กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “คุณภาพการศึกษาก่อนการปฏิรูปและหลังการปฏิรูปการศึกษา” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อให้การศึกษาเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมความสามารถในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาคือบุคลากรทางการศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน กว่า 100 คน
นายสมพร เทพสิทธา ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กล่าวเปิดการสัมมนา และกล่าวถึงความเป็นมาของปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งมาจากนโยบายการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนก่อเกิดการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 — 2551 ซึ่งแนวทางการแก้ไขในยุคนั้นเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการศึกษา จนกระทั่งถึงการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2 ในปีพ.ศ.2552 — 2561 ที่ยังมีคุณภาพการศึกษาจากสอบการสอบระดับชาติ O — Net ที่ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ จึงมีแนวคิดว่า ในการที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้นั้น เมื่อทางรัฐบาลเกิดความตั้งใจที่จะปฏิรูปการศึกษาแล้ว ควรวางระบบและรากฐานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยทั่วถึงกัน
โดย ดร. วิชัย ตันศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึง การปฏิรูปการศึกษาว่า จะต้องคำนึงถึงบริบทของสิ่งแวดล้อมในสังคมเป็นสำคัญ เนื่องจากบริบทในสังคมไทยนั้น มีความแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย โดยเสนอแนะ
แนวทางการพัฒนาคุณภาพศึกษา 3 ประการด้วยกัน คือ
1. การนำพาประเทศไทยให้มีคุณภาพระดับอาเซียน จะต้องให้ความสำคัญด้านภาษาของคนในชาติ ควรมีการเรียนการสอน English Program ทุกวิชา เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีพื้นฐานการฟังและการพูดภาษาอังกฤษได้
2. ควรแยกประเภทโรงเรียน ตามขนาดของสถานที่ และจำนวนบุคลากร เพื่อสามารถพัฒนาระบบการศึกษาให้เหมาะสม
3. ควรให้มีหลักสูตรด้านศีลธรรมในการเรียนการสอน ปลูกฝังเรื่องความซื่อตรง และซื่อสัตย์ การเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ
4. แต่ละโรงเรียนควรมีหลักสูตรการสอน แบบ Civic Education (การปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบและการเป็นพลเมืองที่ดี)
จากแนวคิดที่ว่า “คุณภาพการศึกษาคือคุณภาพของคน” ดร. วิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถวัดระดับคุณภาพการศึกษาได้ และควรสนับสนุนด้านศิลป์มากกว่าด้านศาสตร์ โดยเน้นการพัฒนาเป็น 4 ด้าน คือ
1. การดนตรี ที่จะสามารถสร้างความสุขได้
2. ด้านการกีฬา เพราะสุขภาพที่แข็งแรงจะทำให้บุคลากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ สามารถถ่ายทอดวิชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ด้านภาษา เนื่องจากภาษาอังกฤษมีความสำคัญต่อการติดต่อสื่อสาร จนถือว่าเป็นภาษาที่สองของคนไทย
4. ด้านการประกอบอาชีพ เพื่อให้บุคลากรเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับบริบทด้านเทคโนโลยี ที่เข้ามาอีกอิทธิพลอย่างมากในการศึกษายุคปัจจุบัน ซึ่ง ดร. วิบูลย์ เห็นว่า เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยน การศึกษาจึงต้องเปลี่ยนตาม โดยพัฒนาบุคลากรครูให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนได้
ด้าน นายโสภณ เพชรสว่าง ประธานอนุกรรมการเพื่อปฏิรูปปรับโครงสร้างด้านการศึกษา เสนอแนะในมุมมองด้านโครงสร้างทางการศึกษา กล่าวคือ โครงสร้างและระบบบริหารทางการศึกษาในปัจจุบัน ไม่มีศูนย์กลางข้อมูลในระดับภูมิภาค ประสบปัญหาการบริหารงานของโรงเรียน และไม่มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลให้ตัวชี้วัดทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงได้มีข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนกลาง และระดับเขตพื้นที่การศึกษา ให้ไปสู่การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ต่อมา นายสาโรช วัฒนสโรช อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการ ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพการศึกษาของไทย ช่วงก่อนและหลังการปฏิรูป ซึ่งการศึกษา ก่อนการปฏิรูปนั้น มีแนวคิดให้การศึกษาในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน มีแนวทางการเรียนการสอน และการวัดผลที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น การศึกษาหลังการปฏิรูป จึงควรนำข้อดีส่วนนั้นมาพัฒนาต่อเนื่อง กล่าวคือ การศึกษาในแต่ละจังหวัดในประเทศไทย ควรมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษานั่นเอง
โดยสรุปแล้ว คุณภาพของการศึกษา จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปการศึกษาให้แน่ชัด มีการกำหนดเป้าหมาย นั่นคือ ส่งเสริมการศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน ต้องพัฒนาคนไทยยุคใหม่ และสังคมยุคใหม่ ให้เข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้คนไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยนำธรรมะมาเป็นรากฐานทางจิตใจควบคู่กับการศึกษาที่ดี เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพแก่ประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ คณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะนำผลการสัมมนา เรื่อง “คุณภาพการศึกษาก่อนการปฏิรูปและหลังการปฏิรูปการศึกษา” มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเด็น และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดทำเป็นความเห็น และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป