MovieThis must be the place คนเซอร์หลุดโลก

ข่าวบันเทิง Friday March 2, 2012 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--เอ็ม พิคเจอร์ส จัดจำหน่ายโดย เอ็ม พิคเจอร์ส ชื่อภาษาไทย “คนเซอร์หลุดโลก” ภาพยนตร์แนว คอมเมดี้—ดราม่า จากประเทศ อิตาลี ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ กำหนดฉาย 15 มีนาคม 2555 ณ โรงภาพยนตร์ ในโรงภาพยนตร์ ผู้กำกับ Paolo Sorrentino (เปาโล ซอร์เรนติโน) อำนวยการสร้าง INDIGO FILM (อินดิโก้ ฟิล์ม), LUCKY RED (ลัคกี้ เร้ด) , MEDUSA FILM (เมดูซา ฟิล์ม) นักแสดง Sean Penn (ฌอน เพนน์), Frances McDormand (ฟรานซิส แม็คดอร์มานด์), Judd Hirsch (จั๊ดด์ เฮิร์สช์) จุดเด่น This Must Be the Place ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของซอร์เรนติโน เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สี่ของเขาที่ได้เข้าฉายในสายประกวดของเมืองคานส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่จะเผยให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้โฟกัสไปที่องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการขาดหาย ซึ่งตามความหมายแล้วจะหมายถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับการมีอยู่ ของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย เรื่องย่อ เชเยนน์เป็นอดีตร็อคสตาร์ แม้เขาจะอายุ 50 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังแต่งตัวแบบ “กอธิค” และใช้ชีวิตอยู่ในดับลินด้วยเงินจากค่าลิขสิทธิ์การเสียชีวิตของพ่อเขา ผู้ซึ่งเขาไม่พูดคุยด้วยนำเขากลับมาสู่นิวยอร์ก เขาพบว่าพ่อของเขาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องหนึ่ง นั่นคือความต้องการแก้แค้นสำหรับความอับอายที่เขาประสบมา เชเยนน์ตัดสินใจที่จะสานต่องานของพ่อ และเริ่มต้นเดินทางไปทั่วอเมริกา ด้วยจังหวะของตัวเอง บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ Q: คุณพบกับฌอน เพนน์ได้อย่างไรและไอเดียสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากไหน A: ผมได้พบฌอน เพนน์ในปี 2008 ระหว่างคืนปิดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปีที่เขาเป็นประธานการตัดสินและผมได้รับรางวัลจูรี ไพรซ์จาก Il Divo นั่นแหละครับ เขาได้ให้ความเห็นที่น่าปลาบปลื้มมากๆ เกี่ยวกับหนังของผม ผมพบว่ามันเป็นเรื่องน่าทึ่งมากจนผมแอบเอาไปฝันว่าจะได้สร้างหนังกับเขา ซึ่งมันก็น่าอัศจรรย์เหมือนอเมริกันดรีมที่ความฝันนั้นกลายเป็นความจริงครับ Q: อะไรคือต้นกำเนิดของสองธีมหลักในเรื่อง ซึ่งก็คือภาพร็อคสตาร์ผู้หดหู่และการตามล่านาซีชราล่ะ A: เท่าที่ผมรู้ หนังทุกเรื่องต่างก็มีการตามล่าสิ่งที่เราไม่รู้หรือปริศนาทั้งนั้น มันไม่ใช่เพื่อพบคำตอบเสมอไป แต่เพื่อรักษาให้คำถามนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ครับระหว่างการคิดหนังเรื่องนี้ หนึ่งในสิ่งที่ผมคิดเสมอๆ คือเรื่องความลับ ชีวิตลับๆ ที่อดีตอาชญากรนาซีต้องจำทนในที่ไหนซักแห่งในโลกใบนี้ คนที่ตอนนี้มีโฉมหน้าของคนชรานิสัยดี ไร้พิษสง แต่อดีตของพวกเขากลับแปดเปื้อนไปด้วยอาชญากรรมที่ไม่อาจบรรยายได้ นั่นคือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ มันเป็นภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกันสุดขั้วเลยครับ ในการตามล่าตัวคนพวกนี้ เราจะต้องมีการไล่ล่า และการที่เราจะมีการไล่ล่าได้ เราก็ต้องมีนักล่า นี่เป็นจุดที่องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของเรื่องปรากฏขึ้น มันเป็นความต้องการตามสัญชาตญาณของผมที่จะใส่เอาความเย้ยหยันเข้าไปในดรามา ในการนี้ ผมกับอัมเบอร์โต้ คอนทาเรลโลได้กำจัดความเป็นไปได้ของนักล่านาซี “ที่เป็นองค์กร” และมาถึงจุดที่เป็นคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับความเป็นนักสืบโดยสิ้นเชิง เขาคือร็อคสตาร์ขี้เกียจสันหลังยาว ผู้เบื่อหน่ายกับชีวิตและเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ในโลกของตัวเองจนถึงขั้นที่เขาไม่น่าจะเป็นคนที่จะตามล่าหาอาชญากรนาซี ซึ่งตอนนี้น่าจะตายไปแล้ว ทั่วทั้งอเมริกาเลย แบ็คกราวน์ของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และโลกที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงของดนตรีป๊อป (ที่มักได้รับคำนิยามว่าไร้สาระ สดใส) และหนึ่งในตัวเอกของเร่อง สำหรับผมแล้ว มันเป็นส่วนผสมที่ “อันตราย” พอที่จะก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจได้ เพราะผมคิดว่าเรื่องราวจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันมีอันตรายของความล้มเหลว และผมก็หวังว่าผมจะไม่ล้มเหลวนะครับ Q: ช่วยพูดถึงตัวละครเชเยนน์หน่อยสิ เขาเป็นคนอย่างไร A: เชเยนน์มีนิสัยเหมือนเด็กๆ แต่ก็ไม่ได้มีอารมณ์ปรวนแปรอย่างฉับพลันครับ เขาก็เหมือนผู้ใหญ่หลายคน ที่ยังคงมีความเป็นเด็กอยู่ เขาสามารถรักษาแต่คุณสมบัติที่น่าประทับใจและสามารถยอมรับได้ของเด็กเอาไว้ได้ครับ เขาแขวนไมค์ก่อนวัยอันควร เนื่องด้วยเหตุสะเทือนใจ ซึ่งก็ทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างไร้ทิศทาง มันลากยาวออกไป กึ่งๆ จะอยู่ระหว่างความเบื่อหน่ายและความหดหู่ เขาล่องลอยไปเรื่อยๆ และสำหรับคนแบบนั้น