แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส เสนอโปรดักชั่นโน๊ตภาพยนตร์ไทยเรื่อง ก็เคยสัญญา

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2005 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส
ก็เคยสัญญา
“สาเหตุที่ความรักของคุณต้องเป็นแบบนี้ ก็มาจากชาติก่อน ๆ โน้น ที่คุณ เคยสัญญา สาบานกับใครไว้
มันถึงได้ตาม มาราวีคุณ ทุกชาติทุกชาติไป แม้แต่ชาตินี้ ก็ไม่เว้นหรอก..นิกร…”
เรื่องราวแต่ชาติปางก่อน ของ “นิกร” กำลังถูกไล่เรียงขึ้นมา จากวิธีบำบัด ด้วยการสะกดจิต….และแล้ว…
“โอ๊ย…ไม่ไหวละมั๊ง มีตั้ง สิบหก สิบเจ็ด ชาติ ยิ่งผ่านเข้ามา เนื้อคู่ของผม ก็ยิ่งพิสดารไปเรื่อยๆ…”
ดังนั้น นิกร จึงตัดสินใจ เลือกเพียง 4 ชาติ ที่เป็นหัวใจ ต้นเหตุแห่งคำสัญญา สาบาน มาให้เรา ๆ ท่าน ๆ ได้สัมผัส ณ. บัดนี้ ก็เคยสัญญา
ชาติแรก “สาวเครือฟ้า”
( ภาคเหนือ สมัย รัชกาลที่ 6 )
พงษ์ กับ ฟ้า ตัดสินใจ ที่จะผูกคอตายตกตามกัน
“เมื่อรักในชาตินี้ไม่สมหวัง หากเกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้ได้ครองคู่กันทุกชาติไป” จบสิ้นคำอธิษฐาน…เชือกถูกคล้องกับต้นไม้ และ คล้องคอ หนุ่มสาว ผู้อุทิศให้กับความรัก ฟ้าได้ตายสมใจอยาก …แต่ พงษ์ กับกิ่งไม้หัก ร่วงตกลงพื้นกระแทกหินความจำเสื่อม จึงลืมคำสัญญา ที่มีต่อ ฟ้า ทำให้หญิงสาว ต้องกลายเป็นวิญญาณเพียงลำพัง
ขณะที่ พงษ์ กำลังเข้าสู่พิธีวิวาห์ กับ สาวอื่น ผีสาว จึงต้องทำทุกทาง เพื่อดึงคนรัก ให้จำความได้ และ ตายดับมาอยู่ด้วยกัน
แต่….มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ขบวนการ ปราบผี และ หนีผี จึงเริ่มขึ้น….
ชาติสอง “ยุค ‘70”
“มองซิมองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน…” ยุคทศวรรษที่ 1970 ยุคที่คนไทยคลั่งไคล้วงดนตรี “ดิอิมพอสซิเบิล” และหนึ่งในนั้นมี “ม่อก” รวมอยู่ด้วย ม่อกชายหนุ่มตาบอดที่หลงใหลในเพลง “ทะเลไม่เคยหลับ” ของดิอิมพอสซิเบิลเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะเนื้อเพลงท่อน “มองซิมองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน” ทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนขายล็อตเตอรี่ วันหนึ่งโชคดีสุดขีด ล็อตเตอรี่ 13 ใบที่ขายไม่หมดแล้วก็คืนไม่ได้ เกิดถูกรางวัลที่ 1 ไอ้ม่อกที่กลายเป็นคุณม่อกเพียงชั่วข้ามคืนตัดสินใจขึ้นรถไฟไปขึ้นเงินที่กรุงเทพฯ
ระหว่างการเดินทาง ม่อกพบกับ “โจ๋ย” โดยบังเอิญ โจ๋ยเป็นคนหูตึง ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด หน้าฉากโจ๋ยเป็นเด็กขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยริมทางรถไฟ แต่หลังฉากเป็นนักล้วงกระเป๋า ที่สำคัญ ม่อกตกเป็นเหยื่อการล้วงกระเป๋าของโจ๋ย
ม่อกตามทวงล็อตเตอรี่ 13 ใบจากโจ๋ยแบบถึงไหนถึงกัน สารพัดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น รวมไปถึงความวุ่นวายทางการเมืองในยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่กลายเป็นจุดหักเหสำคัญของชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างคนพิการที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงของตัวเองทั้งสองคนเริ่มแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา จากศัตรูคู่ปรับกลายเป็นเพื่อนคู่หูที่เติมส่วนขาดให้กันและกันโดยไม่รู้เลยว่า...ด้วยแรงอธิษฐานจากชาติก่อน เขาทั้งสองคือเนื้อคู่กัน
ชาติสาม “UNDERGROUND”
โลกอนาคต ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนถูกแบ่งแยกชัดเจน ชาญชัย ช่างซ่อมทีวีหนุ่มโสดที่ไม่มีสาวหน้าไหนสนใจชายตามอง ความจริงปรากฏเมื่อสรพงษ์ นำคำทำนายทายทักจากหมอดูกรรม มาบอก “ที่มึงไม่มีเมียเพราะชาติก่อนไปสาบานรัก กับ ผู้หญิงเอาไว้”ความโดดเดี่ยวว้าเหว่ กับคิดไปเองว่าไม่มีทางได้พบคนรักจากชาติก่อน ทำให้ชาญชัยตัดสินใจไปหาหมอดูเพื่อแก้คำสาบาน ทุกอย่างเป็นไปตามหวัง ชาญชัยกลายเป็นหนุ่มที่สาวทั้งหลายหมายปอง แต่เพราะความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ชาญชัยต้องกลับไปหาหมอดูกรรม หวังจะรู้ว่าคู่รักคำสาบานจากชาติก่อนของตนเองเป็นใคร
เรื่องยุ่งเริ่มขึ้นอีกจนได้ เมื่อชาญชัยเข้าใจว่าคนที่เกิดมาเป็นเนื้อคู่ของตนคือ “อรอุมา” นางแบบสาวสวยสุดเซ็กซี่ อารมณ์ดี มีเมตตา ความเสียดายทำให้ชาญชัยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อขอคืนคำสาบานโดยไม่เฉลียวใจว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น เพราะ เจ้าสี่ขาที่เธอเลี้ยงไว้ต่างหาก คือเนื้อคู่…
ชาติสี่ “สารพัดสัตว์”
คู่รัก ที่สังคมไม่ยอมรับ เพราะ เขา และ เธอ ไม่ได้เป็นอย่างที่คนทั่ว ๆ ไปเป็นทำให้ “นิกร” ต้องเขาบำบัดทางจิต ด้วยการสะกดจิต ทำให้เขาได้รับรู้ เรื่องราว ในชาติต่าง ๆ สาเหตุที่ เขา และ เธอ ต้องอยู่ร่วมกัน เพราะคำสัญญา สาบาน รัก ในอดีตชาตินั่นเอง เป็นการจุดประกาย ให้เขา และ เธอ กล้าที่จะเผิชญหน้ากับสังคม
เส้นทาง สู่ “ก็เคยสัญญา”
“เมื่อรักในชาตินี้ไม่สมหวัง หากเกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้ได้ครองคู่กันทุกชาติไป”คำอธิษฐานของฟ้ากับพงษ์กลายเป็นความจริงเขาและเธอเกิดเป็นเนื้อคู่กันทุกชาติ แต่ไม่ใช่แบบที่ทั้งคู่อยากเป็นต้นกำเนิดของหนังไทยแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ “ก็เคยสัญญา” มาจาก เรียว (กิตติกร เลียวศิริกุล)ซึ่งเกิดความคิดว่า คนที่สาบานว่า จะเป็นเนื้อคู่กันทุก ๆ ชาติ แล้ว หากเกิดชาติต่อมา ไม่ได้ เป็น ผู้ชาย กับ ผู้หญิง แต่คำสาบานยังคงอยู่ เขา กับ เธอจะทำอย่างไรจากจุดเริ่มต้นนี้ เมื่อ อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา) ได้รับรู้จึงสนใจที่จะพัฒนา เป็น ภาพยนตร์ โดยชักชวน ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ “ซ้งธ์” (๙ พระคุ้มครอง) ให้มาช่วยพัฒนาบท และ กำกับ เนื่องจาก “ซ้งธ์เป็นครีเอทีฟร่ำรวยอารมณ์ขัน”
โดยเริ่มแรก ได้ทำออกมาเป็น 3 ชาติ คือ ยุคพีเรียด, ยุค 70 ชาย กับ กะเทย, ยุคปัจจุบัน ทอม กับ ดี้ แต่เมื่อ ซ้งธ์ ได้ติดต่อ สมหมาย เลิศอุฬาร (เขียนบท “แจ๋ว” “คู่แท้ปฏิหาริย์”) ทวีวัฒน์ วันทา “คุ้ย” (ขุนกระบี่ ผีระบาด) ขวัญชนม์ เพิ่มชาติ (เขียนบท ขุนกระบี่ ผีระบาด) ให้มาช่วยกันสร้างสรรค์บท ร่วมกับ อังเคิล และ ปื๊ด (ธนิตย์ จิตนุกูล) ที่ลงมาร่วมสนุกในตอนหลัง จึงเกิดการ แตกยอด เป็นหลากหลาย ถึง 17 ชาติ เช่น… คน กับ ผี , คน กับ สัตว์ , เมียงู , คน กับ มนุษย์ต่างดาว , สัตว์ กับ สัตว์ , ช้าง กับ มด , คน กับ หมู ฯลฯ จนในสุด ต้องมาคัดเลือก ให้เหลือเพียง 4 ชาติ
โดย โปรเจ็คท์ แต่เดิมจะสร้างในนาม ฟิลม์บางกอก แต่เมื่อผู้อำนวยการสร้าง สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ที่ลาออกจาก ฟิล์มบางกอกเพื่อมาก่อร่างสร้าง แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส ได้สนใจบทภาพยนตร์ เรื่องนี้ “ผมโทรศัพท์ไปขอกับเรียวกับอังเคิล” สง่าเล่า “คอนเซ็ปต์แข็งแรงดี มีความแปลก เป็นเรื่องของคนคู่เดียว ที่ผู้ชมต้องตามดูตามลุ้นว่าเกิดชาติใหม่จะเป็นอะไร”
ซ้งธ์ ถูกเรียกให้มากุมบังเหียนต่อ โดยมอบหน้าที่ ผู้กำกับ-เขียนบท-ผู้อำนวยการสร้างร่วม ซึ่งเขา ได้เกิดความคิดว่า เพื่อให้ภาพยนตร์ ที่แบ่งเป็น ชาติ ๆ นั้น มีความแตกต่างในตัวของมันเองจึงเกิดแนวความคิด “ผู้กำกับร่วมชาติ” ขึ้นมา “มองว่าถ้าต้องการความหลากหลาย ก็น่าจะเชิญผู้กำกับ ที่ถนัดเฉพาะทางนั้น ๆ มาช่วยในส่วนที่เราไม่ถนัด เพื่อให้ได้ตรงตามคอนเซ็ปท์ที่สุด” ซ้งธ์อธิบาย
ผู้กำกับร่วมชาติ ศักดิ์ชาย ดีนาน (โป๋ย) และ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล (ดุล) ที่รู้จักสนิทสนมตั้งแต่สมัยทำงานที่อาร์เอสฟิล์ม“โป๋ย เป็นคนที่สนใจเรื่องพีเรียด และถนัดงานด้าน โรแมนติกดราม่า ส่วนพี่ดุล จะมีมุมมองในทางคอมเมดี้ที่ใหม่ ค่อนข้างเพี้ยน ๆ ดี “
ซ้งธ์ อธิบายถึงเหตุผลหลักที่เลือกผู้กำกับ 2 คนนี้ โดยมอบหมายให้ โป๋ย มาร่วมกำกับในชาติที่ 1 ในส่วนที่เป็นเนื้อหาหลัก ที่มีความโรแมนติก ดราม่า ผสมอยู่ โดย ซ้งธ์ จะรับผิดชอบในส่วนที่เป็น คอมเมดี้ ใช้ชื่อว่า “ชาติ สาวเครือฟ้า”
“ตอนเด็กผมชอบอ่านหนังสือ ชอบอ่านนิยายในห้องสมุด อ่านสารคดีที่เกี่ยวกับภาคเหนือ มีจินตนาการถึงสาวเหนือ หน้าตาสะสวย แต่งตัวแบบโบราณ เกล้าผมมวย เหมือนสาวเครือฟ้า เหมือนที่ดูหนัง เสียงซึงที่สันทราย กับ แม่อายสะอื้น ที่ฉายตามงานวัด”
ผู้กำกับ ศักดิ์ชาย ดีนาน เปิดใจ
แรกเริ่มเดิมทีโครงเรื่องแรกเกิดขึ้นในภาคกลางแบบยุค “แผลเก่า” ขวัญกับเรียม ลูกกำนันรักกับสาวใช้ เมื่อรักไม่สมหวัง ทั้งคู่ชวนกันไปฆ่าตัวตาย …แต่เมื่อศักดิ์ชายเข้ามารับงานกำกับ เขากลับแปรเปลี่ยนเรื่องราวให้เป็นความรักของสาวเหนือกับหนุ่มเมืองใต้ตรงตามจินตนาการ
ผู้กำกับศักดิ์ชาย ตั้งใจทำให้หนังออกมาเป็นแนวหนังผีโรแมนติกตามแบบฉบับหนังผีอมตะอย่าง “แม่นาคพระโขนง” จำลองบรรยากาศให้เป็นเหมือนหนังไทยยุคก่อนตอนสมัยเด็ก ตอนผีปรากฏตัวเพื่อมาบีบคอคน ต้องมีลมพัด ต้องมีเสียงหมาเห่าหอนโหยหวน ซึ่งผู้กำกับ ซ้งธ์ จะคอยแทรกอารมณ์ขัน แบบไทยๆอย่างการหนีผีขึ้นต้นไม้ หนีผีขึ้นหลังคา หรือ ฉากที่น่ากลัว อย่าง โลงศพแตก ผีสาวอาละวาด “เป็นรสชาติแบบไทยแท้ ๆ ที่จัดจ้าน
ทั้งรัก เศร้า ตลก ตื่นเต้น เขย่าขวัญ ผสมกันอย่างกลมกล่อม”ซ้งธ์ ให้คำจำกัดความของ ชาติแรก
ส่วน ผู้กำกับ ดุลยสิทธ์ นิยมกุล ได้รับเชิญ ให้มาดูแลในชาติที่ 3 ซึ่งเป็นยุค “UNDERGROUND”
โดยนำเสนอผ่านบทของซ้งธ์ที่ต้องการให้ชาตินี้เป็นชาติอนาคตที่บ้านเมืองล่มสลาย กลายเป็นยุคเผด็จการณ์ ที่ใกล้เคียงกับ จีนแดงในยุคเหมาเจ๋อตุง “พยายามยึดพระเอกชาญชัยเป็นหลัก พระเอกเป็นคนมีอายุ ไม่มีใครสนใจ
ล้มเหลวในชีวิตความรัก แม้กระทั่งคนแก่ยังมีสาวเซ็กซี่แนบข้าง”ผู้กำกับดุลบอกถึงแนวทางของหนัง “เรื่องหลักจะเล่าเป็นแนวดรามา ส่วนเรื่องรอบข้างจะเป็นตัวสร้างสีสัน สร้างอารมณ์ขัน”
บทบาทการรับผิดชอบแบบเต็มๆ ของ ผู้กำกับ “ซ้งธ์” ธีระธร คือ ชาติที่ 2 “ยุค 70” กับ ชาติที่ 4 “ยุคสารพัดสัตว์” ที่ทั้งเขียนบท และ กำกับ“โจทย์ของชาติสองกำหนดให้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชายตั้งแต่ต้น”ผู้กำกับ-เขียนบท ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ซ้งธ์) เล่า “มันก็เลยต้องเป็นกะเทย หรือเกิดมาเป็นกะเทย แต่เผอิญช่วงนั้นหนังเกี่ยวกับกะเทยเยอะ“เรียว” ก็ไปทำหนังกะเทย “พรางชมพู” ก็เลยต้องเปลี่ยนใหม่”
ผลลัพธ์ที่ออกมากลายเป็นเรื่องมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชาย เป็นเพื่อนคู่หูที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เพื่อให้พล็อตเรื่องน่าสนใจมากขึ้น เพิ่มความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ตัวละครหลักก็เลยถูกกำหนดให้เป็นคนพิการ คนหนึ่งตาบอด คนหนึ่งหูหนวก
