กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--พม.
กระทรวงวัฒนธรรมจัดการแสดงและนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ เพื่อเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ ๒๔ — ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยการแสดงเชิญชูเกียรติ “ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔” กำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เวลา ๑๙.๐๐ — ๒๑.๓๐ น. ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ ประกอบด้วย
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒ น์ (จิตรกรรม) : การแสดงสองพลังศิลป์ สองพลังอารมณ์ ซึ่งเป็นการวาดรูปบนผ้าใบขนาดใหญ่ด้วยดินสอเครยองผสานกับเสียงระนาดเอกบรรเลงโดยมือระนาดเอกร่วมสมัย ศิลปินศิลปาธร ขุนอิน ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า
เศรษฐา ศิระฉายา (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) : แสดงผลงานเพลงอมตะที่สร้างชื่อให้ เศรษฐา ศิระฉายา พร้อมวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ทั้งหมด ๕ เพลง ได้แก่ เป็นไปไม่ได้ ไปตามดวง ชื่นรัก ทะเลไม่เคยหลับ และเมดเลย์
เมธา บุนนาค (สถาปัตยกรรม) : Presentation ชุด Beauty and Shadow โดยนำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นการออกแบบของ อ.เมธา บุนนาค ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความงามของธรรมชาติ แสง และเงา
สุชาติ สวัสดิ์ศรี (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) : นำเสนอผลงานสะท้อนการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในรูปแบบแปลกใหม่ อีกทั้งสร้างคุณูปการอย่างยิ่งแก่วงการนักเขียน นักอ่านและวรรณกรรมด้วยบทบาทของบรรณาธิการมืออาชีพ รวมถึงได้เปิดพื้นที่ในโลกวรรณกรรมเป็นเวทีแก่นักเขียนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
ทองร่วง เอมโอษฐ (ประณีตศิลป์- ศิลปะปูนปั้น) : ละครสั้นเรื่อง “คนปั้นปูน” ที่แต่งเรื่องโดยได้แรงบันดาลใจจากปรัชญาในการทำงานของครูทองร่วง ดังที่กล่าวว่า “ต้องทำจนกระทั่งเรารู้จักหัวใจของปูน เหมือนว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อนั้นผมถึงเรียกตัวเอง ว่าคนปั้นปูน” เป็นเรื่องของชายตาบอดซึ่งมีแขนเพียงข้างเดียว อุปมาดั่งศิลปินที่กลั่นกรองผลงานของมาจากเนื้อแท้ของหัวใจ จึงไม่มีสิ่งใดมาขวางกันหนทางของเขาได้ ต่อให้ถูกตัดเอาแขนหรือควักเอาดวงตาออกไปก็ตาม เพราะจิตวิญญาณของเขาจะยังอยู่ และนั่นก็คือคุณค่าที่แท้จริง”
ประภัสสร เสวิกุล (นวนิยายและกวีนิพนธ์) : การจำลองฉากจากในละครที่สร้างจากผลงานนวนิยายอันโด่งดังของผู้เขียน ๓ เรื่อง ได้แก่ ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน ลอดลายมังกร และ อำนาจ
รัจนา พวงประยงค์ (นาฏศิลป์ไทย - ละคร) : ละครนอกเรื่องรถเสน ตอนเมรีถูกมอมสุรา
สดใส พันธุมโกมล (ละครเวทีและละครโทรทัศน์) : การร้องเพลง Buffalo Song ซึ่งเป็นผลงานเพลงภาษาอังกฤษที่ที่รศ. สดใส ได้ขออนุญาตแปลเนื้อเพลงมาจากเพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” ของครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยอาจารย์สดใสจะร้องเพลงนี้พร้อม presentation เป็นประมวลภาพผลงานที่ผ่านมาของศิลปิน
นคร ถนอมทรัพย์ (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์และขับร้อง) : การแสดงผลงานเพลงชิ้นสำคัญร่วมกับวงดนตรีชุดใหญ่ จำนวน ๔ เพลง ได้แก่ หนึ่งในโลก รักกันไว้เถิด ปรัศนีย์หัวใจ (รวงทอง ทองลั่นทม) และ เบื่อผู้หญิง (ชาย เมืองสิงห์)
ส่วนในระหว่างวันที่ ๒๔ — ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จะมีการจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติ “ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔” ณ Hall of Mirror ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยจะมีพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ประกอบด้วย
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์เอกอัครศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทรงทำนุบำรุง ซ่อมแซมงานศิลปกรรมต่างๆ และทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกาศ ให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ“อัครศิลปิน” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบันทรงได้รับพระสมัญญานาม “อัครศิลปิน” ด้วยพระองค์ทรงเป็นเอตทัคคะในศิลปะหลายสาขา เป็นต้นว่า ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และนฤมิตศิลป์ เป็นต้น ทรงได้รับการยกย่อง สดุดีในพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัด บรรดาศิลปินต่างตระหนักในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ จึงพร้อมใจกันเทิดทูนพระเกียรติยศ โดยขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญาอันเป็นพระคุณนามพิเศษแด่พระองค์
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “วิศิษฎศิลปิน” สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงทะนุบำรุง, ส่งเสริมและฟื้นคืนชีวิตแด่ศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงให้ยืนยาวถาวรมาได้จนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยศิลปะแทบทุกแขนง ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ นับตั้งแต่ดุริยางคศิลป์, นาฏศิลป์, วรรณศิลป์, ทัศนศิลป์, สถาปัตยกรรม ฯ ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูศ ิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะหมดไป การกำหนดแนวทางการอนุรักษ์, พัฒนาและเผยแพร่ รวมไปถึงการคิดค้นหนทางในการดำรงศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป
และนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่จะจัดแสดงผลงานอันโดดเด่นของศิลปินแห่งชาติแต่ละท่าน โดยเทคนิคการนำเสนอด้วยแสงสีที่สะดุดตาในห้องมืด ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดแรงบันดาลใจต่อคนรุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ทุกท่านคือ “ศิลปิน” ที่ไม่แบ่งแยกว่าเป็นสาขาหรือแขนงใด
จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th