อารมณ์ประชดประชันและความเบาสมองจะเป็นวิธีการรับมือกับชีวิตแบบเดียวที่สามารถรับได้ ทัศนคตินี้สะท้อนให้เห็นในลักษณะที่คนอ่นมองเขา เชเยนน์เป็นที่มาของความสุขอย่างแท้จริง และพออยู่ในหนัง ตอนที่เขาพูดอย่างไร้เดียงสาว่า “ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งงดงาม” เราก็เกือบจะเชื่อเขา เพราะนี่เป็นเด็กชายตัวเล็กๆ พูดอยู่ และลึกลงไปแล้ว มันก็ทำให้เราอุ่นใจเมื่อนึกว่าเด็กๆ พูดถูกเสมอน่ะครับ Q: คุณคิดว่าทำไมคุณถึงจำเป็นต้องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวด้วย A: มันอาจเป็นการพูดเกินเลยไปหน่อยว่าผมได้สร้างหนังเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เพราะหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันก็เลยจะเผยให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่นั้นผ่านทางภาพแวบๆ การคาดเดาหรือการอนุมานน่ะครับ อย่างไรก็ดี มันก็เป็นเรื่องจริงที่ว่า ผมอยากให้แบ็คกราวน์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นครอบคลุมถึงปัจจุบันในการบอกเล่าเรื่องราวนี้ด้วย และผมก็หวังว่าผมจะได้บอกเล่ามันจากมุมมองใหม่ที่แตกต่างนะครับ แต่หนังเรื่องนี้ได้โฟกัสไปที่องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการขาดหาย ซึ่งตามความหมายแล้วจะหมายถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับการมีอยู่ ของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชายครับ Q: ทำไมคุณถึงเลือกชื่อเชเยนน์ A: มันเป็นชื่อตามแบบฉบับของร็อคสตาร์ครับ ผมต้องการชื่อที่ฟังดูสมจริง เรานึกกันถึงหนึ่งในชื่อที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ร็อคสตาร์ ซึ่งก็คือซูซี แอนด์ เดอะ บันชีส์ และเราก็เปลี่ยนมันเล็กน้อยเป็นเชเยนน์ แอนด์ เดอะ เฟลโลว์สครับ Q: ฌอน เพนน์มีปฏิกิริยาอย่างไรกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ A: ผมส่งบทไปให้ฌอน เพนน์ ด้วยความเชื่อว่าผมคงต้องรออีกหลายเดือนกว่าจะได้คำตอบ มันมีข่าวลือ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน ว่าฌอนได้รับบทภาพยนตร์ประมาณสี่สิบเรื่องต่อเดือน พอผมส่งบทไปแล้ว ผมก็มองหาไอเดียอื่นทันที ไอเดียไหนก็ได้ที่น่าจะเวิร์ค เพราะบอกตามตรงนะครับ มันดูจะเป็นไปไม่ได้เลยที่แผนการเพี้ยนๆ ของผมในการถ่ายทำหนังอินดีในอเมริกากับนักแสดงที่เพิ่งได้รับออสการ์ จะเกิดขึ้นได้ แต่ 24 ชั่วโมงให้หลัง ผมพบข้อความจากฌอน เพนน์อยู่ที่เครื่องตอบรับโทรศัพท์ของผม แน่นอนว่าผมคิดว่ามันเป็นเรื่องกลั่นแกล้งกัน เหมือนที่คนอื่นๆ คิด เพื่อนที่เป็นผู้อำนวยการสร้างของผม นิโคลา กิลเลียโน ชอบเล่นมุขและเลียนเสียงเก่งมาก แต่ผมคิดผิด ในตอนกลางดึก ผมก็เลยได้คุยโทรศัพท์กับฌอน เพนน์ ผู้บอกผมว่าเขาชอบบทหนังเร่องนี้จริงๆ แล้วให้ความเห็นติดตลกว่า สิ่งเดียวที่เขากังวลคือฉากที่เขาต้องเต้น สำหรับผม นี่เป็นปัญหาที่แก้ได้ง่ายมากๆ หนึ่งเดือนให้หลัง ผมกับมือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างไปหาฌอนในซานฟรานซิสโก เราใช้เวลาช่วงเย็นที่วิเศษสุดด้วยกัน ซึ่งเขาก็มักจะพูดนอกเรื่องว่าเขาจะเล่นตัวละครตัวนี้แบบไหน มันยิ่งตอกย้ำสิ่งที่ผมสงสัยมาตลอดว่า นักแสดงเก่งๆ จะรู้เรื่องตัวละครดีกว่าผู้กำกับหรือมือเขียนบทเสียอีกน่ะครับ Q: ฌอนนำอะไรมาสู่หนังเรื่องนี้บ้าง A: ฌอน เพนน์เป็นนักแสดงในฝันของผู้กำกับรับ เขาเคารพความคิดของผู้กำกับอย่างแท้จริง แต่ก็สามารถพัฒนาความคิดเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น ผสมผสานกับพรสวรรค์มากล้น ที่ทำให้เขาสร้างความน่าเชื่อถือและมิติให้กับตัวละครในแบบที่บอกตามตรงเลยว่า ผมคงทำไม่ได้แม้ว่าผมจะนั่งคิดถึงมันตลอดชีวิตก็ตาม ผู้กำกับภาพ ลูก้า บิกัซซีกับผมทึ่งและประทับใจกับมิติลึกซึ้งของพรสวรรค์ของเขา และเหนือสิ่งอื่นใด คือความแม่นยำในทุกเรื่องของเขาด้วย ก่อนหน้าการถ่ายทำ ผมกับลูก้าก็จะมีหลายสิ่งหลายอย่างบอกกับเขา แต่พวกเราก็มาตระหนักได้ทีหลังว่า มันไม่มีอะไรจะพูด เพราะเขาเข้าใจทุกอย่างดีแล้ว ทั้งอากัปกิริยา ลุค จังหวะการเคลื่อนไหว และเขาก็ทำให้การฝ่าฟันอุปสรรคด้านเทคนิคที่เลี่ยงไม่ได้กลายเป็นเรื่องง่ายดายขึ้นครับ Q: ช่วยพูดถึงลุคสุดโต่งของเชเยนน์หน่อยสิ ทั้งลิปสติก เมคอัพ ทรงผม และลุคที่ใช้สีดำล้วนอีกล่ะ… A: ลุคนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโรเบิร์ต สมิธ นักร้องนำของวงเดอะ เคียวครับ ผมเคยดูพวกเขาแสดงหลายครั้งตอนที่ผมยังเป็นเด็ก แล้วเมื่อสามปีก่อน ผมก็ได้ไปดูพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ได้เห็นโรเบิร์ต สมิธ ที่ตอนนี้อายุห้าสิบแล้ว แต่ยังดูเหมือนตอนเขาอายุยี่สิบอยู่เลย มัน “น่าตกใจ” ในแง่ดีน่ะครับ พอได้เห็นเขาแบบใกล้ๆ ที่หลังเวที ผมก็เข้าใจดีว่าความย้อนแย้งในตัวมนุษย์ช่างน่าประทับใจและงดงามแค่ไหน เขาเป็นคนอายุห้าสิบที่ยังคงมีลุคเหมือนวัยรุ่นอยู่ แต่ไม่มีอะไรน่าขัน มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ทั้งในหนังและในชีวิตจริง ได้สร้างความรู้สึกเหลือเชื่อของความอัศจรรย์ใจไว้ มันเป็นข้อยกเว้นที่น่าตื่นตะลึงและพิเศษสุด หลายเดือนให้หลัง ผมก็เจอกับประสบการณ์พิเศษสุดคล้ายๆ กันในวันหนึ่งที่ร้อนระอุในเดือนกรกฎาคม ในนิวยอร์ก ที่เราให้ฌอน เพนน์ทดลองชุดและเมคอัพเป็นครั้งแรก ปาฏิหาริย์เล็กๆ เกิดขึ้นตรงหน้าผมขณะที่ผมมองนักแสดงที่ชื่อฌอน เพนน์ ถูกแปลงโฉมทีละน้อยๆ เริ่มต้นจากลิปสติก มาสคารา ชุดคอสตูม แล้วพอเขาเคลื่อนไหว ในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ แต่ก็แตกต่างจากการเคลื่อนไหวตามปกติของเขา เขาก็กลายเป็นอีกคน กลายเป็นเชเยนน์ไปเลยล่ะครับ Q: ช่วยพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจนกับเชเยนน์หน่อยได้ไหม A: ผมต้องยอมรับว่าสำหรับ “ความนัย” นี้ ผมหยิบยืมมาจากความสัมพันธ์ระหว่างผมกับภรรยาอย่างละนิดอย่างละหน่อย มันเป็นความสัมพันธ์ที่ความไร้แก่นสารของผู้ชายถูกชดเชยด้วยความหนักแน่นมั่นคงของผู้หญิงที่ทำให้ชีวิตสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีความทุกข์ใจหรือเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นน่ะครับ ผมกับอัมเบอร์โต้ คอนทาเรลโลพยายามจะดึงเอาความขัดแย้งระหว่างความไร้แก่นสารและความหนักแน่นภายในบริบทที่น่าขันออกมา แง่มุมขี้เล่นในความสัมพันธ์ระหว่างฌอน เพนน์และฟรานซิส แม็คดอร์มานด์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะพวกเขามีพรสวรรค์ในการทำให้คนหัวเราะอยู่แล้วครับ ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่ฟรานซิส แม็คดอร์มานด์ตกลงรับบทเจน ในการเกลี้ยกล่อมเธอ ผมได้เขียนจดหมายไปหาเธอบอกว่าถ้าเธอปฏิเสธ ผมจะเปลี่ยนบทให้เชเยนน์เป็นหนุ่มโสดหรือไม่ก็พ่อม่าย นั่นเป็นความจริงครับ ผมคิดไม่ออกเลยว่าจะมีใครนอกจากเธอที่จะเล่นบทนี้ได้ พอผมได้พบกับฟรานซิส เธอก็เป็นอย่างที่ผมจินตนาการเอาไว้ไม่มีผิด เธอเป็นผู้หญิงฉลาด ทำอะไรรวดเร็ว และมีอารมณ์ขันที่คาดเดาไม่ได้แบบไม่อั้นเลยครับ Q: ในส่วนของหนังที่เกิดขึ้นในดับลิน แมรีก็ได้มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเชเยนน์ด้วย… A: แมรีเป็นเพื่อนสาวและแฟนผลงานของเชเยนน์ครับ เธอมีบาดแผลจากความทุกข์ทรมานที่เขาได้ปัดเป่าบรรเทาอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเธอจะอายุน้อย แต่เธอกลับเป็นคนที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของเชเยนน์ ผมพบว่ามันเป็นการสลับบทบาทที่น่าสนใจ ผมเลือกอีฟ ฮิวสัน นักแสดงดาวรุ่งที่มีความเป็นผู้ใหญ่ มารับบทนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น ผมทึ่งกับความจริงที่ว่าเด็กสาวอายุน้อยขนาดนี้กลับมีวิธีคิดที่เป็นผู้ใหญ่เหลือเกิน คุณสมบัตินี้ ซึ่งสำคัญเหลือเกินสำหรับตัวละครของเธอ จะเป็นสิ่งสำคัญในอาชีพนักแสดงของเธอต่อไปครับ Q: อะไรทำให้คุณตัดสินใจถ่ายทำในดับลิน A: ง่ายๆ ก็คือดับลินเป็นเมืองที่ทั้งงดงามและเศร้าสร้อย มันเป็นคุณสมบัติสองอย่างที่สามารถผสมผสานกันแล้วส่งผลอย่างใหญ่หลวงในหนังเรื่องนี้ครับ Q: แล้วทำไมคุณถึงถ่ายทำในอเมริกาล่ะ A: ผมอยากจะถ่ายทอดโลเกชันดังๆ ในหนัง ที่ทำให้ผมรักงานนี้มาตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ อย่างไม่ละอายและไม่ยับยั้งชั่งใจครับ ทั้งนิวยอร์ก ทะเลทรายในอเมริกา ปั๊มน้ำมัน บาร์ที่มีเคาน์เตอร์ยาว เส้นขอบฟ้าที่ไกลสุดลูกหูลูกตา สถานที่ในอเมริกันเป็นความฝันและเมื่อคุณพบตัวเองในนั้น มันก็จะไม่กลายเป็นจริง แต่ก็ยังคงเป็นความฝันต่อไป ผมมีความรู้สึกแปลกๆ ของการได้อยู่ในโลกเสมือนจริงเสมอในอเมริกาครับ Q: คุณได้สร้างภาพสะท้อนอเมริกาออกมาเป็นแบบไหน A: มันเป็นเรื่องอันตรายเสมอที่จะสร้างวิสัยทัศน์ของสิ่งที่คุณไม่รู้จักดีและสิ่งที่ผมรู้เกี่ยวกับอเมริกา แม้ว่าผมจะเคยเดินทางไปที่นั่นหลายครั้งแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวรู้กันอยู่ดี อย่างไรก็ดี ผมมีข้ออ้างในการเดินทางกับเชเยนน์ ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งไม่ได้กลับไปอเมริกามา 30 ปีแล้ว พวกเราทั้งคู่เป็นนักท่องเที่ยว แม้ว่าเราจะมีตั๋วกลับปลายเปิดก็ตาม เราก็เลยตั้งต้นเดินทางเพื่อค้นพบโลกที่ถูกพูดถึงมาหลายครั้งหลายหนเพราะมันเปลี่ยนแปลงได้และไร้ความแน่นอนครับ Q: คุณรู้จักแฮร์รี ดีน สแตนตันและจั๊ดด์ เฮิร์สช์แล้วรึยัง A: แฮร์รี ดีน สแตนตันเป็นหนึ่งในไอดอลภาพยนตร์ของผม สำหรับหนังเรื่องนี้ ผมสามารถพิจารณานักแสดงอเมริกันได้และแฮร์รี ดีน สแตนตันก็เป็นคนแรกที่ผมขอพบ มีตติ้งครั้งแรกของเราทั้งน่าตื่นเต้นและน่าอัศจรรย์ใจ เราไม่ได้เอ่ยปากพูดกันนานมาก ผมอายจะแย่อยู่แล้ว ส่วนเขาก็รู้สึกสบายๆ ในสิ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอะควอเรียม แล้วจู่ๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่า “ผมแฮปปี้เพราะผมไม่มีคำตอบ” ผมก็เลยพูดขึ้นมาบ้างว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่ตั้งคำถามกับตัวเอง” แล้วมันก็ตามมาด้วยความเงียบ ก่อนที่เราจะอำลากันไป สองสามชั่วโมงให้หลัง ผู้ช่วยคนหนึ่งของเขาโทรมาบอกผมว่า ผมได้สร้างความประทับใจให้กับแฮร์รี ดีน ตอนนั้น ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในบทหนังดีๆ เลยล่ะครับ ในทางกลับกัน ฌอน เพนน์เป็นคนเสนอให้ผมพิจารณาจั๊ดด์ เฮิร์สช์สำหรับบทมอร์ดีไค มิดเลอร์ ซึ่งผมหานักแสดงสำหรับบทนี้ได้ยากมาก พอผมได้เห็นจั๊ดด์ ความเคลือบแคลงของผมก็หายไป ไม่เพียงแต่เพราะเขาเป็นนักแสดงทีน่าเกรงขามเท่านั้น แต่เขายังเป็นตัวละครตัวนั้นอีกด้วย เขามีทั้งความเป็นมนุษย์ ความอ่อนไหว แต่ก็ฉุนเฉียวง่ายด้วย นอกจากนั้น