กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--TCELS
ระวังยาร้ายทำให้เด็กไม่โต
เตือนพ่อแม่อย่าหลงเชื่อโฆษณา ระดมยาให้เด็กเกินสมควร จะทำให้เด็กไม่โต และจะป่วยด้วยยาในที่สุด แนะ 10 วิธีตรวจสอบยาร้ายก่อนตัดสินใจให้ลูกกิน
กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมรณรงค์พ่อแม่ผู้ปกครองใส่ใจการเจริญเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ โดยมอบหมายศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ความรู้ประชาชน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลือกบริโภคอาหารและยาอย่างมีคุณภาพ
นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลที่บุตรหลานโตเร็วเกินไป หลายคนคิดว่าเป็นเพราะอาหารที่รับประทานเข้าไป ซึ่งความจริงไม่เพียงแต่อาหารเท่านั้นที่ส่งผลโดยตรง ยาเองก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน น่าแปลกที่เด็กยุคใหม่ถูกจับให้กินยาประจำหลายขนานราวกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้ที่จะต้องกินยาหลังอาหารทุกมื้อ โดยส่วนตัวแล้วมองว่า เด็กไทยเป็นเด็กที่น่าสงสาร ถ้ามีการเก็บสถิติคงติดอันดับต้นในเรื่องการกินยา เพราะความกลัวที่เด็กจะไม่หาย โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจึงใช้นโยบายทางลัด นำยาที่แรงที่สุดเสี่ยงที่สุดมาใช้ก่อนแทนที่จะใช้ตามหลักวิชาการแพทย์ อัตราการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมจึงเยอะขึ้นมากในปัจจุบัน ถึงขนาดว่าเด็กยังไม่มีอาการติดเชื้อแต่ก็ให้ยาฆ่าเชื้อขั้นแรงสุดไว้ก่อนแล้วด้วยเหตุผลง่ายๆคือสะดวก ทั้งที่ความจริงการให้ยายิ่งเยอะยิ่งกดภูมิคุ้มกันเด็ก ทำให้โรคที่เป็นจะดีขึ้นในตอนแรก แต่หลังจากนั้นจะพบกับสภาพที่หนักกว่าเดิม โดยเฉพาะเด็กน้อยที่กำลังโต ทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะป่วยด้วยยา
นายแพทย์กฤษดา กล่าวว่า พ่อแม่ไม่ควรตื่นเต้นกับโฆษณาชวนเชื่อสวยงามของโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ แท้จริงแล้วโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของลูกคือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ที่มีทั้งเครื่องมือและหมอที่เชี่ยวชาญประจำอยู่ตลอด 24ชั่วโมง การจ่ายยาจะให้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามตนมีวิธีตรวจสอบเบื้องต้นง่ายด้วยตัวเองว่าลูกเรากำลังจะอยู่ในกลุ่มป่วยด้วยยาหรือไม่ดังนี้คือ
1. ยาภูมิแพ้และยาฆ่าเชื้อ แก้แพ้และทำให้เด็กเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องได้ ยิ่งหลายขนานยิ่งมีโอกาสตีกันกับยาชนิดอื่น ความน่ากลัวของมันอยู่ที่การต้องกินต่อเนื่องนานๆ ถ้าไม่จำเป็นเมื่อแพ้หายแล้วควรหยุดใช้ ในเด็กที่ได้ยาฆ่าเชื้อนานๆภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอจนป่วยง่าย และยาฆ่าเชื้อบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นไข้ได้เองถ้าใช้ติดต่อกันนาน(Drug fever)
