มูลนิธิเอสซีจี ประกาศผลสุดยอดผลงาน “รางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2554” เวทีเฟ้นหายุวศิลปินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2012 09:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--มูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิเอสซีจี (SCG Foundation) ประกาศผลเยาวชนหัวใจศิลป์ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลดีเด่น โครงการรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2554 หรือ Young Thai Artist Award 2011 เวทีการประกวดศิลปะสำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้ง 6 สาขา พร้อมจัดแสดงผลงานเพื่อเป็นเกียรติประวัติและเผยแพร่ความสามารถเด็กไทยให้ประชาชนได้ร่วมชื่นชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เปิดเผยว่า Young Thai Artist Award เกิดจากการที่มูลนิธิเอสซีจี เล็งเห็นว่าปัจจุบันมีเวทีการประกวดศิลปะในระดับผู้ใหญ่หรือประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่เวทีที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนยังมีไม่มากนัก จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะแขนงต่างๆ จัดการประกวด Young Thai Artist Award ขึ้น ถือเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่รวบรวมการประกวดศิลปะถึง 6 สาขา ได้แก่ ศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี “ในปีนี้การประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 และยังคงได้รับกระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้น แต่น้องๆ เยาวชนผู้ที่มีใจรักศิลปะก็ยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานดีๆ และส่งเข้าประกวดรวมกว่า 600 ชิ้น ซึ่งขณะนี้ได้คัดเลือกรางวัลยอดเยี่ยมทั้ง 6 สาขา จากเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 36 คน เป็นที่เรียบร้อย” สุรนุช กล่าว เยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ทั้ง 6 สาขา ประกอบด้วย ศิลปะ 2 มิติ (Two - Dimensional Art) ได้แก่ “หนึ่งความรู้สึก” โดย ธนิษฐา นันทาพจน์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปะ 3 มิติ (Three - Dimension Art) ได้แก่ “กำเนิด" โดย ราวิน ไชยวงค์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพถ่าย (Photography) ได้แก่ "เครื่องแบบนักเรียน" โดย ณัฐพาส จิระสถิตย์วรกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพยนตร์ (Film) ได้แก่ “Eclipse” โดย ณัฏฐพล อมรทัต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วรรณกรรม (Literature) ได้แก่ “ กลอนเปล่าแก้ป่วย" โดย ณัฐกาญจน์ สัตยากวี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประพันธ์ดนตรี (Music Composition) ได้แก่ “มณฑลแห่งเสียง 3” โดย นายฟรานซีส นันตะสุคนธ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุวศิลปินที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในแต่ละสาขาจะได้รับเงินรางวัล 150,000 บาท พร้อมรางวัลทัศนศึกษา ต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้กำหนดขึ้นที่ประเทศสเปน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เป็นผู้คัดเลือกสถานที่ศิลปะที่มีชื่อเสียงและให้ความรู้กับเยาวชนด้วยตนเอง ส่วนผู้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท รวมมูลค่ากว่า 2.4 ล้านบาท “Young Thai Artist Award นอกจากจะโดดเด่นด้วยการจัดประกวดศิลปะถึง 6 สาขา ให้มาอยู่ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมต่อแรงบันดาลใจระหว่างศิลปะแต่ละแขนง หรือที่เรียกว่า “ ศิลปะส่องทางแก่กัน” แล้ว ยังเป็นเวทีประกวดซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานการคัดเลือกผลงานที่เข้มงวด คณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกว่า 20 ท่าน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้ปรับกระบวนการจัดการประกวดให้สดใหม่ ทันสมัย และเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น ปรับปรุงกฏ กติกา การประกวดให้มีความชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นเพียงพอให้ผู้เข้าร่วมประกวดสามารถแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพทางศิลปะอย่างเต็มที่” สุรนุช กล่าว กรรมการตัดสินสาขาศิลปะ 2 มิติ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงานมีลักษณะ การแสดงออกเชิงความคิดที่บอกถึงความรู้สึกรุนแรงจากผลของการกระทำหรือสังคมแวดล้อม ซึ่งศิลปินพยายามจะประสานรอยร้าวหรือบาดแผลที่เกิดขึ้นด้วยบุคลิกภาพของผู้หญิง ด้วยการเย็บปัก ผลงานที่จัดเรียงอยู่ 15 ช่อง บ่งบอกถึงความแตกต่างของบาดแผลที่เกิดขึ้นและความพยายามที่จะประสานบาดแผลเข้าหากัน โดยความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองหรือจากสังคมที่มีความแตกแยก การปักชุนเป็นสัญลักษณ์ของ การประสานในรูปแบบของผู้หญิงที่ต้องการความอ่อนโยน นุ่มนวล สำหรับช่องที่หายไปอาจทำให้ผู้ดูจินตนาการไปถึงการซ่อมแซมที่หายไปหรือการรอคอยการซ่อมแซมที่อาจจะเกิดขึ้น” กรรมการตัดสินสาขาศิลปะ 3 