เขายังทำตัวเป็นที่น่าชื่นชอบและเหมือนพ่อคนหนึ่งได้อย่างง่ายดายด้วยครับ Q: มีอะไรบางอย่างในเรื่องสไตล์และสุนทรียศาสตร์ของหนังเรื่องนี้ที่จะทำให้ผู้ชมนึกถึงผลงานหนังเรื่องก่อนๆ ของคุณรึเปล่า A: ผมไม่ใช่คนที่สามารถตัดสินเรื่องพวกนี้ได้ดีที่สุดนะครับ ผมหวังว่าผมจะยังคงซื่อตรงต่อหลักการสำคัญของหนังเรื่องนี้ นั่นคือการใส่ฉากที่เรียบง่าย แต่ก็ “งดงาม” ในทุกที่ที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังคงรับใช้ตัวละครเป็นหลักด้วยครับ Q: ดนตรีก็มีส่วนสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน คุณเลือกมันอย่างไร A: ผมเลือกดนตรีของหนังเรื่องนี้จากหัวใจ อย่างที่นักเขียนชิคลิทบางคนพูดน่ะครับ แต่ถึงผมจะพูดติดตลกแบบนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องจริงครับ ผมไม่ได้มีความรู้สึกต้องการที่จะ “หาเหตุผล” ให้กับดนตรีเหมือนเมื่อก่อน แต่ผมอยากจะปลุกอารมณ์และความรู้สึกอันเหลือเชื่อ อย่างที่ผมเคยมีตอนเป็นเด็ก ในตอนที่พี่ชายผม ที่แก่กว่าผมเก้าปี แนะนำให้ผมรู้จักดนตรีเจ๋งๆ ที่เรียกว่าร็อค ผมใช้เวลาในช่วงเวลานั้นศึกษาดนตรีร็อคอย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอล์คกิ้ง เฮดส์และเดวิด ไบรน์ ผู้สร้างสุดเจ๋งของพวกเขา ผมก็เลยขอเดวิด ไบรน์สามอย่าง นั่นคือ ผมจะขอใช้ This Must Be the Place เป็นชื่อหนังและเป็นเพลงธีมของเรื่องได้รึเปล่า เขาจะช่วยแต่งดนตรีประกอบให้ผมได้มั้ย แล้วเขาจะมาเล่นเป็นตัวเองในหนังเรื่องนี้ได้รึเปล่า และทายซิ เดวิดตอบตกลงในทั้งสามเรื่องเลย! Q: คุณได้แรงบันดาลใจสำหรับหนังเรื่องนี้จากใครรึเปล่า A: ผมคิดว่ามันมีที่มาของแรงบันดาลใจหลายแหล่งโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอกครับ แต่ในระดับที่ผมรู้ตัว ผมต้องบอกว่าผมมักจะนึกถึงผลงานมาสเตอร์พีซของเดวิด ลินช์เรื่อง A Straight Story เสมอ Q: คุณคิดว่าผู้ชมจะมีการตอบรับอย่างไร A: ผมมีการตอบรับที่ดีมากๆ และผมก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชมด้วยครับ บทสัมภาษณ์เดวิด ไบรน์ ในการแต่งดนตรีสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนนั้น ผมกำลังทัวร์อยู่ในยุโรปแล้วเปาโลก็มาตูริน Il Divo หนังที่วิเศษสุดของเขาเพิ่งเข้าฉายในนิวยอร์กและได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลาม ผมเองก็เลยแฮปปี้ที่จะได้พบกับเขา เขาและผู้อำนวยการสร้างของเขาบอกว่าเขากำลังสร้างหนังเรื่องหนึ่งอยู่ และพวกเขาก็เล่าให้ผมฟังคร่าวๆ ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร พวกเขาไม่ได้อธิบายเรื่องราวทั้งหมด บอกแค่ว่ามันเกี่ยวกับร็อคสตาร์ที่ร้างราวงการ และพวกเขาก็อยากให้ผมแต่งดนตรีสำหรับเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันเป็นก้าวกระโดดที่ท้าทายจากหนังอิตาเลียนที่งดงามและเหลือเชื่อ แต่ไม่มีผู้ชมเป็นวงกว้าง ไปสู่สิ่งที่ดูเหมือนเป็นหนังภาษาอังกฤษสเกลค่อนข้างใหญ่สำหรับผม ผมก็เลยบอกพวกเขาว่า ผมกำลังทัวร์อยู่และพวกเขาควรจะติดต่อกลับมาในตอนที่พวกเขามีเงินและทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว และหนึ่งปีให้หลัง พวกเขาก็พร้อมและมีกำหนดวันว่าพวกเขาจะเริ่มต้นถ่ายทำเมื่อไหร่ และอยากจะคุยถึงเรื่องดนตรีอีกครั้ง ผมแปลกใจแต่ก็ดีใจด้วยครับ ผมก็เลยอ่านบทและก็มีสามอย่างที่เปาโลต้องการ อย่างแรกเขาต้องการให้ผมและวงของผมแสดงเพลงของทอล์คกิ้ง เฮดส์สดๆ ในฉากหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก อย่างที่สองก็คือในส่วนหนึ่งของเรื่องราว จะมีนักร้อง/นักแต่งเพลงหนุ่มยื่นซีดีเพลงเดโมให้เขา และพวกเขาก็ต้องการเพลงพวกนั้นเพราะตัวละครของฌอน เพนน์จะฟังเพลงจากซีดีนี้ทีละเพลงๆ ระหว่างการเดินทาง สิ่งที่ยากก็คือผมสามารถเขียนเพลงพวกนั้นได้ แต่ผมจะร้องเพลงพวกนั้นไม่ได้เพราะคนจะจำเสียงผมได้ และมันก็จะชัดเจนว่าไม่ใช่เด็กคนนั้นร้อง มันจะต้องเป็นเสียงของเด็กคนนั้นครับ อย่างที่สามก็คือดนตรีประกอบ เปาโลมีตัวอย่างเพลงบรรเลง สไตล์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยที่เขามีอยู่ในความคิด แต่ผมก็ถอยห่างจากเรื่องนั้นเพราะผมคิดว่าผมคงจะยุ่งอยู่กับเดโมที่เด็กคนนี้แต่งและบันทึกเสียง พวกมันจะฟังดูพลิ้วไหวและออกมาดีไม่ได้ แต่จะต้องฟังดูเหมือนยังไม่เสร็จดีน่ะครับ ในบท เปาโลพูดถึงวิล โอลด์แฮม หรือที่รู้จักกันในชื่อของบอนนี ปรินซ์ บิลลี ว่าเป็นคนดังแห่งโลกดนตรี และจริงๆ แล้ว เด็กคนนี้ก็ได้แสดงในห้างและร้องเพลงของวิลด้วย ผมก็เลยถามเปาโลว่า “ทำไมคุณไม่ขอให้วิลร้องเพลงนี้ล่ะ เพราะสิ่งที่เขาทำจะได้สอดคล้องกับคุณด้วย” เขาไม่มั่นใจและผมเคยพบวิลมาก่อนในช่วงแรกๆ ของการทัวร์ ผมก็เลยเสนอตัวว่าผมจะติดต่อเขาให้ว่าเขาอยากจะร่วมงานเพลงกับผมรึเปล่า เปาโลตกลงและน่าแปลกใจที่วิลก็บอกว่าเขาจะลองดู ผมคิดว่าก่อนหน้าที่เราจะเริ่มลงมือแต่งเพลงและเนื้อร้อง ลองทำเวอร์ชันหยาบๆ ออกมาดูดีกว่า เพื่อที่เราจะส่งมันไปให้เปาโลดูว่า เรามาถูกทางรึเปล่า ผมคิดว่ามันคงง่ายกว่าการที่เปาโลจะมาอธิบายดนตรีที่เขาต้องการ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากครับ บางเพลงก็เวิร์ค ผมกับวิลก็เลยสานต่อเพลงพวกนั้น แล้วก็ส่งเวอร์ชันหยาบๆ ไปให้เปาโลอีกหลายเพลง ซึ่งเขาก็รับบางเพลงและที่เหลือก็ถูกส่งกลับคืนมาขึ้นหิ้งของผม