กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการSmart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดนครนายก ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้จัดทำโครงการ Smart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) ขึ้น โดยกำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดนครนายก รวมถึงให้เป็นต้นแบบในการบริหารราชการ และขยายผลการดำเนินการสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการจัดทำ “จังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ” นี้ กระทรวงฯ ได้วางกรอบแนวทางและขอบเขตการดำเนินโครงการฯ ไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ดำเนินการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Infrastructure) ของจังหวัดนครนายก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ใช้งาน 2. ดำเนินการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3.ดำเนินการด้านให้บริการข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประชาชนในระดับหมู่บ้าน
ด้านนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการSmart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งระบบการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นคุณภาพ เข้าไปใช้ในการบริหารจัดการจังหวัดต้นแบบ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัด 5 ประการ คือ ผลผลิตมวลรวมเพิ่มขึ้น รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นการกระจายรายได้ของประชาชนดีขึ้น ความสุขมวลรวมของประชาชนดีขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐลดลง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงได้มีการคัดเลือกจังหวัดนครนายก มาเป็นจังหวัดต้นแบบของโครงการฯ และได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่ายในครั้งนี้
นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครนายกได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาวิสัยทัศน์จังหวัดที่สำคัญไว้ 4 ประการ คือ เป็นเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่ ศูนย์อาหารสุขภาพและอาหารปลอดภัย และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งการร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในโครงการ Smart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) ครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการพัฒนาประเทศที่มีกลไกหลักสำคัญ 4 กลไก คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนและประชาชนให้สอดคล้องและประสานกันอย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และประสิทธิภาพในการบริหารงานของทุกภาคส่วนในจังหวัดนครนายก รวมทั้งเพิ่มความยั่งยืนในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกด้วย
สำหรับโครงการ Smart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) นี้ เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทยไปสู่“Smart Thailand” ซึ่งประกอบด้วย Smart Network , Smart Government และ Smart Business โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบการพัฒนา “Smart Province” ที่เหมาะสม รวมทั้งเพื่อสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อพัฒนาจังหวัดให้พร้อมสู่การเป็น “Smart Thailand” ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ และในระยะแรกของโครงการได้กำหนดให้ “จังหวัดนครนายก” เป็นต้นแบบของจังหวัดที่จะดำเนินการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อมุ่งสู่การเป็น “Smart Province” เนื่องจากมีความเหมาะสมของขนาดพื้นที่จังหวัด และความพร้อมทั้งด้านสถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว การเกษตร
โดยการดำเนินงานในระยะแรกจะเชื่อมข้อมูลต่างๆ ลงในบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และผู้ให้บริการเอกชนอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ จะมีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหา ที่เกิดขึ้นเพื่อวางแนวทางที่เหมาะสม สร้างรูปแบบการบริหารจัดการและการให้บริการภาครัฐผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศได้อย่างทั่วถึง และสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นต่อไป