2 องค์กรหลักร่วมกันจัดการประชุม “ASEAN Business Forum 2012” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ข่าวทั่วไป Thursday March 1, 2012 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย 2 องค์กรหลักร่วมกันจัดการประชุม “ASEAN Business Forum 2012” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3ภายใต้ประเด็นหลัก Advancing Together towards 2015โดยรวมสุดยอดนักธุรกิจชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศเพื่อเร่งเตรียมความพร้อมภาคเอกชนของไทยสู่ AEC ในปี 2015 TMA — สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดการประชุมนักธุรกิจอาเซียน หรือ ASEAN Business Forum 2012 ในวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ มีนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมการประชุมกว่า 500 ท่าน จากเป้าหมายสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) คณะผู้จัดงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจไทย โดยมุ่งสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้สามารถปรับตัว และหาประโยชน์จากการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ ภายในงาน ASEAN Business Forum 2012 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3 ในปีนี้ คณะผู้จัดฯ ได้เรียนเชิญนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จชื่อดังจากทั่วภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก กว่า 50 ท่าน ร่วมเป็นวิทยากร ซึ่งในวันที่สองของการจัดงาน มีหัวข้อสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ระหว่างเวลา 9.00 — 17.30 น. Progress and Challenges towards AEC 2015 and beyond บรรยายพิเศษโดย Dr. Ponciano Intal Senior Researcher, Economic Research Institute for ASEAN and East Asia กล่าวว่าอาเซียนควรมีมาตรการใหม่ๆ ที่ต้องกำหนดเป็นนโยบายให้ถูกต้อง มีมาตรฐานเหมือนกัน เท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความพร้อมในการเปิดตลาดการลงทุนของแต่ละประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเปิดตลาดอาเซียนในปี 2015 นั้นอาจเป็นเพียงการเคลื่อนย้ายทักษะของแรงงานมากกว่าเรื่องของการเปิดเสรี ฉะนั้นต้องสร้างสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศในอาเซียน ให้กฎระเบียบ หรือเรื่องศุลกากรระหว่างประเทศมีความสอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่การติดต่ออย่างไร้รอยต่อนั้นเอง หัวข้อเสวนาเรื่อง Identifying Critical Success Factors for AEC 2015 ประกอบไปด้วยดร.ไพลิน ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Mr. Stefano Poli,Chairman of the EU-ASEAN Business Council Dato’ Sri Nazir Razak Group Chief Executive Officer, CIMB Group Sdn Bhd และ Mr. Ade Sudrajat Chairman , ASEAN Federation of Textile Industries (AFTEX) ผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงโครงการการเชื่อมโยงให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระบบการขนส่ง(Logistics) โครงการคมนาคมทางอากาศ โครงการไฟฟ้าของ 10 ประเทศอาเซียน โครงการท่อส่งแก๊ส นอกจากนั้นยังมองถึงการให้ความสำคัญเรื่องความซื่อสัตย์ จรรยาบรรณในการทำธุรกิจ และการจัดตั้งตลาดหุ้นอาเซียนเพื่อเป็นแหล่งระดมเงินทุนของภาคธุรกิจในอาเซียน ทั้งนี้ภาครัฐบาลและเอกชน ต้องร่วมกันผลักดันโครงการต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและประสิทธิภาพ การเสวนาในช่วงบ่ายหัวข้อแรกคือ Developing Leadership in the Regionalized Environment : การพัฒนาการเป็นผู้นำและเตรียมพร้อมกับการทำงานในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้รับเกียรติจากนักธุรกิจชั้นนำในประเทศและต่างประเทศร่วมเสวนาในเรื่องดังกล่าว อาทิ คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธาน TMA, คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี, Mr. Sri Martono Vice President Chief, Corporate Human Capital Development, PT Astra International Tbk , Mr. Nicolas Sutcliffe Managing Director, Asia Pacific, The Conference Board โดยสรุปประเด็นได้ดังนี้ การที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนในต่างประเทศนั้นเกิดจากการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ใน 3 ประการคือ รัฐบาลต้องยอมรับความหลากลายของธุรกิจเมื่อเกิดการรวมตัวของประชาคมอาเซียน สร้างความพร้อมทางด้านแรงงาน และสร้างความโปร่งใสในกฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้องค์กรธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้กับพนักงาน เปิดโอกาสให้พนักงานได้ไปเรียนรู้ในต่างประเทศเพื่อเป็นการพัฒนาให้สร้างผู้นำรุ่นต่อไปโดยสามารถถ่ายทอดความรู้สร้างทีมงานที่มีศักยภาพที่หลากหลายเพื่อพร้อมในการแข่งขันในอาเซียนได้ นอกจากนี้การสร้างโครงการ CSR ที่เป็นการคืนกำไรให้กับสังคมในประเทศที่ไปลงทุนก็จะสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันที่ยั่งยืนกับธุรกิจนั้นอีกด้วย ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ Opportunity of ASEAN Emerging Business in the Global Arena :โอกาสการรวมตัวของธุรกิจในระดับโลก ได้รับเกียรติจาก คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai), คุณอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน, Dr. Sai Sam Htun President, Loi Hein Group of Companies, Mr. Setsuo Iuchi President, JETRO Bangkok ร่วมเสวนา โดยสรุปคือ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีภูมิประเทศและโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมาะกับการลงทุนในปัจจุบันอันดับแรกคือ อินโดนีเซีย รองลงมาคือพม่าเนื่องจากมีความพร้อมของฐานการผลิต โดยเฉพาะประเทศพม่าที่เปิดพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็จะเป็นที่จับตามองของนักลงทุนมากขึ้น หากมีการปรับกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆที่เกิดการบูรณาการให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในประเทศ และในปัจจุบันรัฐบาลพม่าเร่งสนับสนุนให้เกิดธุรกิจในประเทศมากขึ้นเพื่อผลักดันให้แรงงานพม่ากลับไปทำงานในประเทศของตน สำหรับประเทศไทยนั้นหากสร้างความมั่นคงทางการเมืองได้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้กลับมาสร้างฐานการผลิตในประเทศนอกจากนี้ SME ของแต่ละประเทศต้องผนึกกำลังกันเพื่อให้เกิดอำนาจทางการต่อรองทางธุรกิจก่อนที่จะไปลงทุนในต่างประเทศได้ และหัวข้อที่สอง ASEAN Sustainable Development Pathway กล่าวถึงวิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย เศรษฐกิจ การเมืองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและเอกชน วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2554 ระหว่างเวลา 9.00 — 17.00 น. ในภาคเช้าเริ่มต้นด้วยหัวข้อเสวนาเรื่อง Building an Effective ASEAN Capital and Financial Market การสร้างตลาดทุนและตลาดเงินที่มีประสิทธิภาพ ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย คุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ Mr. Frank Krings Chief Country Officer and General Manager Deutsche Bank AG, Bangkok Branch และMr. Lee Chuan Teck Assistant Managing Director, Capital Markets Group Monetary Authority of Singapore โดยผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นว่า การนำตลาดทุนของแต่ละประเทศมารวมเป็นตลาดเดียวเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะทำให้ขนาดใหญ่มากขึ้นเป็นอันดับที่ 9 ของโลกได้ โดยต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งผลักดันบริษัทขนาดใหญ่ให้เข้าตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น นอกเหนือจากการจัดการกับรายละเอียดและกฎระเบียบต่างๆ ของแต่ละประเทศ สร้างมาตรฐานที่ชัดเจน สามารถใช้ได้ในระดับสากล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันในบางประเทศยังไม่มีการจัดเก็บ เป็นต้น หัวข้อ Supply Chain Management โดยประกอบด้วย คุณสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) Mr. Pari N. Annamalai Vice President of Industries and Presales, JDA Software Asia Pte. Ltd. Mr. Takahiro Iwase President, Toyota Motor Asia Pacific Engineering & Manufacturing Co., Ltd. และ Dr. Mahender Singh CEO / Rector, Malaysia Institute for Supply Chain Innovation, Malaysia และExecutive Director, MIT Global SCALE Network in Asia-MIT Center for Transportation and Logistics, USA โดยผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นว่า การบริหารจัดการ Supply Chain นั้น ไม่เพียงเป็นเรื่องของการลดความเสี่ยง หรือการเพิ่มกำไรเท่านั้น แต่ต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น รวมถึงต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดดุลยภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ และปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบภายในแต่ละประเทศกลุ่มอาเซียน ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ สุดท้ายในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดนโยบายกลางให้ชัดเจนเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ในการดำเนินงาน ในภาคบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อ Logistics : Connecting ASEAN to the World ประกอบด้วย Mr. Dong-Woo Ha Director, Transport Division, UNESCAP Mr. Oh Bee Lock Chief Operating Officer, Singapore Terminals, PSA International Pte. Ltd. Mr. Thomas Tieber Chief Executive Officer, South Asia DHL Global Forwarding และคุณสุเมธ ตันธุวนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) คณะผู้ร่วมเสวนาได้แสดงความเห็นในเรื่อง การเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้ง ระหว่างอาเซียนกับอาเซียน และอาเซียนกับทั่วโลกนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพิ่มจำนวน Hub Port ในประเทศอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้านปัจจัยทางภูมิศาสตร์ รวมถึงค่าเงินของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ให้มากขึ้น