มันก็เลยกลายเป็นกระบวนการที่เราทำทุกอย่างเสร็จสิ้น เว้นแต่เพลงหนึ่งที่วิลแต่งเนื้อร้องเองทั้งหมด ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจเพราะเนื้อเพลงนี้แตกต่างจากสิ่งที่ผมคงจะเขียนออกมา นั่นเป็นเหตุผลของการทำงานอะไรบางอย่างร่วมกัน เพื่อสร้างในสิ่งที่คุณจะไม่ทำด้วยตัวเองน่ะครับ แล้วด้วยความที่นักแสดงหนุ่มจากดับลิน ที่เล่นเป็นเด็กคนที่ยื่นเดโม ไม่ใช่นักร้องที่เก่งนัก เราก็เลยต้องใช้เสียงของคนอื่น ที่จะเชื่อได้ว่าเป็นเสียงของเด็กคนนี้ ผมก็เลยไปเจอกับนักร้องไอริชคนหนึ่งในนิวยอร์ก ที่มีเสียงพูดเป็นโทนเทเนอร์สูง และมีสำเนียงไอริชนิดๆ เราพบเขาผ่านทาง MySpace และเขาก็มาทดลองร้องเพลงดู ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ชื่อวงดนตรีในหนังคือ ‘Pieces of Shit’ ซึ่งทำให้คุณคิดว่ามันจะต้องเป็นวงพังค์ และดนตรีที่เราคิดได้ก็ไม่เข้ากับชื่อวง เปาโลก็เลยแนะนำเราว่าให้เราดึงเพลงหนึ่งไปในทิศทางที่เศร้าสร้อยมากขึ้น แล้วทำให้อีกเพลงคึกคักมากขึ้น ตัวละครเอกของเรื่องมีต้นแบบมาจากโรเบิร์ต สมิธ นักร้องจากวงเดอะ เคียว ผมก็เลยบอกเปาโลว่าถ้าเขาอยากให้มันเหมือนเพลงจากเดอะ เคียว ผมคงจะไม่เหมาะกับงานนี้ แต่เขาบอกว่าเขาไม่ต้องการแบบนั้น เขาคิดว่าเชเยนน์น่าจะประทับใจกับดนตรีที่แตกต่างจากผลงานเก่าๆ ของเขามากกว่า มันเป็นเหมือนกับการที่เขาได้ยินสิ่งที่ผลักดันเขาไปยังอีกที่หนึ่งมากกว่าน่ะครับ เกี่ยวกับเพลง ‘This Must Be the Place’ มันน่าประหลาดใจหน่อยๆ ที่เปาโลใช้เพลง This Must Be the Place ที่ผมเขียนให้กับทอล์คกิ้ง เฮดส์ มาเป็นชื่อเพลง มันถูกอ้างอิงถึงมาหลายครั้งและเคยถูกแสดงมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งผมก็เคยได้ยินมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้น มันก็เลยเป็นอะไรที่น่าปลาบปลื้มมากๆ สำหรับผมแล้ว เพลงนี้เป็นเพลงรักที่ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา มันเป็นเพลงรักที่ตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่ผมจะเขียนออกมาได้ มันมีความจริงใจ แต่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาในแบบที่คุณอาจจะได้ยินมาก่อนเป็นล้านๆ ครั้ง ผมก็เลยคิดว่าคนน่าจะพบว่ามันน่าประทับใจและสะเทือนใจเพราะมันดูจะเป็นจริงกว่าเพลงที่อาจจะพลิ้วไหวหรือมีอะไรแบบเดิมๆ มากกว่าน่ะครับ เกี่ยวกับการรับบทเป็นเดวิด ไบรน์ เปาโลขอให้ผมมาเล่นฉากเล็กๆ ซึ่งแน่นอนว่าการเล่นเป็นตัวเองก็ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ผมจะทำได้ยังไง ผมบอกเปาโลว่าผมไม่ได้อยากจะเป็นนักแสดงเลย และเขาก็บอกว่า ‘เปล่า ผมไม่อยากให้คุณเป็นตัวเอง ผมอยากให้คุณเล่นเป็นเดวิด ไบรน์’ ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก! แต่ผมคิดว่าฌอน เพนน์จะต้องอินกับบทนี้มากๆ ดังนั้น ถ้าผมแค่ตอบโต้กับสิ่งที่ตัวละครของเขาพูดอย่างที่ผมจะทำในชีวิตจริง มันก็น่าจะเวิร์ค เรากลายเป็นคู่ที่พิลึกพิลั่นทีเดียวครับ ผมกับเชเยนน์ ผมคิดว่าไอเดียของการที่เราสองคนจะเป็นเพื่อนกันก็ไม่ได้ห่างไกลความจริงซักเท่าไหร่ เกี่ยวกับเชเยนน์และฌอน เพนน์ ตอนที่เปาโลพูดถึงเรื่องนี้ให้ผมฟังและผมได้อ่านบท ผมก็รู้ว่าฌอน เพนน์จะต้องอยู่ในเมคอัพกอธิค/โรเบิร์ต สมิธเกือบตลอดทั้งเรื่อง เขาต้องทำให้คุณรู้สึกชื่นชอบตัวละครตัวนี้ และไม่ใช่ว่าคุณจะมองเห็นฌอน เพนน์ในเมคอัพกอธิค แต่คุณจะต้องก้าวข้ามเรื่องนั้นไปและมีความรู้สึกชื่นชอบคนที่อยู่ใต้ลิปสติก ทรงผมและอะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้น คุณจะพบเหตุผลว่าทำไมเชเยนน์ถึงทำอย่างที่เขาทำ คุณจะได้รับรู้เหตุผลบางอย่างในตอนเริ่มต้น แต่มีหลายอย่างที่คุณจะไม่รู้จนกว่าจะผ่านไปประมาณครึ่งเรื่อง และตอนนั้นเองที่คุณจะตระหนักได้ว่าทำไมเขาถึงทำตัวแบบนี้ หรือทำไมเขาถึงเลิกเป็นนักร้อง คุณจะเริ่มปะติดปะต่อภาพต่างๆ เข้าด้วยกัน และการที่มันถูกเผยออกมาเกือบจะเป็นเหมือนเรื่องสำรองก็เป็นอะไรที่ชาญฉลาดมากๆ ผมชอบที่ผู้ชมจะต้องปะติดปะต่อชิ้นส่วนปริศนาเข้าด้วยกันครับ ประวัตินักแสดง Sean Penn (ฌอน เพนน์) — Cheyenne (เชเยนน์) ฌอน เพนน์ เจ้าของสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด กลายเป็นไอคอนของวงการภาพยนตร์อเมริกันจากการทำงานมาเกือบสามทศวรรษ เขาได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ดห้าครั้งในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จาก Dead Man Walking, Sweet and Lowdown และ I Am Sam และคว้ารางวัลออสการ์ครั้งแรกมาได้ในปี 2003 จากการแสดงสะกดใจของเขาในภาพยนตรโดยคลินท อีสต์วู้ดเร่อง Mystic River และครั้งที่สองในปี 2009 จาก Milk โดยกัส แวน แซงต์ การแสดงของเขาในบทฮาร์วีย์ มิลค์ ผู้เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มเกย์ ยังทำให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากสมาพันธ์นักแสดง สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์นิวยอร์กและสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอสแองเจลิสอีกด้วย นอกจากนี้ เพนนยังได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (She's So Lovely) และเบอรลิน (Dead Man Walking) รวมทั้งได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมสองสมัยจากงานเทศกาลภาพยนตร์เวนิสอีกด้วย (Hurlyburly และ 21 Grams) ล่าสุด เพนน์ได้แสดในดรามาโดยดั๊ก ลีแมนเร่อง Fair Game ประกบนาโอมิ วัตส์และจะได้แสดงในดรามาโดยเทอร์เรนซ์ มาลิคเรื่อง The Tree of Life ประกบแบรด พิตต์ใน This Must Be the Place ซึ่งทั้งสองเรื่องได้เข้าฉายในสายประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2011 ผลงานภาพยนตร์การกำกับเรื่องแรกของเพนน์ได้แก่ The Indian Runner ปี 1991 ซึ่งเขาเขียนบทและอำนวยการสร้างด้วย ในปี 1995 เขาได้กำกับ เขียนบทและอำนวยการสร้าง The Crossing Guard ผลงานเรื่องที่สามของเขาในฐานะผู้กำกับ/ผู้อำนวยการสร้างคือ The Pledge ปี 2001 ซึ่งนำแสดงโดยแจ็ค นิโคลสัน และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบภาพยนตร์ท็อปเท็นประจำปี 2001 โดยสมาพันธ์นักวิจารณ์แห่งชาติ ในปี 2003 เพนน์ได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์รวมเรื่อง 11'09'01 ในส่วนของอเมริกา โปรเจ็กต์สำคัญนี้ ซึ่งรวม 11 ผู้กำกับชั้นนำจากทั่วโลกมาสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นเพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเฟรนช์ ซีซาร์และได้รับรางวัลยกย่องจากสมาพันธ์นักวิจารณ์แห่งชาติ Into the Wild เป็นผลงานเรื่องที่สี่ของเพนน์ในฐานะผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างจากหนังสือนอนฟิคชันขายดีของจอน คราเคาเออร์ ซึ่งเพนน์อำนวยการสร้างและดัดแปลงบทด้วยตัวเอง เปิดตัวภายใต้เสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลามในเดือนกันยายนปี 2007 และติดลิสต์ท็อปเท็นหลายสำนักในปีนั้น นอกจากนี้ เขายังได้แสดงละครเวทีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงละครโดยอัลเฟรด เฮย์สเรื่อง Girl on the Via Flaminia และละครโดยอัลเบิร์ต อินเนาราโตเรื่อง Earthworms In Los Angeles ด้านบรอดเวย์ เพนน์ได้แสดงในละครโดยเควิน ฮีแลนเรื่อง Heartland และละครโดยจอห์น ไบรน์เรื่อง Slab Boys เขาได้แสดงในละครโดยเดวิด เร้บเรื่อง Hurlyburly ที่เวสต์วู้ด เพลย์เฮาส์และ Goose and Tom Tom ที่ลินคอล์น เซ็นเตอร์ โดยทั้งสองเรื่องกำกับโดยตัวผู้เขียนเอง ล่าสุด เพนนได้แสดงประกบนิค โนลเต้และวู้ดดี้ ฮาร์เรลสันใน The Late Henry Moss ที่เขียนบทและกำกับโดยแซม เชพเพิร์ด นักเขียนเจ้าของรางวัลพูลิทเซอร์ ในปี 2002 ฌอน เพนน์ได้รับรางวัลโมเดิร์น มาสเตอร์ อวอร์ดที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซานตา บาร์บาราและในปี 2003 เขาก็กลายเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตโดโนสเทียจากงานเทศกาลภาพยนตร์ซานเซบาสเตียน ในปี 2004 เขาได้รับรางวัลจอห์น สไตน์เบ็คจากการเป็นผู้บุกเบิกในศิลปะสร้างสรรค์ ในปี 2008 เพนน์ได้รับรางวัลดีเสิร์ท ปาล์ม อชีฟเมนต์ อวอร์ดสาขาการแสดง หลังจากที่ในปี 2007 เขาได้รับรางวัลผู้กำกับแห่งปีจาก Into the Wild จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปาล์ม สปริงส์ เพนน์ทำหน้าที่ประธานกรรมการตัดสินเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 2008 และปลายปีนั้น เขาก็ได้รับการติดยศอัศวินของฝรั่งเศส ในฐานะนักข่าว เขาได้เขียนเรื่องให้กับไทม์, อินเตอร์วิว, โรลลิง สโตนและเนชัน ในปี 2004 เขาได้เขียนบทความสองตอนลงในซานฟรานซิสโก โครนิเคิลหลังจากที่ไปเยี่ยมอิรัก ที่คุกรุ่นไปด้วยเพลิงสงคราม เป็นครั้งที่สอง ในปี 2005 เขาได้เขียนบทความห้าตอนลงหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน เพื่อรายงานข่าวจากอิหร่านระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งนำไปสู่ช่วงเวลาการถือครองอำนาจของรัฐบาลทหารอะห์มาดิเนจัด การสัมภาษณ์ฮิวโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาและราอูล คาสโตร ประธานาธิบดีของคิวบา ได้รับการตีพิมพ์ทางเนชันและฮัฟฟิงตัน โพสต์ โดยการสัมภาษณ์ประธานาธิบดีคาสโตรเป็นการสัมภาษณ์ครั้งแรกของเขาในฐานะนักข่าวต่างประเทศ Frances McDormand (ฟรานซิส แม็คดอร์มานด์) — Jane (เจน) ผลงานภาพยนตร์ของเธอได้แก่ Burn After Reading, Miss Pettigrew Lives for a Day, Friends With Money, Laurel Canyon, Something’s Gotta Give, Wonder Boys, City By The Sea, Madeline, Primal Fear, Lone Star, Palookaville, Chattahoochee, Darkman, Hidden Agenda, Short Cuts, Beyond Rangoon, Paradise Road, The Man Who Wasn’t There, Raising Arizona และ Blood Simple หลังจากนี้ เธอจะมีผลงานเรื่อง Transformers: Dark of the Moon และภาพยนตร์โดยเวส แอนเดอร์สันเรื่อง Moonlight Kingdom เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสี่ครั้งจาก Mississippi Burning, Almost Famous, North Country และ Fargo ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากการแสดงของเธอในบท ‘มาร์จ กุนเดอร์สัน’ ด้านละครเวที เธอกำลังแสดงละครบรอดเวย์โดยเดวิด ลินด์ซีย์-อาแบร์เรื่อง Good People ที่กำกับโดยแดเนียล ซัลลิแวน ผลงานเรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ The Country Girl ที่กำกับโดยไมค์ นิโคลส์, ละครโดยคาริล เชอร์ชิลเรื่อง Far Away ที่กำกับโดยสตีเฟน ดัลดรี้ที่นิวยอร์ก เธียเตอร์ เวิร์คช็อป, การแสดงในบท ‘สเตลลา’ ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนีของเธอใน A Streetcar Named Desire, The Sisters Rosenzweig ที่กำกับโดยแดเนียล ซัลลิแวนที่ลินคอล์น เซ็นเตอร์ เธียเตอร์, The Swan ที่เดอะ พับลิค เธียเตอร์, A Streetcar Named Desire (ครั้งนี้ในบท ‘บลานช์’) ที่เกท เธียเตอร์ในดับลินและละครโดยแดร์ คลับบ์เรื่อง Oedipus ที่บลู ไลท์ เธียเตอร คัมปะนี ประกบบิลลี ครูดัพ เธอได้แสดงละครเรื่อง To You, The Birdie! และ North Atlantic กับเดอะ วู้สเตอร์ กรุ๊ป Judd Hirsch (จั๊ดด์ เฮิร์สช์) — Mordecai Midler (มอร์เดอไค มิดเลอร์) จั๊ดด์ เฮิร์สช์ นักแสดงผู้เกิดจากย่านบรองซ์ เข้าศึกษาที่ซีซีเอ็นวาย ที่ซึ่งเขาเรียนเอกวิศวกรรมศาสตร์และฟิสิกส์ ความชื่นชอบละครเวทีที่เกิดขึ้นทำให้เฮิร์สช์เชื่อว่าอนาคตของเขาอยู่กับการแสดง เขาศึกษาที่เอเอดีเอและทำงานกับบริษัทหุ้นโคโลราโดก่อนที่เขาจะเปิดตัวในโลกบรอดเวย์ในปี 1966 ด้วย Barefoot in the Park เขาใช้เวลาหลายปีอยู่กับเซอร์เคิล รีเพอร์ทอรีในนิวยอร์ก ที่ซึ่งเขาได้แสดงในละครโดยแลนฟอร์ด วิลสันเรื่อง The Hot L Baltimore ซึ่งเป็นโปรดักชันครั้งแรก หลังจากเขาได้เปิดตัวในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเรื่อง The Law (1974) เฮิร์สช์ก็ได้งานเป็นขาประจำซีรีส์เรื่องแรก ด้วยการรับบทนำในดรามาตำรวจเรื่อง Delvecchio (1976-77) ระหว่างปี 1978-82 เขาได้รับบทอเล็กซ์ ไรเกอร์ในคอเมดียอดนิยมเรื่อง Taxi ซึ่งทำให้เขาได้รับสองรางวัลเอ็มมี ระหว่างที่แสดงใน Taxi เขาก็ได้แสดงละครออฟบรอดเวย์ และได้รับรางวัลโอบี อวอร์ดจากละครเรื่อง Talley's Folly โปรดักชันปี 1979 ในช่วงทศวรรษหลังจากนั้น เขาได้รับสองรางวัลโทนี อวอร์ดจากละครบรอดเวย์เรื่อง I'm Not Rappaport และ Conversations with My Father หลังจาก Taxi เขาได้รับบทนำในซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่องเช่น Detective in the House (1985), Dear John ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำจากบท ‘จอห์น เลซีย์’ และห้าซีซันของซีรีส์ซีบีเอสเรื่อง Numb3rs (1988-92) ในบทพ่อของร็อบ มอร์โรว์และเดวิด ครัมโฮลท์ จั๊ดด์ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์จากการแสดงอันยอดเยี่ยมของเขาในบทนักจิตบำบัดของทิม ฮัตตันในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง Ordinary People เขาได้รับบทอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ของรัสเซล โครว์ใน A Beautiful Mind และพ่อของเจฟฟ์ โกลด์บลัมในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์เรื่อง Independence Day เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Tower Heist ภาพยนตร์โจรกรรมที่นำแสดงโดยเบน สติลเลอร์, เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์และอลัน อัลดา Eve Hewson (อีฟ ฮิวสัน) —Mary (แมรี) ฮิวสันเกิดในดับลิน ปัจจุบัน อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ซิตี้ ที่ซึ่งเธอศึกษาที่เอ็นวายยู This Must Be the Place เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องที่สองของเธอ หลังจากภาพยนตร์อินดีฮิตของเอริกา ดันตันเรื่อง The 27 Club ซึ่งเปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ไทรเบกาปี 2008 ในปี 2010 เธอรับบทเดลลาใน For the First Time ภาพยนตร์ขนาดสั้น 16 นาทีเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาชาวไอริช ที่พยายามจะสร้างตัวเองในนิวยอร์ก ซิตี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเรียบเรียงใหม่และทำให้กลายเป็นมิวสิค วิดีโอสำหรับเพลงในชื่อเดียวกันของเดอะ สคริปต วงดนตรีไอริช Kerry Condon (เคอร์รี คอนดอน)— Rachel (ราเชล) นักแสดงหญิงชาวไอริช เคอร์รี คอนดอน ที่มีผลงานแสดงเรื่องแรกเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์เรื่อง Angela’s Ashes ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากการแสดงล่าสุดของเธอที่ประกบคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์และเฮเลน เมอร์เรนใน The Last Station ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ดในปี 2010 ในช่วงต้นปีนี้ คอนดอนได้แสดงในภาพยนตร์ไอริชเรื่อง The Runway ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ไอริชยอดเยี่ยมจากเวทีกัลเวย์ ฟิล์ม ฟลีดห์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เขียนบทและกำกับโดยเอียน พาวเวอร์ (Dental Breakdown) บอกเล่าเรื่องจริงของนักบินชาวอเมริกาใต้ ผู้ซึ่งเครื่องบินตกในทุ่งหญ้าในมัลโลว์ เขตคอร์คในปี 1983 ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ Unleashed (2005), Ned Kelly (2003) ซึ่งเธอรับบทเคท เคลลีและ Intermission (2003) ด้านละครเวที คอนดอนที่อายุ 19 ปี ได้รับบท ‘ไมรี้ด’ ใน The Lieutenant of Inishmore โดยมาร์ติน แม็คโดนัฟ ซึ่งเธอแสดงที่รอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนีและแอตแลนติก เธียเตอร์ คัมปะนี ในนิวยอร์ก สำหรับละครเรื่องนี้ เธอได้บันทึกเสียงเพลง The Patriot Game ร่วมกับเดอะ โพ้กส์ ในปีเดียวกัน เธอได้รับบทโอฟิเลียใน Hamlet ทำให้เธอเป็นนักแสดงหญิงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับบทนั้นให้กับรอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนี