นักวิจัยจุฬาฯ เผยแผนพัฒนากลุ่มเกษตรกรหอมแดงจากผู้ปลูก กลายเป็นผู้ส่งออก เพื่อรับมือ FTA

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2012 08:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแผนพัฒนากลุ่มเกษตรกรหอมแดง รับมือการค้าเสรี ภายใต้โครงการ “วิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิต การเก็บรักษา และการตลาดหอมแดงแบบครบวงจรภายใต้แนวคิด ทางการตลาด เพื่อรองรับการเปิดตลาดการค้าเสรีของไทยกับต่างประเทศ” กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ เผยแผนการช่วยเหลือ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ดังนี้ ระดับต้นน้ำ เกษตรกรขาดความรู้ เทคโนโลยี สนับสนุน โดยเฉพาะการคัดเลือกสายพันธุ์แท้ที่เหมาะสม ต้านทานโรค ให้ผลผลิตดี ขาดการจัดการความรู้วิธีการเพาะปลูก ยังคงใช้ความรู้จากประสบการณ์ลองผิดลองถูก และยังไม่ได้นำมาใช้ในวงกว้าง และยังไม่มีมาตรฐานวิธีการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) คณะวิจัย จึงร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจังหวัศรีสะเกษ กว่า 700 ราย ให้ได้รับ GAP การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมถึงช่วยเกษตรกรในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ โดยคัดพันธุ์หอมแดงที่ต้านทานโรค รวมถึงพัฒนาที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับการเพาะปลูก และการลดและขจัดสารตกค้างในพื้นที่เพาะปลูก ระดับกลางน้ำ เกษตรกรยังขาดความรู้ด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาสินค้า การแปรรูปเบื้องต้น การยืดอายุการเก็บรักษาและการบรรจุภัณฑ์ และระบบการบริหารจัดการในศูนย์รับซื้อหอมแดงเพื่อการควบคุมทางบัญชีและการเงิน นักวิจัยช่วยวางแผนการบริหารจัดการศูนย์รับซื้อหอมแดง และให้คำแนะนำระบบการเก็บรักษา เพื่อช่วยถนอมรักษาคุณภาพหอมแดงตลอดจน รวมถึงแนะนำการลดต้นทุนการบริหารสินค้าคงคลังและโลจิสติกส์ ระดับปลายน้ำ เกษตรกรขาดความรู้ในการแปรรูปหอมแดงเพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุการเก็บรักษา ขาดความรู้ที่จะชี้ชัดว่าหอมแดงจากศรีสะเกษมีคุณสมบัติที่ดี แตกต่างจากแหล่งอื่นอย่างไร ที่สำคัญที่สุด คือ การหาช่องทางการจัดจำหน่ายและการจัดการด้านการตลาดและโลจิสติกส์เพื่อการส่งออก นักวิจัยช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปหอมแดงและการตลาดเชิงรุก เพื่อช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรมีศักยภาพในการผลิตและการตลาด ตลอดจนการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับจากผู้ปลูกไปสู่งผู้ส่งออกที่มีศักยภาพ (Smart Exporter) มีรายได้มากขึ้น สามารถที่จะผลิตแข่งขันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาตราสินค้า (Branding) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ป้อนเข้าสู่ตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์หอมแดงเป็นพืชเศรษฐกิจแปรรูปใหม่ที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอาเซียนซึ่งมีชาวมุสลิมจำนวนมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายที่มีความต้องการหอมแดงจำนวนมาก นักวิจัยไทยหวังหอมแดงเป็นสินค้าเกษตรที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวและมีแต้มต่อในการแข่งขันในเวทีโลก เกษตรกรจะอยู่รอดได้ต้องเริ่มด้วยคนไทยช่วยกันบริโภคหอมแดงไทย ซึ่งหมายถึงเราช่วยเกษตรกรไทยให้มั่นคงอยู่ได้ในอาชีพปลูกหอมแดง และช่วยเศรษฐกิจไทยให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