กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้จัดงาน “สถาบันเอไอทีคืนสู่บ้าน: สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ณ อาคารห้องสมุดของสถาบันฯ ในโอกาสที่ชาวสถาบันเอไอทีกลับสู่คืนสถาบันฯภายหลังภัยพิบัติน้ำท่วม โดยงานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานมากมาย ได้แก่ เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ นอกเหนือไปจากนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน และศิษย์เก่าสถาบันเอไอที
งานนี้จัดขึ้นในโอกาสของการกลับมาปฏิบัติงานของสถาบันเอไอที ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงมากกว่าสองเมตรในเดือนตุลาคม 2554 ศาสตราจารย์ ซาอิด อิรานดุส อธิการบดีสถาบันเอไอทีกล่าวว่าสถานที่ๆจัดงานในวันดังกล่าวคือห้องสมุดของสถาบันฯซึ่งเป็นจุดที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Ground Zero หรือจุดที่เสียหายหนักที่สุดของสถาบัน และเสริมว่าไม่ใครคิดว่าอาคารซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักนี้จะสามารถเป็นสถานที่จัดงานสำคัญครั้งแรกของสถาบันเอไอที หลังจากที่สถาบันฯได้รับสถานะองค์การระหว่างรัฐบาล ระหว่างชาติ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555
หนึ่งในกิจกรรมพิเศษของงานคือการอภิปรายโดยคณาจารย์และศิษย์เก่าที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านน้ำของสถาบันเอไอที โดยอภิปรายเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้รับจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2554 ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้อภิปรายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ จากมหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งเป็นศิษย์เก่าเอไอที ได้แนะนำถึงทางเลือกต่างๆของพื้นที่รับน้ำหรือเก็บกักน้ำและช่องทางผ่านของน้ำ ดร.สุทัศน์ วีสกุล แห่งสถาบันเอไอที ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในการจัดการที่ราบน้ำท่วมถึงและทางเลือกสำหรับช่องทางเบี่ยงน้ำ และ ดร.มาซาฮิโกะ นากาอิ อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านรีโมทเซนซิ่งชาวญี่ปุ่นของสถาบันเอไอที ได้กล่าวถึงการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเรียกร้องให้มีการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนและการเตรียมพร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น
ในช่วงต้นของการอภิปราย ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กล่าวว่าแม้ว่าการทำนายด้านภูมิอากาศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ในปีนี้มีการทำนายว่าจะมีฝนตกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเสริมว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดพายุในลุ่มน้ำแปซิฟิค และไม่ทราบว่าพายุจำนวนเท่าใดที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย “เป็นการยากที่จะทำนาย” ดร.เสรีกล่าวเตือน ก่อนที่จะกล่าวต่อว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแบบแผนของภูมิอากาศในประเทศไทยได้ผันแปรจากแห้งแล้งไปเป็นน้ำท่วม และเนื่องจากมีความยากในการทำนาย การเตรียมพร้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม มีปริมาณฝนตกมากในภาคเหนือ และขีดความสามารถของแม่น้ำที่จะรับน้ำนั้นมีจำกัด ดร.เสรียังพูดถึงทางเลือกในการสร้างแอ่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำจำนวน 2 ล้านไร่ และสร้างช่องทางผ่านของน้ำทางด้านตะวันออกหรือช่องทางผ่านของน้ำทางด้านตะวันตก ดร.เสรียังแนะนำให้มีการคาดการณ์การไหลเข้าของน้ำสู่เขื่อนต่างๆ การสื่อสารด้านความเสี่ยง ระบบการสนับสนุนการตัดสินใจ ตลอดจนการวางแผนการใช้ที่ดิน
ดร.สุทัศน์ วีสกุล กล่าวว่าในช่วงพ.ศ. 2554 ปริมาณของฝนมีมากกว่า 48 % ของปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ย ซึ่งทำลายสถิติที่เคยมีฝนตกมากที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2496 ดร.สุทัศน์ยังเสริมอีกว่าเขื่อนกั้นน้ำที่ไม่แข็งแรงได้พังลง จนนำไปสู่การล้นของน้ำทั่วพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง และไม่สามารถควบคุมได้ ดร.สุทัศน์ยังตั้งข้อสังเกตุว่าน้ำท่วมในประเทศไทยเกิดขึ้นทุกๆ 4-5 ปี และการกลับมาเกิดน้ำท่วมอย่างที่เกิดขึ้นในพ.ศ. 2554 นั้นจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 100 ปี ดร.สุทัศน์ยังแนะนำให้แก้ปัญหาทั้งทางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ตแวร์ “เราต้องการการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการน้ำท่วมในพื้นที่น้ำท่วมถึง อีกทั้งการใช้พื้นที่เก็บกักน้ำ การสร้างเขื่อนกั้นน้ำและใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนช่องทางน้ำท่วม ดร.สุทัศน์ยังแนะนำถึงทางเลือกต่างๆเพื่อเป็นช่องทางเบี่ยงน้ำในการจัดการกับน้ำจำนวนมหาศาล
ดร.มาซาฮิโกะ นากาอิ ในขณะที่นำเสนอเกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียมของน้ำท่วมในพ.ศ. 2554 แสดงความคิดเห็นว่าพื้นที่ๆได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้นมีขนาด 45,000 ตร.กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ 33,600 ตร.กม.ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตาม นี่เป็นประสบการณ์อันเลวร้ายที่สุดของคนไทย
ศ.ซาอิด อิรานดุส อธิการบดีสถาบันเอไอที ได้กล่าวว่าในขณะที่สถาบันเอไอทีกำลังฟื้นฟูตัวเองอยู่ สถาบันฯจะใช้หลักการของ 3S (Safety, Security and Sustainability) หรือ ความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืน ศ.อิรานดุส ยังกล่าวต่อว่าสถาบันเอไอทีจะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม