด
๒.๔.๗ ภายในเวลา ๔๕ นาที นับแต่เวลาที่กำหนดเริ่มสอบ จะออกจากห้องสอบไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบ
๒.๔.๘ เขียนเลขประจำตัวสอบแทนที่ชื่อในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการตอบข้อสอบ และให้เขียนเลขประจำตัวสอบเฉพาะในที่ที่กำหนดให้เท่านั้น ห้ามเขียนชื่อลงบนกระดาษคำตอบ โดยเด็ดขาด
๒.๔.๙ เมื่ออยู่ในห้องสอบขณะสอบไม่พูดหรือติดต่อผู้เข้าสอบอื่นหรือบุคคลภายนอกและไม่ออกจากห้องสอบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและอยู่ในความดูแลของกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่คุมสอบ
๒.๔.๑๐ ไม่สูบบุหรี่ในห้องสอบ
๒.๔.๑๑ ถ้าสอบเสร็จก่อนหมดเวลา เมื่อส่งคำตอบวิชานั้นแล้ว ต้องได้รับอนุญาตจากกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบก่อน จึงออกจากห้องสอบได้
๒.๔.๑๒ แบบทดสอบ กระดาษคำตอบ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการสอบ จะนำออกจากห้องสอบได้ก็เฉพาะที่กรรมการออกข้อสอบประจำวิชา หรือเจ้าหน้าที่คุมสอบอนุญาตเท่านั้น
๒.๔.๑๓ เมื่อหมดเวลา และกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบสั่งให้หยุดทำคำตอบจะต้องหยุดทันที และจะออกจากห้องสอบได้ต่อเมื่อกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบได้อนุญาตแล้ว
๒.๔.๑๔ เมื่อออกจากห้องสอบไปแล้ว ต้องไม่ทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนแก่ผู้ที่ยังสอบอยู่
๒.๕ ห้ามนำเครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเข้าไปในห้องสอบ
๒.๖ การสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง
๒.๖.๑ ไปถึงสถานที่สอบตามเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ใดไปถึงสถานที่สอบภายหลังจากการดำเนินการสอบไปแล้ว กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบอาจพิจารณาไม่ให้เข้าสอบก็ได้
๒.๖.๒ ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบโดยเคร่งครัด
๒.๖.๓ ต้องเข้าสอบกับกรรมการตามที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบกำหนดให้เท่านั้น
๒.๖.๔ เมื่อสอบเสร็จแล้ว ต้องไปจากสถานที่สอบโดยพลัน ห้ามติดต่อกับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสอบ และต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนแก่ผู้ที่ยังสอบอยู่
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบและวิธีการสอบนี้ หรือผู้ใดทุจริต หรือพยายามทุจริต อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบและคณะกรรมการดำเนินการสอบคัดเลือกจะพิจารณาสั่งงดการให้คะแนนเฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่งหรือทุกวิชาก็ได้--จบ--
-นท-