สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) การให้บริการตรวจเชื้อราในอาคาร/บ้านพักอาศัย

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2012 17:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การปนเปื้อนของเชื้อราในอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นอาคารปิดมิดชิดและใช้ระบบทำความเย็นและระบบระบายอากาศหมุนเวียนแทนการเปิดหน้าต่าง กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศต่างๆกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากหากไม่มีการดูแลรักษาระบบทำความเย็นและระบบระบายอากาศอย่างเหมาะสมจะก่อให้เกิดความชื้นในอากาศ ส่งผลให้สปอร์ราที่มีภายในอาคารมีการเจริญ แพร่กระจายและสะสมในอาคารมากขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพของพนักงานหรือผู้อยู่อาศัย รายงานทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำงานในอาคารที่มีการระบายอากาศไม่ดีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ อาจมีอาการแพ้ เช่น น้ำมูกไหล มีอาการคันตาและมีน้ำตาไหล ไอ จาม ระคายคอ ไปจนถึงไซนัสอักเสบ และ หอบหืด นอกจากนี้การได้รับสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ซึ่งเป็นผลจากการเจริญของเชื้อราในปริมาณสูงๆเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง มีอาการปวดศีรษะ สมาธิสั้น และมึนงง เป็นต้น แม้ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานใดที่กำหนดปริมาณเชื้อราสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในอากาศภายในอาคารสำนักงานหรือที่อยู่อาศัย แต่การตรวจติดตามปริมาณเชื้อราในอากาศภายในอาคารเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดผลกระทบของอากาศภายในอาคารต่อสุขภาพของพนักงานหรือผู้อยู่อาศัย เชื้อราที่พบในอาคาร พบได้ทั้งในอากาศและตามพื้นผิวของวัสดุต่างๆ ราที่แพร่กระจายในอากาศจะอยู่ในรูปสปอร์ สปอร์ราเข้าสู่ภายในอาคารทางประตู หน้าต่าง จากระบบระบายอากาศ และระบบทำความเย็น นอกจากนี้สปอร์จากภายนอกจะติดตามเสื้อผ้า ร่างกายของคนรวมทั้งสิ่งของต่างๆที่นำเข้ามาในอาคาร สปอร์เหล่านี้จะสะสมบนผิวหน้าของวัตถุ ฝา และพื้นในตัวอาคาร เมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมสปอร์จะงอก สร้างเอนไซม์เพื่อย่อยสลายวัตถุเหล่านั้นสำหรับเป็นแหล่งอาหารของราเอง ในขณะที่มีการเจริญราจะสร้างสปอร์ที่มีสีต่างๆ ทำให้เกิดเป็นคราบของโคโลนีราเห็นได้ชัดเจน สปอร์เหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาสู่อากาศภายในอาคารอีกครั้ง นอกจากคราบโคโลนีราเหล่านี้แล้ว ในห้องที่มีสปอร์ราในปริมาณสูงๆ จะมีกลิ่นอับเฉพาะที่เรียกว่า moldy/musty smell ด้วย ชนิดของราที่มีรายงานว่าพบบ่อยภายในอาคาร ได้แก่ Cladosporium, Penicillium, Aspergillus และ Alternaria สำหรับ Stachybotrys atra หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า S. chartarum เป็นราสีดำออกเขียว เจริญได้บนวัสดุที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบสูงแต่มีไนโตรเจนต่ำ เช่น แผ่นยิปซัม กระดาษ ไฟเบอร์บอร์ด เป็นต้น หากตรวจพบแสดงว่าในห้องดังกล่าวต้องมีความชื้นสูงตลอดเวลาและมีการปนเปื้อนของราสูงมาก วัตถุประสงค์การตรวจการปนเปื้อนของราในอาคาร เพื่อดูว่ามีปริมาณสปอร์ราในอากาศมากจนถึงระดับที่อาจจะก่อผลเสียต่อสุขภาพหรือยัง ราที่พบเป็นราก่อโรคหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ และเพื่อหาแหล่งสะสมของราในอาคาร นอกจากนี้การตรวจหาปริมาณเชื้อราหลังการฆ่าเชื้อจะเป็นการบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อว่าได้ผลเพียงใด อย่างไรก็ตามการตรวจการปนเปื้อนของราในอาคารขนาดใหญ่ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะต้องสุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และต้องใช้เทคนิคและเครื่องมือเฉพาะ โดยปกติการตรวจการปนเปื้อนราในอาคารมักจะทำเมื่อมีการร้องเรียนว่าพบเชื้อราแพร่กระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ หรือมีรายงานจากแพทย์ว่าพนักงานหรือผู้อยู่อาศัยมีอาการป่วยที่อาจเกิดจากเชื้อราในอาคารนั้นๆ ตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจ ได้แก่ อากาศในอาคารและผิวหน้าของวัสดุที่พบการปนเปื้อน เช่น ฝาผนัง โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ หลักการของการตรวจหาเชื้อราในอากาศ คือ การสุ่มเก็บตัวอย่างอากาศนำไปเพาะเชื้อบนอาหารเลี้ยงเชื้อราที่เหมาะสม วิธีการสุ่มตัวอย่างอากาศที่นิยมใช้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ ได้แก่ การสุ่มโดยใช้เครื่องเก็บตัวอย่างอากาศ (Impactor sampler) และ การสุ่มโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงส่งผลให้สปอร์ราในอากาศตกลงบนผิวหน้าของอาหารเลี้ยงเชื้อ ในกรณีของเครื่องเก็บตัวอย่างอากาศนั้น เครื่องจะทำงานตามหลักการของ “Andersen sampler” โดยอากาศที่ทราบปริมาตรจะถูกดูดผ่านแผ่นที่เจาะรู แล้วตกลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อที่เตรียมไว้ ดังนั้น ผลที่ได้จะรายงานเป็นจำนวนโคโลนีของราต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร เวลาที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 10 นาที ไม่เช่นนั้นอาหารเลี้ยงเชื้ออาจแห้งได้ ส่วนการสุ่มตัวอย่างอากาศโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงนั้น จะทำโดยเปิดจานอาหารเลี้ยงเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น เปิดไว้ 15 นาที ผลที่ได้จึงรายงานเป็นจำนวนโคโลนี/ระยะเวลา การสุ่มตัวอย่างอากาศด้วยเครื่องเก็บตัวอย่างอากาศมีข้อดีกว่าการสุ่มตัวอย่างอากาศโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง เพราะ สุ่มตัวอย่างอากาศได้มากกว่าและทราบในปริมาตรที่แน่นอน นอกจากการเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อนำไปเพาะเชื้อแล้ว อาจทำการเก็บตัวอย่างลงบนแผ่นแก้วสไลด์ แล้วนำไปส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์ วิธีการนี้สามารถดูรูปร่างและนับจำนวนสปอร์ราได้ โดยผลที่ได้จะรายงานเป็นจำนวนสปอร์ทั้งหมด/ปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร วิธีที่นิยมใช้ในการเก็บตัวอย่างราจากพื้นผิว เรียกกันว่า “Tape Lift Technique” ทำโดยใช้ เทปใส (Scotch tape) ทาบลงไปตรงบริเวณที่มีรา จากนั้นจึงดึงเทปขึ้นมาและนำไปส่องใต้กล้องจุลทรรศน์ ดูทั้งรูปร่างเส้นใย สปอร์ และจำนวนสปอร์ ผลที่นับได้จะนำไปเทียบเป็นคะแนน เช่น จำนวนสปอร์ที่นับได้ น้อยกว่า 5 สปอร์/ตัวอย่าง จะรายงานเป็น 1+ เป็นต้น นอกจากวิธีทางจุลชีววิทยาที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีวิธีอื่นๆที่นำมาใช้ตรวจหาการปนเปื้อนของรา ตัวอย่างเช่น วิธีวิเคราะห์ทางเคมี โดยตรวจหา ergosterol ด้วยเครื่อง High performance liquid chromatography (HPLC) หรือ gas chromatography และ mass spectrophotometry (GC-MS) วิธีทางอิมมูโนโลยีใช้ตรวจหาแอนติเจนของเชื้อราในตัวอย่าง และวิธีทางอณูพันธุวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจหาราแต่ละชนิดด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) โดยใช้ probes ที่จำเพาะต่อลำดับเบสของราชนิดนั้น อย่างไรก็ตามด้วยความยุ่งยากทางเทคนิค ความไวในการตรวจวิเคราะห์ต่ำ ความคลาดเคลื่อนของผลการวิเคราะห์จากการรบกวนของสารอื่นๆในตัวอย่าง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง ทำให้วิธีการเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในการนำไปใช้แทนวิธีทางจุลชีวิทยาในการตรวจการปนเปื้อนของราในอาคาร ปัจจัยที่มีผลต่อผลการตรวจการปนเปื้อนของราในอาคาร ได้แก่ วิธีการที่ใช้ในการสุ่มเก็บและตรวจตัวอย่าง และกิจกรรมหรือสภาวะภายในห้องขณะทำการเก็บตัวอย่าง เช่น อากาศขณะทำการเก็บตัวอย่างมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ พบว่าวิธีการตรวจการปนเปื้อนของราด้วยการเพาะเชื้อจะนับได้เฉพาะสปอร์ที่มีชีวิตซึ่งสามารถงอกและเจริญได้เท่านั้น สปอร์บางชนิด เช่น สปอร์ของ Stachybotrys atra ที่มีลักษณะเหนียว ไม่ฟุ้งกระจาย จะไม่สามารถพบในตัวอย่างอากาศต้องตรวจด้วยวิธี Tape lift technique เท่านั้น การสุ่มตัวอย่างอากาศโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง จะเก็บได้เฉพาะสปอร์ราที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก แต่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างสปอร์ราบางชนิด ที่มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบา เช่น Aspergillus และ Penicillium ได้ ราที่โตไวจะเจริญคลุมอาหารเลี้ยงเชื้อทำให้ราที่โตช้าเจริญได้ไม่ทันหรือไม่เจริญเลย นอกจากนี้ยังไม่มีอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดใดที่ใช้เลี้ยงเชื้อราให้เจริญได้ทุกชนิด ผลที่ได้คือ จำนวนสปอร์ที่ตรวจพบอาจต่ำกว่าที่มีอยู่จริงหรืออาจตรวจไม่พบ แม้วิธีการตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ จะสามารถนับได้ทั้งสปอร์ที่มีชีวิตและสปอร์ที่ตายแล้ว แต่ตัวอย่างที่ได้จะไม่มีความสม่ำเสมอ และบางครั้งไม่สามารถใช้แยกชนิดของราที่มีรูปร่างของสปอร์เหมือนกันได้ ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น จึงมีการแนะนำให้ใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป และใช้อาหารเลี้ยงเชื้อมากกว่า 1 ชนิด งานบริการวิเคราะห์ที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วว..สามารถให้บริการได้ คือ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอากาศ (ทั้งปริมาณแบคทีเรียและรา) ในอาคาร,สำนักงาน และโรงงาน โดยใช้ air sampler ร่วมกับวิธี swab technique (ในกรณีที่พบคราบราตามผนัง) ค่าใช้จ่าย: 1. ขึ้นกับขนาดของพื้นที่ (ทาวน์เฮาส์พื้นที่ 16-25 ตารางวาเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจปริมาณเชื้อราประมาณ 2,000 บาท) 2. หากต้องการทราบชนิดของเชื้อราจะต้องใช้เวลาและเสียค่าบริการสูง( ประมาณ 20,000 บาทต่อเชื้อ) ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการให้บริการตรวจเชื้อราในอาคาร/บ้านพักอาศัย ได้ที่ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วว. โทร. 0 2577 9000 ,0 2577 9058 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail : bhusita@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