นอกเหนือ Hub port ที่ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นคณะผู้ร่วมเสวนายังย้ำประเด็นในการสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่งระหว่างทางเรือและทางบก เพื่อลดเวลาในการขนส่ง หัวข้อ Way Forward with ASEAN ICT Connectivity ประกอบด้วย Mr. Jonathan Krause Executive Partner, Gartner, Inc. Mr. Deepak Sarup Senior Executive Vice President & CFO Finance Group and Change Program, Siam Commercial Bank PCL. และ คุณมนู อรดีดลเชษฐ์ กรรมการบริหารเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมกันเสวนาถึงแผนแม่บท ในเรื่องการผลักดันเทคโนโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเด็นหลัก ดังนี้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภูมิภาค การเพิ่มการเข้าถึงของสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยให้คนทุกระดับสามารถซื้อเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์ต่างๆ ในราคาถูกได้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือความรู้ทางธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อให้นำไปสู่การเกิดนวัตกรรมและการบูรณาการของธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน การกำหนดกรอบเครือข่ายการให้บริการทางสารสนเทศและกฏหมายร่วมกันในระดับภูมิภาค การลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน โดยจัดฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้กับกลุ่มที่ด้อยโอกาส เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานให้คนกลุ่มนี้จนสามารถพัฒนาเป็นทักษะที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าหรือบริการในอนาคตได้ การให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SMEs ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประกอบในการดำเนินธุรกิจ จากแผนแม่บทดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลของแต่ละประเทศ เพื่อหาผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนแม่บทนี้ขึ้นมาให้สามารถรองรับการเกิดประชาคมอาเซียนในปี 2015 ได้ หัวข้อ ASEAN as a Preferred Destination ประกอบด้วย Mr. Dennis Brown Corporate Chief Executive Officer Bumrungrad Hospital Public Company Limited Mr. Peter Harbiso Executive Chairman CAPA-Centre for Aviation คุณอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)คุณอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องที่อาเซียนมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม สามารถเชื่อมโยงกับหลายๆ ประเทศ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ แรงงานที่มีทักษะ ความสามารถสูงและค่าจ้างแรงงานต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น การขนส่งทางอากาศ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของภาคบริการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมชั้นนำ หรือธุรกิจการบิน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางของหลายประเทศที่จะเข้ามาลงทุน หรือท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ในหลายๆ ประเทศของกลุ่มอาเซียนยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาในอีกหลายด้าน เช่น ภาษา การศึกษา เป็นต้น หัวข้อ The Globalization of ASEAN Brand ได้รับเกียรติจาก คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน), Mr. Jeremy Hine Chief Executive Officer, Lowe Thailand, Mr Bauke Rouwers Chairman of Unilever Thai Group of Companies ร่วมเสวนาในประเด็น โอกาสในการสร้างตราสินค้าของธุรกิจกลุ่มอาเซียนให้เข้าสู่ตลาดโลก ผู้ประกอบการต้องหาเอกลักษณ์หรือความโดดเด่นของสินค้าหรือบริการของตน จะต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมและความต้องการผู้บริโภค โดยเฉพาะการสร้างตราสินค้าของประเทศไทย ซึ่งมีความได้เปรียบทางทรัพยากร หากมีการนำมาปรับใช้อย่างถูกทางก็จะสามารถสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักได้ จุดเด่นสำคัญของการสร้างตราสินค้า คือ การเลือกใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้และทำให้ผู้บริโภคได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันการใช้ Social media ที่สามารถส่งข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ออกไปสู่ผู้รับได้อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางประเภทก็ไม่สามารถใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์แบบนี้ได้ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ใช่กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องปรับใช้รูปแบบอื่นๆ ในการประชาสัมพันธ์ให้เข้ากับธุรกิจของตน ทั้งหมดคือภาพรวมของการประชุมนักธุรกิจอาเซียน หรือ ASEAN Business Forum 2012 ระหว่างวันที่ 28 — 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยความร่วมมือระหว่าง TMA — สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
แท็ก นักธุรกิจ   ADVANC   2012  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