“ได้แรงบันดาลใจจากหนังฮอลลีวู้ด See no evil, hear no evil” ซ้งธ์อธิบาย “ฉากสำคัญที่อธิบายทุกอย่างคือฉากที่ทั้งคู่ต่อยกับแมงดาจะเห็นว่าการที่ทั้งสองคนพึ่งพาอาศัยกันทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆได้”และ ในชาติที่ 4 ซึ่ง เป็นเสมือนแกนของเรื่อง เนื่องจาก เป็นตัวเกริ่นนำ ก่อนเข้าแต่ละชาติ และ เป็นบทสรุปของเรื่อง “เรามองว่า เรื่องทั้งหมด เกิดมาจาก คู่รักในยุคอนาคต ที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับปัจจุบันแต่ที่แตกต่างสุดขั้ว คือวิถีชีวิต ที่ไม่มีใครคาดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ซึ่งเป็นไอเดีย ของพี่อังเคิล”ซ้งธ์ เล่าคร่าว ๆ แบบปิดมุขจบไว้ “ต้องดู ถึงจะรู้ว่า คืออะไร”
นักแสดงนำ
ชาติแรก
ความยากของการถ่ายทำภาพยนตร์ในชาติแรก นอกจากต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องศิลปวัฒนธรรม
และภาษาพูดโบราณของทางภาคเหนือ ยังต้องเฟ้นหานักแสดงที่เหมาะสมกับบทเพื่อความสมจริง โดยเฉพาะ “ฟ้า” ซึ่งเป็นนางเอกตามแบบฉบับหนังไทยสมัยก่อน เป็นสาวชาวบ้าน และ ที่สำคัญต้องเป็นคนเจ้าน้ำตา การคัดเลือกนักแสดงที่จะมารับบท “ฟ้า” สาวชาวบ้านอาภัพรัก กลายเป็นงานที่ลำบากยากเย็น หลังประกาศคัดเลือกตัวแสดงมานานนับเดือน ยังหานางเอกที่ถูกใจผู้กำกับไม่เจอ แต่สุดท้ายก็ได้สุภาวดี อรรคนิตย์ (ฝน) ที่ผ่านงานแสดงละครโทรทัศน์ “เทวดาเดินดิน” มารับบท “มีคนมาชวนไปเล่นเป็นผี ก็เลยลองมาคัดเลือกดู คิดแค่จะได้เล่นหนังใหญ่ ไม่คิดว่าจะได้เป็นนางเอก”
ฝนสารภาพ “ทีมงานบอกว่าชอบตอนบีบคอชาวบ้าน มันเหมือนจะฆ่าคนจริงๆ”“ฝนเป็นคนอารมณ์อ่อนไหว” เธอพูดถึงตัวเอง “ถ้ารู้สึกรัก ซึ้ง เสียใจ โกรธ แล้วทำอะไรไม่ได้ ก็จะร้องไห้ เป็นคนร้องไห้เก่ง”
เพราะเคยเรียนการแสดงสมัยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ฝนมองนางเอกฟ้าด้วยแง่มุมที่แปลกตาน่าสนใจ “ฟ้าเป็นผู้หญิงที่บูชาความรัก” ฝนเล่า “ฟ้าไม่ตั้งใจมาหลอกคน แค่ต้องการกลับมาทวงสัญญารักจากพงษ์ยังคิดว่าเขายังรัก เห็นก็อยากเข้าไปกอด แต่เขาไม่เคยกอดตอบ หนำซ้ำยังแสดงท่าขยะแขยง คอยหาหมอผีมาทำร้าย ก็เลยเกิดความกดดัน เกิดความแค้น นึกว่าผู้ชายหลอกให้ฆ่าตัวตายเพื่อตัวเองจะได้แต่งงานใหม่ เลยอยากเอาคืน รักมากก็เลยเกลียดมาก”ในแง่ของการตีความตัวละคร ฝนมองฟ้าว่าเหมือนคนที่กำลังหลอกตัวเอง หลอกตัวเองว่ายังเป็นคน
ทั้ง ๆ ที่หน้าตาเป็นผี ไม่มีมนุษย์คนไหนกล้าอยู่ใกล้ เหตุการณ์ตามท้องเรื่องเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน ฟ้าเลยยังไม่ตระหนักว่าตัวเองตายแล้ว เหมือนที่คนโบราณเคยบอกในการแสดงเป็นผี ฝนเลือกที่จะทำทุกอย่างให้ช้าลง เดินช้า พูดช้า ตาแข็งกร้าว จ้องแบบไม่กะพริบ หวีผมแสกกลาง พยายามให้ผมปิดหน้าเข้าไว้ จะได้ดูน่ากลัว ที่น่าประหลาดใจก็คือ ทุกครั้งที่เธอเล่นฉากผูกคอตาย หมามักหอนต้อนรับเสมอ
อภินันท์ ประเสริฐวัฒนะกุล (เอ็ม) นักแสดงหนุ่มมาแรงตอบตกลงรับเล่นเป็นพระเอกพงษ์ทันทีที่ได้อ่านบท “ตอนแรกคิดว่าเป็นหนังเลิฟสตอรี่ ออกจะน้ำเน่าด้วยซ้ำแต่พอรู้ว่าพระเอกฆ่าตัวตายแต่ดันไม่ตาย รู้สึกอึ้ง ยอมรับตอนนั้นเลยว่าคนเขียนบทช่างคิด” เอ็มเล่า“ผมคิดว่านี่เป็นจุดที่คนอื่นมองไม่เห็น การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยาก
