จับกระแสความแรง ! สมุนไพรในสัตว์ สุดเจ๋ง...

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2012 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือที่เรียกว่า สพภ.โครงการส่งเสริมและแก้ไขปัญหารายธุรกิจ : กิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรคุณภาพตามหลักการ GAP กรณี การใช้สมุนไพรเพื่อการเลี้ยงสัตว์ จากกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และกระแส Food safety ดังจะเห็นได้จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Growth Promoter; AGP) เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ทดแทน AGP ได้แก่ กรดช่วยเสริมการย่อย โปรไบโอติก พรีไบโอติก และสมุนไพร จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตสัตว์ ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น ถนอมคุณภาพของอาหารสัตว์ เพิ่มผลผลิตสัตว์ ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเลี้ยงสัตว์ เพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์สัตว์ และส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภค เป็นต้น สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้ทดแทน AGP เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ทั้งในด้านการควบคุมและรักษาโรค รวมถึงในด้านการเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในด้านการปลูก ขยายพันธุ์ และผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศของไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนและชื้น ทำให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชสมุนไพร ประกอบกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาสมุนไพรที่มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีวิธีการใช้หลากหลายทั้งป้องกัน รักษาโรค และบำรุงสุขภาพโดยคำนึงความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สมุนไพรจะช่วยลดสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สัตว์ และยังเป็นการลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากในปีหนึ่งๆ ประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบและอาหารเสริมเพื่อเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวน มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์ในประเทศไทย พ.ศ. 2550 จำนวน 33,202.65 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 51,059.76 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) มูลค่ารวมของสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ในประเทศไทย พ.ศ. 2552 มูลค่ารวมกว่า 17,312.05 ล้านบาท โดยมีสารเสริมอาหารมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด ร้อยละ 29 (ที่มา : สมาคมผู้ค้าเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์) รายละเอียดดังภาพที่ 1 แม้ว่าการใช้สมุนไพรในสัตว์จะมีศักยภาพสูง และเป็นที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ยังพบมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ปัญหาการนำมาใช้เชิงอุตสาหกรรม ความไม่แน่นอนของวัตถุดิบทั้งปริมาณและสารกัดที่ได้จากสมุนไพร ขาดการควบคุมกระบวนการผลิตและคุณภาพของสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ความสม่ำเสมอของคุณภาพวัตถุและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในลำดับต้นๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ สพภ. จึงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรคุณภาพตามหลักการ GAP โดยได้นำร่องในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มและพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มเกษตรกร เพื่อยกระดับคุณภาพสมุนไพรตามมาตรฐาน GAP โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงนาม MOU ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานร่วมปฏิบัติในระดับพื้นที่ ได้แก่ เกษตรอำเภอกำแพงแสน (กรมส่งเสริมการเกษตร และ ศูนย์ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม (กรมวิชาการเกษตร) ดังความเชื่อมโยงภาพที่ 2 ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วม 20 ราย โดยปลูกพืชสมุนไพร ได้แก่ ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ไพล มะแว้ง และว่านชักมดลูก จำนวนแปลงกว่า 50 แปลง เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ในชื่อ”กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรกระตีบพัฒนา” โดยกลุ่มเกษตรกรได้ร่วมกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ คุณสมบัติการเป็นสมาชิก และข้อบังคับกลุ่ม โดยมุ่งเน้นที่การผลิตสมุนไพรคุณภาพตามหลักการ GAP เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านมาตรฐานและคุณภาพ และเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้สมุนไพร โดยเกษตรกรและแปลงทั้งหมด ได้ผ่านการตรวจเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมการเกษตร (เกษตรอำเภอกำแพงแสน) และออกหมายเลขแปลง รหัสเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรเรียบร้อยแล้ว และได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2555 จำนวน 3 แปลง(ราย) ในสมุนไพรฟ้าทลายโจร จำนวน 7.5 ไร่ การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายโอกาสทางการจำหน่ายให้สมุนไพร และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเนื้อสัตว์ในกระแสปัจจุบัน ที่ต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมีตกค้าง ซึ่งผู้ผลิตเนื้อสัตว์ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสัตว์ (เลี้ยงสัตว์) ไปสู่แบบอินทรีย์/ธรรมชาติ เน้นการรักษาสุขภาพอนามัยของสัตว์ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ สมุนไพรจึงเป็นทางเลือก และมีบทบาทสำคัญในการทดแทนสารเคมี เพื่อตอบสนองกระแสธรรมชาติดังกล่าว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ปีก (บริษัทตะนาวศรีไก่ไทย) และผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรคุณภาพ (บริษัท สามพรานฟาร์ม จำกัด) ใช้สมุนไพรจากแหล่งของกลุ่มที่ สพภ. ส่งเสริม เป็นวัตถุดิบในการเลี้ยง ปีละกว่า 60 ตัน ผลจากการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรคุณภาพตามหลักการ GAP ของโครงการฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะนำพาสมุนไพร พัฒนาก้าวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรใน 8 สาขา ได้แก่ 1) ผู้ผลิตและผู้ค้าส่งสมุนไพรวัตถุดิบ 2) สารสกัดสมุนไพร 3) ยาจากสมุนไพร 4) อาหารและเสริมอาหารสมุนไพร 5) เครื่องสำอางสมุนไพร 6) การผลิตสัตว์ 7) การเกษตร และ 8) ผลิตภัณฑ์สปาและอุปกรณ์สมุนไพรเพื่อการแพทย์ทางเลือก) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้สมุนไพร เกิดการยกระดับการผลิตสมุนไพร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งผู้บริโภค และเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป
แท็ก AFET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