มิติ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงานประติมากรรมแสดงออกถึงการดิ้นรนในการเจริญเติบโต อาการเกร็ง บีบรัด การรวมตัวของเส้นสายที่ค่อยๆ ก่อรวมกัน เพื่อออกไปสู่ชีวิตใหม่ การใช้วัสดุปูนปั้นผสมผสานกับกระจกสีสามารถสร้างรสชาติอ่อนนุ่มและสีสันที่น่าสนใจในรายละเอียดได้เป็นอย่างดี ผลงานสามารถสร้างสรรค์รูปทรงใหม่ที่มองเห็นรายละเอียดของรูปทรงภายในได้ อย่างชัดเจน เรื่องราวที่ต้องการนำเสนอมีความสมบูรณ์ทั้งเนื้อหา ความคิด กระบวนการในการสร้างรูปทรงที่ ลงตัวอย่างพอดี รวมถึงใช้เทคนิควิธีการที่กลมกลืนกับการใช้วัสดุ” กรรมการตัดสินสาขาภาพถ่าย ได้ให้ความเห็นถึงผลงานที่ผ่านเข้ายอดเยี่ยมว่า “ผลงานมีประเด็นความคิดที่สามารถสื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจน สามารถดึงดูดผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมเชิงประสบการณ์หรือความ ทรงจำด้วยกลวิธีทางภาพถ่ายที่เรียบง่าย แต่สามารถเล่าเรื่องที่สะท้อนทัศนคติทางสังคมได้อย่างเชื่อมโยง การจัดการภาพถ่ายในฐานะงานศิลปะที่ยังสามารถพัฒนาแนวคิดและวิธีการเข้าสู่สภาวะร่วมสมัย ทั้งเรื่องประเด็นการศึกษา สิทธิเสรีภาพ น่าจะได้รับการสนับสนุนและสมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม” กรรมการตัดสินสาขาภาพยนตร์ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องอย่าง มีชั้นเชิง การวางพล็อตเรื่องดี นำเสนอแนวคิดออกมาเป็นภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจนตรงประเด็น โดยในสาขาภาพยนตร์นี้ผลงานมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับทุกๆ ปี” กรรมการตัดสินสาขาวรรณกรรม ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “กลอนเปล่าแก้ป่วย” นำเสนอเรื่องราวจากสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ทั้งภาพยนตร์ งานเพลง บทกวี หนังสือ งานวรรณกรรม และเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมา โดยได้ปรับเปลี่ยนและรังสรรค์งานเหล่านั้นเพื่อสื่อแนวความคิดของตนอย่างสร้างสรรค์ ผู้เขียนไม่ได้เลือกเล่าสิ่งที่เป็นอุดมคติสูงส่งจนจับต้องไม่ได้ แต่เลือกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่มักถูกมองข้ามเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวและเคยชิน โดยนำเสนอให้เห็นว่าเรื่องราวที่ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนั้น แท้จริงแล้วมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นและผู้คนในยุคปัจจุบันอย่างสูง และหากว่าเราตระหนักรู้ไม่เท่าทันสิ่งที่แวดล้อมตัวเราเหล่านี้ ก็จะทำให้เรา “ป่วย” ได้ การ “ป่วย” นี้เป็นการ “ป่วย” เชิงสัญลักษณ์ ในที่นี้หมายถึงความคลุมเครือและความไม่เข้าใจต่อสิ่งที่ประสบพบเห็นซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในสังคมปัจจุบัน จนทำให้เกิด ความทุกข์และเข้าใจตัวตนของตนเองอย่างพร่าเลือน ผู้แต่งได้ใช้กระบวนการเขียนกลอนเพื่อกลับไปทำ ความเข้าใจต่อสิ่งที่พบเห็นนั้น เพื่อเยียวยาตัวตนและปลดเปลื้องทุกข์จากความฉงนสนเท่ห์ต่อสิ่งที่แวดล้อมตนอยู่ การเขียนแบบนี้มีวิธีคิดแบบสมัยใหม่ คือ เกี่ยวข้องกับการป่วยไข้ทางจิตใจและความป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ “กลอนเปล่าแก้ป่วย” จึงสะท้อนพลังและบทบาทของงานวรรณกรรมในอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ น่าติดตาม” กรรมการตัดสินสาขาการประพันธ์ดนตรี ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการนำกลิ่นอายความเป็นไทยมาใช้ได้อย่างลึกซึ้งและแยบยล ฟรานซิสแสดงออกถึงเทคนิคด้านการประพันธ์ดนตรีที่สมบูรณ์แบบ รูปแบบโครงสร้างของดนตรีแต่ละท่อนมี ความหนักแน่น สามารถสะท้อนถึงบุคลิกของผู้แต่งได้เป็นอย่างดี” ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเผยแพร่ความสามารถของเยาวชนไทยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมชื่นชม มูลนิธิเอสซีจีได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2554 ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2555 ไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) กรุงเทพฯ “มูลนิธิฯ จะยังคงให้การสนับสนุนวงการศิลปะอย่างเต็มที่ต่อไป นอกจากจะมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนและศิลปินไทยได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความสามารถทางศิลปะแล้ว ยังสนับสนุนกิจกรรมอื่นอันจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้ทั้งยุวศิลปินและศิลปินต่างๆ อย่างหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อให้วงการศิลปกรรมไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน รวมถึงได้รับการยอมรับในระดับโลก เพราะศิลปะเป็นเครื่องสะท้องถึงความเจริญรุ่งเรืองของคนในชาติ” สุรนุช กล่าวทิ้งท้าย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยุวศิลปินที่ผ่านเวทีการประกวด Young Thai Artist Award ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะ และไปได้รับรางวัลอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกมากมาย จนเวทีการประกวดแห่งนี้เสมือนเป็นบันไดก้าวแรกสู่ความเป็นศิลปินต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