พอฆ่าตัวตายแล้วแต่ดันตายคนเดียว อีกคนจะทำอย่างไร จะฆ่าตัวตายตามอีก ก็ยากเหลือเกินกว่าจะสำเร็จ”เอ็มยกย่องการทำงานของศักดิ์ชาย ดีนานเป็นอย่างมาก ทั้งที่เขาเพิ่งกำกับหนังเป็นเรื่องแรก “ผู้กำกับเป็นคนละเอียด มองเห็นภาพทุกอย่างในหัว”ชาติสองผู้กำกับซ้งธ์ รู้จักสนิทสนมกับ “ลิฟท์” สุพจน์ จันทร์เจริญ มาตั้งแต่สมัยทำงานที่อาร์เอสฟิล์ม แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เขาตัดสินใจเลือกลิฟท์ “ผมเปิดโอกาสให้กับดาราคนอื่นก่อน แต่ถ้าเลือกใครไม่ได้จริงๆก็จะเอาลิฟท์” ซ้งธ์บอก“ลิฟท์เป็นคนตั้งใจ เป็นตลกที่เล่นบทชีวิตได้ บุคลิกก็ตรงกับตัวละคร เสียงดัง เฮฮา”
ส่วนเหตุผลที่ผู้กำกับซ้งธ์ เลือก “เอก” วิชัย จงประสิทธิพร “ผมเห็นจากโฆษณาบัตรวีซาชุดเจมส์ บอนด์ คิดว่าน่าจะมีศักยภาพที่จะเล่นเป็นตัวนำได้แถมยังเคยเล่นละครเวทีเป็นคนตาบอด”“ตอนที่คนจากแม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส ติดต่อไป ยังรู้สึกเฉย ๆ” ลิฟท์เปิดใจ“แต่พอได้อ่านบท มันกลายเป็นตัวละครที่ไม่เคยเล่นมาก่อน เป็นชีวิตคนจริงๆ
ได้แสดงความรู้สึกหลากหลาย มองคนในแง่ร้าย เห็นแก่ตัว ขี้โมโหแต่ลึกๆเป็นคนดี อ่านแล้วชอบ รู้สึกท้าทายดี”ความท้าทายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักแสดงอย่างลิฟท์ เพราะตลอดชีวิตของการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ลิฟท์ ได้บทที่แตกต่างจากตัวเองอย่างสิ้นเชิงเสมอ สมัยที่แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก “เจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ” ลิฟท์แสดงเป็นผู้ชายที่ต้องปลอมตัวเป็นผู้หญิง, ในเรื่อง “ปาฏิหาริย์ โอม-สมหวัง” ลิฟท์แสดงเป็นเด็กเสิร์ฟน้ำในกองถ่ายภาพยนตร์ ที่เผอิญถูกมนต์วิเศษเสกร่างให้สลับตัวกับดาราใหญ่นิสัยเย่อหยิ่ง ลิฟท์ตีความการเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายของโจ๋ยนักล้วงกระเป๋าหูตึงว่าเกิดจากปูมหลังที่ต้องใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบตามลำพัง ไม่มีพ่อแม่ดูแลเอาใจใส่
การเป็นคนหูตึงคือปมด้อยของโจ๋ย ได้ยินไม่ชัด อ่านปากไม่ทัน ก็พาลคิดว่ากำลังถูกด่า อ่านปากตีความเพี้ยน ก็หาว่าเขาด่าอีก ชอบเอะอะโวยวาย ทำตัวนักเลงเพื่อปกปิดความอ่อนแอ
“ผมโชคดีที่มีคุณยายหูตึง” ลิฟท์เล่าถึงประสบการณ์ตอนเด็ก “ยายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เวลาพูดแล้วแกได้ยินเพี้ยน หรือเวลาถามอย่างแต่แกฟังเป็นอีกอย่าง แกก็จะหาว่าดื้อ ไม่พอใจก็บ่น ไม่ค่อยฟังคนอื่น การที่ไม่ค่อยได้ยินทำให้แกชอบพูดคนเดียว พูดให้มากที่สุด เพื่อลดปมด้อย ฟังไม่ได้เรื่องแล้วเอามาตีความเอง แถมตีความในทางลบด้วย”ขณะที่ลิฟท์เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของผู้กำกับซ้งธ์ในหนังชาติสอง เอก วิชัย กลับตรงกันข้าม “ตอนแรกเขาจะให้มาเป็นดารารับเชิญขายล็อตเตอรี่แค่ฉากเดียว แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าผมได้เป็นดารานำคู่กับลิฟท์”เพราะเป็นบัณฑิตคณะศิลปกรรม สถาบันราชภัฏสวนดุสิต เอก วิชัยมักเปรียบตัวเองเป็นสีสันขณะที่ฟิล์มภาพยนตร์เป็นเฟรมผ้าใบ เขามอง “ม่อก” ตัวละครที่แสดงว่าเป็นคนน่าสงสาร “ผมว่าลึก ๆ แล้วคนพิการทุกคนคงเศร้า เพราะมีอวัยวะไม่ครบสามสิบสอง” เอก วิชัยวิเคราะห์ภาวะจิตใจของตัวละคร “แต่คนอย่างม่อกน่าจะเศร้ากว่าคนพิการทั่วไป เพราะเขาไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตาบอด เลยสร้างกำแพงขึ้นมากั้น วางฟอร์ม ทำตัวมั่นใจ หลอกทุกคนว่าตาไม่บอด แต่ยิ่งม่อกแสดงตัวว่ามั่นใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจมากขึ้นเท่านั้น”ฉากที่โจ๋ยส่งเสียงดังนำทางม่อก