ในปี 2009 เธอได้แสดงใน The Cripple of Inishmaan ละครอีกเรื่องโดยมาร์ติน แม็คโดนัฟ ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลลูซิลล์ ลอร์เทลและดรามา เดสก์ อวอร์ด ด้านจอแก้ว เธอจะได้แสดงประกบดัสติน ฮอฟแมนและนิค โนลเต้ในซีรีส์เอชบีโอที่เป็นที่จับตามอง Luck ที่กำกับโดยไมเคิล แมนน์ ซีรีส์นี้จะเปิดตัวในปี 2011 นอกจากนี้ เธอยังได้รับบทออคตาเวียแห่งจูลีในซีรีส์เอชบีโอ/บีบีซีเรื่อง Rome อีกด้วย Herry Dean Stanton (แฮร์รี ดีน สแตนตัน) — Robert Plath (โรเบิร์ต แพลธ) แฮร์รี ดีน สแตนตันเป็นนักแสดงมากความสามารถในตำนาน ผู้ได้แสดงในภาพยนตร์คลาสสิกมากมายตั้งแต่ยุค 50s จนถึงปัจจุบัน เขาเกิดในเคนตั๊กกี้ ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่จะได้แสดงในละครเรื่อง Pygmalion โปรดักชันของมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ หลังจากฝึกฝนฝีมือที่พาซาเดนา เพลย์เฮาส์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ Tomahawk Trail ในปี 1957 หลังจากนั้น เขาก็ได้รับบทเล็กๆ ในจอแก้วและจอเงินหลายเรื่อง ในช่วงปลายยุค 50s และต้นยุค 60s ซึ่งรวมถึง Rawhide และ Bonanza และภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง The Adventures of Huckleberry Finn โดยไมเคิล เคอร์ติทซ์ในปี 1960 และ Cool Hand Luke ในปี 1967 ผลงานภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยเคลลีเรื่อง Heroes, ภาพยนตร์โดยจอห์น มิลเลียสเรื่อง Dillinger, ภาพยนตร์โดยฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลาเรื่อง The Godfather: Part II, เรื่อง Alien โดยริดลีย์ สก็อต, ภาพยนตร์โดยจอห์น คาร์เพนเตอร์เรื่อง Escape from New York, ภาพยนตร์โดยวิม เวนเดอร์สเรื่อง Paris, Texas, ภาพยนตร์โดยอเล็กซ์ ค็อกซ์เรื่อง Repo Man, ภาพยนตร์โดยจอห์น ฮิวจ์เรื่อง Pretty in Pink และภาพยนตร์สามเรื่องโดยเดวิด ลินช์ ได้แก่ Wild at Heart ในปี 1990, Twin Peaks: Fire Walk With Me ในปี 1992 และ The Straight Story ในปี 1999 การแสดงที่น่าจดจำเมื่อเร็วๆ นี้ของเขาได้แก่ Fear and Loathing in Las Vegas ให้กับเทอร์รี กิลเลียม, The Green Mile สำหรับแฟรงค์ ดาราบอนท์, ภาพยนตร์โดยฌอน เพนน์เรื่อง The Pledge และ The Wendell Baker Story ที่กำกับโดยแอนดรูว์และลุค วิลสัน ล่าสุด เขาได้แสดงใน Alpha Dog (2004) โดยนิค คาสซาเวทส์, ภาพยนตร์โดยแอนโธนีและโจ รุสโซเรื่อง You Me & Dupree (2005) และ Dirt (2007) สำหรับแมทธิว คาร์นาฮาน เขาได้แสดงในสี่ซีซันของซีรีส์เอชบีโอเรื่อง Big Love ในบทคุณพ่อผู้เชื่อในการมีภรรยาหลายคน 'โรมัน แกรนท์' และเขาก็ได้พากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง Rango กับจอห์นนี เด็ปป์ด้วย นอกเหนือจากการแสดง แฮร์รี ดีนยังเป็นนักดนตรีในวงแฮร์รี ดีน สแตนตันอีกด้วย ประวัติทีมงาน เปาโล ซอร์เรนติโน—ผู้กำกับและเรื่องราวโดย ผู้กำกับและมือเขียนบทเปาโล ซอร์เรนติโนเกิดในเมืองเนเปิลส์ในปี 1970 ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา One Man Up ที่นำแสดงโดยโทนี เซอร์วิลโลและอังเดร เรนซี ได้รับเลือกให้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์เวนิสปี 2001 ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลเดวิด ดิ ดอนนาเทลโล (อคาเดมี อวอร์ดของอิตาลี) และได้รับรางวัลนาสโตร ดิ อาร์เจนโต (อคาเดมี อวอร์ดของสื่อมวลชนสายภาพยนตร์ของอิตาลี) สาขาผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ในปี 2004 เขาได้กำกับ The Consequences of Love ที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายสายประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และได้รับการยกย่องจากทั้งนักวิจารณ์อิตาลีและต่างประเทศ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสำคัญๆ ของอิตาลีมากมาย ซึ่งรวมถึงห้ารางวัลเดวิด ดิ ดอนนาเทลโล สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและกำกับภาพยอดเยี่ยม สามปีให้หลัง ภาพยนตร์เรื่องที่สามของเขา The Family Friend ก็ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดของงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วยเช่นกัน ในปี 2008 Il Divo ซึ่งเป็นผลงานการร่วมมือกับโทนี เซอร์วิลโลอีกครั้ง กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามของเขาที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดที่เมืองคานส์ และได้รับรางวัลปรีซ์ ดู จูรี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาเมคอัพยอดเยี่ยมและได้รับเจ็ดรางวัลเดวิด ดิ ดอนนาเทลโล, ห้ารางวัลเซี้ยค ดิ โอโรและห้ารางวัลนาสทรี ดิ อาร์เจนโต ในปี 2010 เขาได้ตีพิมพ์นิยายเรื่องแรก Hanno tutti ragione ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม ได้รับเลือกให้เข้ารอบสำหรับพรีมิโอ สเตรกา รางวัลสูงสุดด้านวรรณกรรมของอิตาลี This Must Be the Place ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของซอร์เรนติโน เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สี่ของเขาที่ได้เข้าฉายในสายประกวดของเมืองคานส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