กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ทีดีอาร์ไอ
นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุมวิชาการทีดีอาร์ไอ “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญระบุว่า
ขณะที่เด็กไทยใช้เวลาเรียนหนังสือมากขึ้นผลการสอบกลับแย่ลง จนก่อให้เกิดคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น มีโรงเรียนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยที่มีวิธีการเรียนการสอนไม่เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป แต่นักเรียนมีผลการเรียนที่น่าประทับใจ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เด็กนักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างสมดุลและหลากหลายผ่านประสบการณ์จริง โรงเรียนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “โรงเรียนทางเลือก” (alternative school)
โรงเรียนทางเลือกเป็นอย่างไร? โรงเรียนทางเลือกในประเทศไทยมีสถานภาพดังเช่นโรงเรียนทั่วไปที่จัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมปลายและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ แต่องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนทางเลือกแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปก็คือ นวัตกรรมการเรียนการสอน (Innovation)
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือก 14 โรงเรียนของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกประกอบไปด้วยฐานคิดและปรัชญา วิธีการเรียนการสอน และทรัพยากรสำคัญในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนทั่วไป
นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกก่อรูปบนฐานคิดและปรัชญาการศึกษาสำนักต่างๆ เช่น มอนเตสซอริ (Montessori) วอลดอล์ฟ (Waldorf) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) และแนวคิดศรีสัตยาไสบาบา เป็นต้น แต่ละปรัชญาการศึกษาเหล่านี้อาจมีจุดเน้นและเนื้อหากระบวนการแตกต่างกัน แต่จุดร่วมประการหนึ่งก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์มีความหลากหลาย การศึกษาเรียนรู้จึงต้องมีความหลากหลายและยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามไปด้วย ความหลากหลายของการศึกษาดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนทางเลือกสามารถทดลองและผลิตวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
รูปธรรมของการนำปรัชญาการศึกษาดังกล่าวมาปรับใช้แตกต่างจากสาระและรูปแบบการเรียนการสอนที่คุ้นเคยในโรงเรียนทั่วไป จากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาพบว่า ในด้านสาระการเรียนรู้ โรงเรียนทางเลือกจัดสาระที่ไม่ยึดติดกับกลุ่มสาระวิชาหลัก 8 กลุ่ม เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น แต่พยายามบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันและเน้นการประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง ตัวอย่างหนึ่งของการจัดสาระการเรียนรู้ก็คือ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นเรียนฟิสิกส์จากการทำบ้านดินหรือเรียนรู้เรื่องค่า pH จากการผสมสีเพื่อวาดรูป ในด้านวิธีการเรียนการสอน โรงเรียนทางเลือกเน้นให้นักเรียนเรียนนอกสถานที่และทำงานร่วมกับเพื่อนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การบรรยายในห้องเรียนโดยนำวิชาต่างๆ แบบบูรณาการ การเรียนจากโครงงาน (project) และนักเรียนค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อประเมินผลนักเรียน โรงเรียนทางเลือกเน้นการประเมินพัฒนาการการเรียนรู้โดยครูเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ การวัดผลจากโครงงานหรือชิ้นงานที่นักเรียนสนใจและการสอบอัตนัย โดยเน้นการสอบปรนัยน้อยที่สุด
การจัดการเรียนการสอนในลักษณะพิเศษข้างต้นทำให้โรงเรียนทางเลือกจำเป็นต้องมีทรัพยากรพื้นฐานสำคัญมากกว่าโรงเรียนทั่วไปเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปตามปรัชญาการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาพบว่า โรงเรียนทางเลือกมีห้องเรียนขนาดปานกลางถึงเล็กและใช้ครูจำนวนมากกว่าในการดูแลนักเรียน รวมทั้งเน้นครูที่มีวุฒิการศึกษาระดับสูงมากกว่าโรงเรียนทั่วไป (ดูภาพประกอบ)
ที่มา: ทีดีอาร์ไอ
ตัวอย่างการจัดสาระและกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง นั่นคือ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) ซึ่งจัดสอนเฉพาะชั้นมัธยมปลาย ภายใต้ปรัชญาการศึกษาบูรณาการแบบองค์รวม (holistic integration) นักเรียนที่นี่ไม่ได้เรียนในรูปแบบ 8 กลุ่มสาระวิชาหลักโดยตรง แต่บูรณาการไว้ใน 6 วิชาหลักได้แก่ วิวัฒนาการของระบบจักรวาลและระบบสุริยะ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โลกของเรา พลังงาน คมนาคมและการสื่อสาร และที่อยู่อาศัย วิธีการเรียนรู้วิชาดังกล่าวคือ การผูกโยงและความเข้าใจเกี่ยวเนื่องระหว่างศาสตร์ต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง (story-based learning) และการลงมือทำ (learning by doing) ยกตัวอย่างเช่น ในภาคการศึกษาที่ 2/2552 การเรียนการสอนจะใช้ข้าวและเรือเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักในผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์อินเดีย จีน และสุวรรณภูมิ โดยเริ่มต้นที่การปฏิวัติเกษตรกรรมคือ ปลูกข้าว และเชื่อมโยงต่อไปถึงการตั้งรกรากของมนุษย์ การชลประทาน การสร้างชาติรัฐ และการค้าขายผ่านเรือ นักเรียนจะเรียนผ่านการค้นคว้าด้วยตนเอง การค้นคว้าและตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น วิทยากรจากกองทัพเรือ รวมทั้งการลงแรงเกี่ยวข้าว การเลี้ยงผึ้ง และการปั้นโอ่งด้วยตนเอง
ที่น่าสนใจก็คือ ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาจะพบว่า คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนทางเลือกสูงกว่าโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน (ข้อมูลปี 2553) ยิ่งเปรียบเทียบกับโรงเรียนทางเลือกเช่น โรงเรียนอมาตยกุลที่ใช้วิธีการจับฉลากนักเรียนเข้ามาแทนการสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเก่งเข้ามา คะแนนสอบยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศ
แม้ว่าในด้านหนึ่ง วิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกยังคงเป็นกระบวนการทดลองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง โรงเรียนทางเลือกได้เปิดความคิดว่า การศึกษาอาจไม่ใช่กระบวนผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันจากโรงงาน ผลการสอบอาจช่วยบ่งชี้ว่า โรงเรียนทางเลือกก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กตามมาตรฐานกลางได้ แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาในโรงเรียนทางเลือก
โจทย์หนึ่งที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยก็คือ เราจะเพิ่มจำนวนนักเรียนที่ผ่านโรงเรียนทางเลือก เพิ่มการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา และขยายผลจากโรงเรียนทางเลือกไปสู่โรงเรียนทั่วได้อย่างไร?