อาจสร้างเสียงหัวเราะสนุกสนานให้กับผู้ชม แต่สำหรับเอก วิชัยซึ่งมองจากข้างในของตัวละครกลับบอกว่านี่เป็นฉากที่เศร้ามากเอก วิชัย อาศัยการแสดงของแวล คิลเมอร์ที่รับบทหมอนวดตาบอดในหนัง At First Sight เป็นต้นแบบ “การแสดงของเขาเนียนมาก เรารู้ว่าพระเอกตาบอดพร้อมกับนางเอกในหนัง” เอกเล่า “คนตาบอดต้องใช้หูฟังสัญชาตญาณทำให้ต้องเอาหูนำ เวลาไปไหนต้องเอียงหูไปข้างหน้า มือก็ต้องสัมผัสเปะปะโน่นนี่ตลอดเวลา แต่เปะปะมากก็ไม่ได้เพราะม่อกเป็นคนมีฟอร์ม ทุกย่างก้าวก็เลยไม่มั่นคง ไม่รู้จะเดินไปเหยียบอะไร ลองหลับตาเดินในห้อง ชนโน่นชนนี่ตลอด เลยรู้ว่าทุกข์จริงๆ เพราะชนแล้วเจ็บ”เช่นเดียวกัน ทุกครั้งเมื่ออยู่หน้ากองถ่าย เอก วิชัยเตรียมตัวก่อนการแสดงด้วยการหลับตาลองซ้อมบทในฉากจริงก่อน จะได้รู้ว่าเสียงจะมาทางไหน มือจะต้องสัมผัสอะไรบ้าง แม้จะเล่นเข้าขากันอย่างดีเยี่ยม แต่วิธีการค้นหาตัวตนคนพิการของทั้งลิฟท์กับเอก วิชัยกลับสวนทางกัน“กว่าจะหาตัวตนจริงของโจ๋ยพบก็เสียเวลาไปไม่น้อย” ลิฟท์เล่า “ตอนถ่ายวันแรกก็ยังหาไม่เจอ บางทีตอนเล่นคิดแต่เรื่องการแสดง คิดแต่เรื่องอารมณ์ในการแสดง จนบางครั้งลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ตัวเองเป็นคนหูตึง ต้องให้ผู้กำกับช่วยแนะนำกว่าจะเจอ”“แรก ๆ ไปให้ความสำคัญกับการตาบอด” เอก วิชัยบอก “แต่จริงๆไม่ใช่ ตาบอดเป็นเพียงแค่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างของตัวละคร ทำให้เล่นยากขึ้นอีกนิด แต่แกนหลักอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกข้างใน ต้องเล่นตามเรื่อง ไม่ต้องให้ความสำคัญพิเศษกับการตาบอด
ชาติ สาม
ปวริศร์ มงคลพิสิฐ (แบงค์) นักแสดงที่โด่งดังในระดับอินเตอร์ฯ จากหนัง Bangkok Dangerous
ได้รับเลือกให้มารับบทชาญชัย เพราะตามบทระบุให้พระเอกเป็นคนที่ดูทรุดโทรม ไร้ค่า ไม่มีอนาคตแบงค์เองก็ถูกใจในตัวละครที่แสดง “ชอบตรงที่เป็นดรามา มีอารมณ์ผสม” เขาเล่า “เป็นอารมณ์ขันที่ไม่ต้องออกท่าทางตลก”
อรอุมา สาวสวยที่ทำให้ชีวิตของชาญชัยเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แสดงโดย ภิสารัตน์ วัชรคีรินทร์ (แพร) สาวสวย สดใส ร่าเริง ที่มีตำแหน่งสาว Cleo ประจำปี 2547 รับประกันคุณภาพ “นี่เป็นหนังเรื่องแรก” แพรเล่าพร้อมรอยยิ้ม“อ่านบท คิดว่าไม่น่ายากอะไร เพราะค่อนข้างเป็นยุคสมัยปัจจุบัน ต้องปรับตัวนิดหน่อย
ต้องทำให้ตัวเองดูสวย ดูเป็นนางในฝัน”ตอนที่แพรเข้าไปคัดเลือกตัวแสดงที่แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส เธอต้องพบกับความประหลาดใจ เพราะนอกจากจะต้องลองเล่นบทอรอุมาแล้ว ยังได้ลองเล่นบทของฟ้าซึ่งเป็นนางเอกในชาติแรกด้วย“ต้องเล่นเป็นฟ้าที่กำลังจะผูกคอตาย ตัวเองตายแล้วแต่ผู้ชายไม่ตาย” แพรบรรยาย “ยากเหมือนกัน ต้องเล่นอารมณ์เยอะกว่า แต่อีกบทเป็นแบบอ่อนหวาน ใครเดินผ่านหน้าบ้านต้องชะเง้อมอง”นอกจากเข้าเรียนหลักสูตรการแสดงเพื่อเตรียมตัวเป็นนักแสดงอาชีพในอนาคตข้างหน้าแล้ว เพื่อให้การแสดงภาพยนตร์โรงใหญ่เรื่องแรกในชีวิตอย่าง “ก็เคยสัญญา” เป็นไปอย่างราบรื่น แพรยังเตรียมตัวเพิ่มเติมด้วยการเข้าเวิร์กช็อปร่วมกับผู้กำกับและแอ็กติ้งโค้ช ต้องศึกษาเรื่องมุมกล้อง ต้องฝึกพูดให้ช้าลง “โฆษณาต้องโอเวอร์แอ็กติ้ง หลุดจากความเป็นจริงหน่อยๆ”
แพรเปรียบการแสดงภาพยนตร์กับภาพยนตร์โฆษณาที่เธอแสดงมาแล้วมากกว่า 50 เรื่อง “แต่หนังต้องเล่นให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด”กับการทำงานร่วมกับผู้กำกับดุลยสิทธิ์ “พี่เขาสอนหลายอย่าง ทำงานเร็ว แล้วก็ดีด้วย” แพรเปิดใจ “ก่อนเล่นก็ซ้อมกัน ทำให้ไม่เครียด”