2. ยาสเตียรอยด์ ตัวร้ายสุดมีทั้งแบบ พ่นจมูก พ่นคอ ยากิน และ ยาทา สเตียรอยด์ที่ว่าเป็นยายอดนิยมที่ถูกจ่ายให้คนไข้ภูมิแพ้มากโดยฤทธิ์ของมันจะไปปิดกระดูกให้หยุดโต เด็กจะตัวแกร็นและอ้วนฉุ ที่สำคัญคือจะไปทำให้กระดูกผุ ปิดกั้นความสูงของเด็กจนเสียโอกาสไปในเด็กวัยกำลังโต
3.ยาขยายหลอดลม ยากลุ่มนี้มีที่ใช้มากแต่หากได้มากก็จะทำให้เด็ก กระวนกระวาย คล้ายไฮเปอร์ลามไปถึงใจสั่น ทรมานถึงขนาดเรียนไม่รู้เรื่อง หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับทั้งคืนได้ ก็ขนาดในผู้ใหญ่ตัวโตๆยังทำให้ใจสั่นตาค้างได้ ถ้าในเด็กยิ่งน่าห่วง
4. ยาลดน้ำมูกแบบเมาๆ ยาน้ำลดน้ำมูกที่นิยมกันมีการใส่ อัลกอฮอล์ เข้าไปมาก ทำให้รสอร่อย เช่นรสองุ่น รสส้ม จิบไปแล้วเด็กจะไม่ตื่นมาโยเยเพราะเมาจากยาที่ผสมอัลกอฮอล์เป็นเด็กขี้เมาไป
5.ยาแก้ปวด อย่าเห็น พาราเซตตามอลเป็นเรื่องเล่นๆ ดูเป็นยาปลอดภัยแต่อันตราย เพราะถ้าใช้ผิดขนาดเช่นเอาของผู้ใหญ่มาแบ่งครึ่งให้เด็กก็อาจทำอันตรายต่อ ตับ ของเด็กได้ ในเด็กควรเลือกยาที่เฉพาะกับเด็กโดยตรงจะดีกว่าครับ
6. ยาลดไข้ ไม่ธรรมดาเหมือนกันโดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่ม เอ็นเสด(NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟ่น ที่เด็กป่วยไข้เลือดออกกินแล้วอาจชักได้ ในเด็กที่มีไข้ยังไม่ทราบสาเหตุไม่ควรให้ยาลดไข้กลุ่ม เร็วสั่งได้ นี้เพราะมีสิทธิ์ที่จะทำให้ช็อคได้มาก
7.ยาธาตุ เด็กน้อยปวดท้องบ่อยมักถูกป้อนด้วยยาธาตุ เอามหาหิงคุ์ทาพุงจนกลิ่นตลบ ในเด็กโรคกระเพาะถ้าได้ยาธาตุน้ำขาวพวกอะลั่มมิลค์บ่อยเกินไปยาจะไปยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุ,วิตามินรวมถึงยาอื่น การได้ธาตุอลูมิเนียมจากยาน้ำขาวพวกนี้มากไปก็อาจมีผลต่อสมองได้
8. ยาระบาย ไม่ว่าแบบน้ำ เม็ด หรือยาสวนก้น ต้องดูสุขภาพเด็กให้ดี ถ้ามีอาการเพลีย ซึมขาดน้ำอยู่แล้วยาถ่ายที่ทำให้ท้องเสียอันตรายถึงช็อคได้ ในเด็กท้องผูกต้องดูแผลปากทวาร(Anal fissure)ให้ดีก่อนสวน
9.ยาช่วยนอน ในเด็กแทบไม่มีที่ใช้ ถ้าเด็กน้อยนอนไม่หลับจริงให้หาสาเหตุให้เจอก่อน รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเด็กด้วย ย่างยาแก้โรค สมาธิสั้น ที่กินแล้วเด็กจะนิ่งจริงแต่เป็นแบบหุ่นยนต์ ดูเนือยๆ ทำตามคำสั่งได้ การรักษาที่ดีต้องใช้พฤติกรรมบำบัดและกิจกรรมบำบัดควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด
10.วิตามินสังเคราะห์ ในเด็กที่กินอาหารไม่ครบ วิตามินเสริมเป็นพระเอกช่วยที่ดี แต่ต้องระวังวิตามินประเภทสังเคราะห์อย่างกรดวิตามินเอ วิตามินอีหรือว่าน้ำมันตับปลาที่มากเกินไปเพราะอันตรายต่อตับได้
ทั้งนี้เมื่อเช็คร่วมยาลูกแล้วว่ามียาดังกล่าวอยู่ก็ใช่ว่าจะให้ทิ้งทันที เนื่องจากยาพวกนี้สะสมอยู่ในตัวเด็กนานนับเดือนนับปี ถ้าหยุดปุบปับเลยเด็กอาจมีอาการทรุดลงได้ อย่างยาสเตียรอยด์ที่เด็กภูมิแพ้ได้นานๆ การหยุดแบบหักดิบจะทำให้ต่อมหมวกไตไม่ทันตั้งตัว ทำงานไม่ทันกลายเป็นโรคป่วยด้วยต่อมหมวกไตได้
ติดต่อ:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-6445499 ต่อ 136