กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กบข.
กบข.จัดงาน GPF Symposium ระดมกองทุนชั้นนำถกปัญหาสังคมสูงอายุ กระทบระบบบำนาญโลก ชี้ต้องปฏิรูประบบบำนาญจากแบบรับประกันผลตอบแทน (DB) เป็นระบบบำนาญแบบกำหนดเงินสะสม (DC) ฟากผู้บริหารกองทุนทั่วโลกประสานเสียง 4 ปัจจัยท้าทายการบริหารกองทุนบำนาญแบบ DC คือ ผลตอบแทนการลงทุน อัตราเงินสะสม แผนทางเลือกการลงทุน และการให้ความรู้ทางการเงิน
ดร.แมน ชุติชูเดช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวในงาน GPF Symposium ในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของกองทุนทั่วโลก (Change and Challenges) ว่า โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่ยาวนานขึ้น ทำให้ภาระงบประมาณด้านบำนาญที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้ผู้เกษียณมีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปในปัจจุบัน นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกองทุนบำนาญทั่วโลก ในการบริหารกองทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เพียงพอสำหรับจ่ายให้กับสมาชิกเมื่อเกษียณ โดยที่ไม่กระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลของหลายประเทศได้มีการปฏิรูประบบบำนาญของประเทศจากระบบบำนาญแบบรับประกันผลตอบแทน (Defined Benefit : DB) ไปสู่ ระบบบำนาญแบบกำหนดเงินสะสม (Define Contribution : DC)
ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้ปฏิรูประบบบำนาญของข้าราชการจากระบบบำนาญแบบ DB มาเป็นระบบบำนาญแบบ DC โดยจัดตั้ง กบข. ขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อบริหารเงินออมของข้าราชการ โดยในแต่ละเดือนข้าราชการสมาชิก กบข.จะมีอัตราเงินสะสมในกองทุน 8% แบ่งเป็นเงินสะสมของสมาชิก 3% เงินสมทบจากรัฐบาลในฐานะนายจ้าง 5%
นายธนศักดิ์ กรรณสูต ผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญ เชลล์ กรุ๊ป กล่าวว่า ความท้าทายของการปฎิรูประบบบำนาญจาก DB สู่ DC คือ การสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่เพียงพอให้กับสมาชิก จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทน สมาชิกกองทุนต้องเข้าใจการลงทุนและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ กรณี Shell Pension มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเป็น 40-65% ของพอร์ตการลงทุน จากอดีตที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่ำมาก หลังจากเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยของ shell pension อยู่ที่ประมาณ 6.5%
นางนาโอมิ เดนนิ่ง กรรมการผู้จัดการ ทาวเวอร์ วัตสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ความท้าทายอีกประเด็นของการปฏิรูประบบบำนาญคือ กองทุนต้องมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิก ในสหรัฐอเมริกา มีแผนการลงทุนที่ปรับลดความเสี่ยงการลงทุนลงตามอายุ (Life Path Choice) ซึ่งระยะเริ่มต้นสมาชิกอาจยังไม่สนใจ แต่เมื่อเงินสะสมในกองทุนของสมาชิกเพิ่มขึ้น หรือเมื่อสมาชิกใกล้เกษียณความสนใจของสมาชิกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น กองทุนบำนาญจึงให้ความสำคัญในการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และเตรียมความพร้อมทางเลือกการลงทุน เพื่อสมาชิกเข้าใจวางแผนทางการเงินให้เพียงพอหลังเกษียณ
นายแอนกัส เซนจอร์น กรรมการบริหาร เจพี มอร์แกน สิงคโปร์ กล่าวว่า การให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ถือเป็นหน้าที่ของกองทุนบำนาญที่จะผลักดันการให้ความรู้ทางการเงินแก่สมาชิก แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมทางการเงิน นอกจากนี้ การจะให้ความรู้ทางการเงินยังจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้คำปรึกษา ซึ่งจะทำให้สมาชิกเข้าใจวางแผนทางการเงินและพร้อมที่จะเลือกแผนการลงทุนด้วยตัวเอง
นายเคิร์ก เวสท์ กรรมการบริหาร อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเม้นท์ พรินซิเพิล โกลบอล กล่าวว่า อัตราการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนถือเป็นอีกประเด็นที่ท้าทางสำหรับกองทุนบำนาญแบบ DC เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเพียงพอของเงินออมหลังเกษียณ ซึ่งโดยเฉลี่ยทั่วโลกอัตราการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะอยู่ที่ประมาณ 15% โดยสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสูงถึง 30%