ชาติสี่
วรุฒ วรธรรม (โอ) รับบทเป็น นิกร
ชายหนุ่มในโลกอนาคตที่มีความสงสัยเกี่ยวกับชาติกำเนิดที่มาของตัวเองในชาติที่แล้ว และก่อนหน้านั้น
พระเอกและพิธีกรหนุ่มอารมณ์ดี ขี้เล่น เจ้าของฉายานักอำตัวยงคนหนึ่งของวงการ สมัยเด็กใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน แต่บุคลิกหน้าตาดันไปเข้าตาผู้กำกับฯ รุจน์ รณภพ เลยชักชวนให้มาแจ้งเกิดในวงการจากภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม (2531) คู่กับ จินตรา สุขพัฒน์ ตามด้วย โก๊ะจ๋าป่านะโก๊ะ (2534) หลังจากนั้นถึงเริ่มเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์ ก่อนที่จะหันมาจับงานพิธีกรอย่างเต็มตัว โดยปัจจุบันเป็นพิธีกรถึง 5 รายการ
“ตอนที่ทีมงานติดต่อมาเขาส่งบทหนังเรื่อง “ก็เคยสัญญา” ทั้งเรื่องมาให้อ่าน พออ่านบทแล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องแปลกดี น่ารัก มีตลกร้ายผสมอยู่ด้วย ผมรับบทเป็นนิกร คาแร็กเตอร์เป็นคนขี้สงสัย อยากรู้ว่าชาติที่แล้วตัวเองเกิดเป็นอะไร ชาติต่อมาเป็นอะไร และทำไมชาตินี้ต้องเป็นแบบนี้ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปจะได้เจอเนื้อคู่หรือเปล่า เนื้อคู่เป็นใคร ถือเป็นบทสำคัญที่เชื่อมโยงเนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้ และก็เป็นการกลับมาสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้งสำหรับผมที่หายไปนานกว่า 10 ปี พอได้มีโอกาสมาเล่นหนังอีกครั้ง ผมก็อยากมาดูงานในกองถ่ายหนังว่าเขามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เวลาว่างจากเข้าฉากก็จะคอยมองตากล้อง ช่างจัดไฟ บางทีก็เข้าไปนั่งคุยกับเขาด้วย”
“สำหรับฉากที่ประทับใจของผมเป็นฉากอารมณ์ที่เข้ากับน้องเมย์ซึ่งให้ความรู้สึกอบอุ่น ๆ เพราะในเรื่องผมต้องแคร์ความรู้สึกของเมย์มาก ๆ เพราะสังคมที่ผมอยู่กับเมย์มีเพียงเรา 2 คน เท่านั้นที่ยังเป็นคู่รักกัน ส่วนฉากสนุก ๆ ก็มีฉากที่ได้เข้ากับพี่สมเล็กซึ่งเป็นจิตแพทย์ในเรื่อง ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับพี่สมเล็กมาก่อนเลยรับส่งมุขกันลื่นไหลเรียกเสียงหัวเราะให้ทีมงานได้ตลอดเวลาครับ ส่วนตัวผมอยากให้คนได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะว่าหนังเรื่องนี้มีหลายตอน ตั้งแต่หัวเรื่องถึงท้ายเรื่องมีหลายฉากที่น่าสนใจให้แง่คิดเกี่ยวกับมุมมองด้านความรัก และความสนุกสนานรวมอยู่ด้วย ดูแล้วจะทำให้เรามองความรักสำคัญมากกว่าที่เคยมองครับ”
พิชญ์นาฏ สาขากร (เมย์) รับบทเป็น ประไพ
หญิงสาวที่พบรักกับมนุษย์ด้วยกันในโลกอนาคตที่สังคมแปรเปลี่ยนไป
นักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ ลูกครึ่งไทย — จีน ถือเป็นนักแสดงหญิงอีกคนหนึ่งที่มาแรงใน พ.ศ. นี้ เข้าวงการมาจากงานโฆษณาและมิวสิควิดีโอ จนกระทั่งมาแจ้งเกิดจากบทร้ายจากละครโทรทัศน์เรื่อง สะใภ้จ้าว (2545) ก็ทำให้ชื่อของเธอแจ้งเกิดในวงการอย่างเต็มตัว และมีผลงานตามมาอีกมากมาย “พี่ซ้งธ์เป็นคนชักชวนเมย์เข้ามาเล่นเรื่อง “ก็เคยสัญญา” นี้ค่ะ ก่อนหน้านี้เมย์เคยร่วมงานกับพี่ซ้งธ์มาก่อนในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง พี่ซ้งธ์เป็นคนทำงานเก่ง เป็นกันเอง คุยสนุก เมย์เองก็เคยได้ดูหนังเรื่อง 9 พระคุ้มครอง ที่พี่ซ้งธ์เคยกำกับก็รู้สึกชอบ สำหรับบทของเมย์ในเรื่องนี้ถึงแม้จะไม่เยอะ แต่ก็ถือว่าเป็นบทที่มีความสำคัญมาก