นักวิทย์น้อยโชว์ โชว์โครงงานเด่น 54 ผลงาน ในเวทีการประชุมวิชาการ พสวท. ระดับ ม. ปลาย

ข่าวทั่วไป Friday February 24, 2012 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สสวท. เมื่อ 28 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการ พสวท. ขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ. 2527 เพื่อดำเนินงานขับเคลื่อนการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสูง ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้บรรลุเจตนารมณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้โครงการพสวท.ได้พัฒนาและส่งเสริมนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างมีระบบและต่อเนื่อง โดยการให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุด และยังส่งเสริมสนับสนุนให้บัณฑิตพสวท.ออกไปปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งให้บัณฑิตพสวท.รุ่นพี่ได้มาช่วยพัฒนานักเรียนรุ่นน้องต่อไป การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ของนักเรียนทุนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดขึ้นทุกปีเพื่อเผยแพร่ผลงานทางด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 26 แล้ว โดยมีศูนย์ พสวท. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ พสวท. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โดยกิจกรรมปีนี้คึกคัก มีผลงานมากกว่า 54 ผลงาน ได้รับความสนใจไม่ขาดสาย จุดเด่นของงานนี้คือการเผยแพร่ผลงาน และนำเสนอโครงการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมหรือเรื่องราวที่แต่ละคนสนใจ เพื่อแชร์ไอเดีย แนวคิดและวิธีการค้นหาคำตอบด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้กับนักเรียนรุ่นน้อง ก่อนที่เขาและเธอเหล่านั้นจะก้าวอีกขั้นสู่การเป็นนิสิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายในโครงการฯ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีว่า งานนี้เป็นกิจกรรมเสริมพิเศษอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการเรียนรู้ตามหลักสูตรปกติและหลักสูตรโปรแกรมเสริมของทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้แสดงความรู้ความสามารถและทักษะทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการเผยแพร่โครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ได้ศึกษาค้นคว้ามา อีกทั้งจะเอื้ออำนวยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้มีโอกาสเรียนรู้ ก่อให้เกิดแนวความคิด สำหรับเป็นแนวทางในการทำโครงงานและการเผยแพร่ผลงานในปีต่อไป ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะผู้บริหารโรงเรียน ครูที่ปรึกษา และนักเรียนในโครงการพสวท.ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 จากศูนย์โรงเรียนต่างๆ รวมทั้งคณะอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้นกว่า 195 คน และนับเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรกในฐานะผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ใหม่ จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก ศูนย์โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา ศูนย์โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย การประชุมวิชาการฯ ในปีนี้ ค่อนข้างคึกคัก มีผลงานของนักเรียน พสวท. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์โรงเรียนโครงการ พสวท. ทั้ง 7 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ศูนย์โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กรุงเทพฯ ศูนย์โรงเรียนศรีบุณยานนท์ จ.นนทบุรี ศูนย์โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม ศูนย์โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ศูนย์โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น ศูนย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา มาจัดแสดงถึง 54 ผลงาน ในสาขาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ อาทิ โครงงานเรื่องการสร้างเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงโดยใช้สารสกัดจากดอกคำฝอย การประยุกต์ระบบพีชคณิตบูลีนในวงจรสวิตช์ อิทธิผลของคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound) ที่มีผลต่อเมล็ดผักบุ้ง เมล็ดถั่วเขียวและเมล็ดข้าว ประเมินและวิเคราะห์ความเร็วลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในพื้นที่บริเวณศูนย์วิจัยยาง อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา การศึกษาการกระจายตัวของตะกอนชายหาดบริเวณบ้านโคกตาหอม อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การศึกษาแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย การศึกษาประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนักของวัสดุเหลือทิ้งจากผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ดร. ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประธานในพิธีเปิด และมอบโล่แก่ครูในโครงการ พสวท. ซึ่งทำคุณประโยชน์แก่โครงการและเกษียณอายุราชการ กล่าวว่า “การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ประเทศต้องการผู้ที่มีความสามารถพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความจำเป็นในการเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านดังกล่าว เพื่อให้เป็นผู้นำสังคมในการพัฒนาประเทศชาติ แต่สิ่งที่สำคัญในการปลูกฝังทัศนคติ ทักษะการเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและใช้กระบวนการอย่างมีขั้นตอน มีหลักการที่ถูกต้อง และต้องวางรากฐานที่ดีตั้งแต่เด็ก ดังนั้นโครงการ พสวท. จึงนับเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมเสริมพิเศษ เพื่อให้เยาวชนมีประสบการณ์ตรงในการทำผลงานวิชาการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเตรียมความพร้อมในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีคุณภาพในอนาคต” ไฮไลต์ของการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ คือ การนำเสนอโครงงานของนักเรียน พสวท. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยผลงานที่นำเสนอ ประกอบด้วย โครงงานวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาคณิตศาสตร์ และสาขาชีววิทยา และเนื่องจากโครงงานที่นำเสนอมีมากถึง 54 ผลงาน ดังนั้นผลงานบางส่วนจึงต้องนำเสนอต่อเนื่องในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ก่อนจะมีพิธีปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 26 ประจำปี 2554 ลงอย่างเป็นทางการ พร้อมกับประสบการณ์ที่เด็กๆ สามารถเก็บเกี่ยว และนำไปประยุกต์ต่อยอด ทำผลงาน เพื่อจะกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้นำเสนอผลงานในปีหน้า และปีต่อๆ ไป นางสาวศศิณา เอื้อชูจิตต์ ชั้น ม. 6 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เจ้าของโครงงานการทดสอบความสามารถของสารสกัดจากมะละกอดิบต่อการยับยั้งการสะสมไขมันในเซลล์และการต้านอนุมูลอิสระ เล่าว่า ตนเองได้ทำโครงงานนี้ขึ้นเพื่อนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติซึ่งหาได้ง่ายอย่างมะละกอดิบ มาทดสอบเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผ๔ป่วยด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและผู้ต้องการรักษาด้วยวิธีการทางธรรมชาติ พบว่า สารสกัดมะละกอดิบสามารถยับยั้งการสะสมไขมันในเซลล์ได้ นางสาวนิภาภรณ์ นาครอง ชั้น ม. 6 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เจ้าของโครงงานการศึกษาแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย กล่าวว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ ทำให้คิดสิ่งใหม่ๆ ได้ หรือแก้ไขปัญหาเก่า ๆ ให้ชีวิตดีขึ้น เป้าหมายในอนาคตอยากเป็นนักธรณีวิทยา หรือนักคณิตศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง นางสาวณัทศศิร์อร ศรีอิโอวารา ชั้น ม. 6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เจ้าของผลงานการศึกษาคุณภาพทางจุลชีววิทยาของน้ำศักดิ์สิทธิ์จากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงานนี้นอกจากจะทำให้รู้ว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถดื่มได้หรือไม่แล้ว จะเป็นการเตืนให้รู้จักระมัดระวังในการดื่มหรือรับประทานสิ่งต่าง ๆ นอกจากนี้อาจช่วยคาดคะเนสภาพแวดล้อมบริเวณน้ำศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นอย่างไร ในน้ำใส ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร ที่จริงยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาศัยอยู่โดยที่ตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้เลย “การเข้าร่วมเป็นนักเรียนทุน พสวท. ทำให้ได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกงาน การเข้าค่ายที่ได้พบปะกับนักเรียนทุน พสวท. ด้วยกัน ทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ และประทับใจกับทุกประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นนักเรียนทุน พสวท. ภูมิใจกับผลงานต่างๆ ที่ได้ทำ เช่น สิ่งประดิษฐ์ในค่าย พสวท. และโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำอย่างตั้งใจและพยายามเต็มที่แล้ว” กิจกรรมนี้จึงนับเป็นหนึ่งในกิจกรรมดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดแนวความคิดใหม่ๆ ให้กับนักเรียนทุน พสวท. รุ่นหลังที่จะดำเนินรอยตามรุ่นพี่ในการสร้างสรรค์ผลงานการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์อันทรงคุณค่ามาประดับวงการวิทยาศาสตร์ไทยในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