กรุงเทพฯ--29 ก.พ.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการจัดทำสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในบริบทของการเตือนภัยและการเตรียมพร้อมป้องกันภัยทุกหมู่บ้าน/ชุมชนจังหวัดนครนายก ว่า เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้ส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศไทยประมาณร้อยละ 3 และประเทศยังต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งเมื่อรวมกับมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้น และงบประมาณที่จะต้องนำมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลแล้ว ได้ส่งผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
การบริหารจัดการกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ การรู้ล่วงหน้า การหลีกเลี่ยง การเตรียมตัวที่จะเผชิญกับภัย และการบรรเทาภัยในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยการเตรียมความพร้อมเหล่านี้นับเป็นองค์ประกอบหลักของความสำเร็จในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงระบบการทำงาน และลักษณะของความพร้อมให้เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการศึกษาและวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อนำมาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ให้ความสำคัญในการจัดทำสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในบริบทของการเตือนภัย เพื่อเรียนรู้สาเหตุ ปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเกิดภัย จนกระทั่งการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังการเกิดอุทกภัย โดยกระทรวงฯ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกับจังหวัดนครนายก จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในบริบทของการเตือนภัย และการเตรียมพร้อมป้องกันภัยทุกหมู่บ้าน/ชุมชน จังหวัดนครนายกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงสรุปแนวโน้มของการเกิดภัยและความรุนแรง เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้ทบทวนแผนงานของตน แล้วนำเอาส่วนที่เกี่ยวกับการเตือนภัยมาหารือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ตลอดจนร่วมแสดงความคิดเห็นในด้าน “ความพร้อม” ภายใต้ภารกิจที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการประสานงานในบทบาทของหน่วยงานตามขั้นตอนของการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เพื่อจัดระบบบริหารการดำเนินงานเผชิญสถานการณ์ในภาพรวม (Unified Command) ให้กระชับ รวมทั้งเพื่อให้ชุมชน/หมู่บ้าน มีการเตรียมความพร้อม และมีแผนปฏิบัติเมื่อเกิดภัย ตามนัยแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้กรอบนโยบายการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ตลอดจนเพื่อให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความสามารถในการเตรียมพร้อมป้องกันภัย มีแผนเผชิญเหตุ สาธารณภัยภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชน และยังเป็นการสร้างกิจกรรมและเชื่อมโยงให้ชุมชนมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในด้านการเตรียมความพร้อมป้องกันภัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนในการเตรียมพร้อมป้องกันภัย และพัฒนาสู่การพึ่งพาตนเองในการบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติ ชาวไทย นักท่องเที่ยว และประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติอีกด้วย
สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ได้มีการจัดเป็น 2 กิจกรรม คือ การสรุปบทเรียน และการเตรียมพร้อมป้องกันภัย โดยกิจกรรมที่ 1 การจัดทำสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในบริบทของการเตือนภัย เป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคราชการ ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน มาจัดทำเป็นสรุปบทเรียนฯ เพื่อนำข้อบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำช่วงที่ผ่านมา มาใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา และกำหนดเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ส่วนกิจกรรมที่ 2 การเตรียมพร้อมป้องกันภัยทุกหมู่บ้านทุกชุมชนของจังหวัดนครนายก จะเป็นการนำสรุปเหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้น ในปี 2554 มาเป็นกรณีศึกษา และเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชนที่จะต้องมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อให้หมู่บ้าน/ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสาธารณภัยในเบื้องต้น ตลอดจนมีการจัดทำแผนชุมชนในการเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ และการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยตามหลักสากล คือ หลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM) อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติ
ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกิจกรรมที่ 1 คือ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และมูลนิธิต่าง ๆ กิจกรรมที่ 2 คือ ผู้แทนหน่วยงานในจังหวัดนครนายก ทั้ง หน่วยงานราชการ ทหาร อบจ./นายอำเภอ/ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน/หมู่บ้าน อาสาสมัคร มูลนิธิ ซึ่งรวมผู้เข้ารับการสัมมนาทั้งหมดประมาณ 1,500 คน
“กระทรวงฯ หวังว่า การสัมมนาฯ ครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อสรุปที่จะช่วยในการประเมินภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลในการทบทวนแผนงานของตนให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหา รวมทั้งช่วยให้เกิดการพัฒนาการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความสับสนในการบริหารสถานการณ์ และความซับซ้อนในการสนับสนุนการปฏิบัติงานในช่วงต้นของการบรรเทาภัย นอกจากนี้ยังช่วยให้ชุมชน/หมู่บ้านที่เสี่ยงภัยมีความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติ สามารถบริหารจัดการ และลดความเสียหายเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น มีการสร้างคณะกรรมการชุมชน/หมู่บ้านเสี่ยงภัยที่มีความเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อนที่หน่วยงานภายนอกจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างชุมชน/หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคราชการ และภาคประชาชน ซึ่งการเตรียมความพร้อมดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ ชาวไทย นักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชน และนำมาซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว