ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ผ่านฉลุย บีโอไอมุ่งสร้างมูลค่าอุตสาหกรรม — ชักจูงทุนต่างชาติแบบเข้มข้น

ข่าวทั่วไป Friday June 3, 2005 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไออนุมัติยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ปรับสิทธิประโยชน์จูงใจ ให้เกิดการลงทุนที่สร้าง Value Creation และ การลงทุนแบบต่อเนื่องเพื่อสร้าง Value Chain พร้อมเน้นชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศแบบเข้มข้น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน ของบีโอไอ (พ.ศ.2548 — พ.ศ. 2551) ซึ่งเป็นการปรับมาตรการส่งเสริมให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบให้สมดุลและแข่งขันได้ของรัฐบาล โดยยุทธศาสตร์ของบีโอไอจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของโครงการที่จะลงทุนมากขึ้น โดยบีโอไอจะเน้นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างแท้จริง (Value Creation Economy)
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอปรับแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้เกิดการพัฒนา Value Creation และลงทุนต่อเนื่องมากขึ้น เพื่อสร้าง Value Chain โดยจะให้สิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมและกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในกลุ่ม Science & Knowledge Based ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นการลงทุนในลักษณะแพคเกจ มีการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว มีส่วนของการวิจัยและพัฒนา มีแบรนด์ของตนเอง ตลอด Value Chain ที่มีการผลิต และใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูง
ส่วนการปรับประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้าง Value Creation จะต้องใช้เวลาดำเนินการ หารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยยึดหลักการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมและสิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะในแต่ละกิจการ
นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบให้จัดตั้ง Mobile Unit เพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้น ในประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนซึ่ง ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือสำนักงานของบีโอไอประจำในประเทศเหล่านั้น ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และในประเทศที่มีสำนักงานบีโอไอแล้วแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น ประเทศจีน
สำหรับการปรับยุทธศาสตร์ภายในของสำนักงานบีโอไอนั้น บอร์ดบีโอไอเห็นควรให้เพิ่มบทบาทของสำนักงานฯ ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆในการลงทุน เช่น ปัญหาทางด้านสาธารณูปโภค ระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ และผังเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงงานในโครงการลงทุนต่างๆ บีโอไอจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระยะก่อนและภายหลังการดำเนินโครงการลงทุน ส่วนการพัฒนาองค์กรสู่ Strategic Agency จะมีการปรับโครงสร้างและพัฒนา องค์กร บุคลากร ระบบงาน เป็นต้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