ตอนแรกที่เมย์อ่านบทเมย์ว่าบทมีความน่าสนใจดี มีเรื่องราววุ่น ๆ เข้ามาเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันให้คนดูได้ติดตามอยู่ตลอด จนมาเฉลยตอนจบสุดท้ายเป็น “ก็เคยสัญญา” เนื้อเรื่องก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและคำสาบาน ส่วนตัวเมย์มีความเชื่อเหมือนกันสำหรับเรื่องที่คนเราได้มาเจอกันในชาตินี้ เป็นเพราะว่าชาติที่แล้วเราอาจจะทำบุญมาด้วยกันมา ส่วนการทำงานกับพี่โอเคยร่วมงานกันมาจากเรื่องละครโทรทัศน์เรื่อง X 4 เสือ สิงห์ กระทิง โสด พี่โอเขาเป็นคนน่ารัก สบาย ๆ ตลก ๆ ฮา ๆ ส่วนเรื่องการแสดงพี่โอก็คอยรับส่งอารมณ์ให้อยู่ตลอด นอกจากนี้เวลาที่เราติดขัดอะไรก็เป็นที่ปรึกษาได้”
งานสร้าง
“ สาวเครือฟ้า”
“ฉากที่ผมชอบที่สุดคือฉากที่พระเอกไปเที่ยวงานวัด แล้วเจอนางเอกที่เป็นนางรำ ผมมีภาพในความฝัน แล้วก็ทำได้อย่างที่ต้องการ” ผู้กำกับศักดิ์ชาย กล่าวฉากนี้ถือเป็นฉากใหญ่ของหนัง ต้องใช้ตัวประกอบมากกว่า 60 คน ใช้นางรำที่นั่งรถตู้จากจังหวัดเชียงใหม่มาถ่ายที่พระนครศรีอยุธยาอีก 20 คน ถ่ายเสร็จก็นั่งรถตู้คันเดิมกลับ
“วัดนี้เป็นวัดมอญอยู่ที่อยุธยา” โปรดักชั่นดีไซเนอร์ จีรยุทธ ประชุมรัตน์ (ป๋อง) บอก “ปัญหาคือทำอย่างไรให้ภาคกลางมีกลิ่นอายของภาคเหนือ คิดว่าต้องหาเจดีย์แบบพม่ามาช่วยเล่าเรื่อง แล้ววัดนี้ก็มีเจดีย์แบบที่ว่าพอดี”ต้นไม้ที่พงษ์กับฟ้าใช้ผูกคอตายก็อยู่ริมคันนาหลังวัดขนอน “ช่วงที่ขับรถหาโลเคชั่น ตัดสินใจเลี้ยวรถเข้าทางลูกรัง เห็นต้นมะขามที่ว่าอยู่ไกลลิบจากถนน สั่งคนขับหยุดรถ เพราะคิดว่าต้นนี้ใช่แน่นอน” โปรดักชั่นดีไซเนอร์ป๋องเล่า
“ตอนนั้นต้นมะขามกำลังทิ้งใบ กิ่งแกนเหมาะใช้ผูกคอตาย ความสูงก็ไม่มาก ตอนแรกคิดว่าจะเอาต้นโพธิ์หรือต้นไม้ใหญ่แต่พอคิดว่าการที่คนๆหนึ่งจะผูกคอตายแล้วต้องปีนขึ้นไป ดูมันยุ่งยากเกินไป ไม่สมจริง เอาแค่ยืนบนขอนไม้ แล้วเหวี่ยงเชือกขึ้นไปได้ ก็น่าจะพอ”ต้นมะขามที่ว่ามีประวัติ เคยโดนตัดที่โคนต้นไปครึ่งหนึ่ง แต่ใบเลื่อยหัก จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ คนตัดไม่ยอมตัดต่อ กว่าจะถ่ายฉากผูกคอตายที่ต้นมะขามได้ก็ต้องไปถึงสามครั้งสามคราเพราะเจอฝนตลอด“ความตลก ของชาตินี้ อยู่ที่การหนีผี ผมต้องการความเป็นไทยๆ ที่เว่อร์กว่าปกติ”
จากความต้องการของผู้กำกับ ซ้งธ์ ธีระธร…ทำงานทีมสร้าง ต้อง เนรมิตหลังคาบ้านขนาดใหญ่ มาไว้ที่พื้น
เพื่อให้นักแสดง ปีนขึ้น ปีนลง อย่างสนุก รวมถึง ฉาก ต้นมะละกอ ไฮดรอริก ที่ใช้โยกตามแรงของคนโหน
“ซึ่งฉากนี้ ได้ พี่ถั่วแระ มาเสี่ยงตาย เกาะต้นมะละกอหนีผี ฮามาก”ร่วมถึงการหา ศาลาเก่านับร้อยปี มาเป็น ฉากสำหรับ โลงแตก “ความน่ากลัว นอกเหนือจากผีในเรื่องแล้ว บนศาลา ยังมีเสาตกน้ำมันที่ชาวบ้านนับถือ ซึ่งช่วยบรรยากาศกองถ่ายให้น่ากลัวขึ้น”
“ยุค 70”
ความหลงใหลในยุคดิสโก้ของผู้กำกับซ้งธ์คือสาเหตุที่ทำให้หนังชาติสองย้อนกลับไปในยุคทศวรรษที่ 1970 แรกเริ่มเดิมทีซ้งธ์อยากจะทำบรรยากาศของหนังให้เป็นยุคดิสโก้แบบ Saturday Night Fever
แต่เพราะดิสโก้ในไทยไม่ชัดเจนเหมือนเมืองนอก ไม่มีเพลงดิสโก้แบบไทยๆ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนใหม่
“ระยะหลัง ๆ วง ดิอิมพอสซิเบิล กลับมาเล่นคอนเสิร์ตใหม่ ก็เลยได้ไอเดีย” ซ้งธ์พูดถึงวงดนตรีดังที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของไทยในยุคทศวรรษที่ 1970 “ผมเปลี่ยนบรรยากาศของหนังเป็นยุคดิอิมฯ อยากเอาวงดิอิมฯตัวจริงมาเล่นด้วยซ้ำ นี่ก็เพราะความชอบส่วนตัวเหมือนกัน นอกจากนั้นวงดิอิมฯยังมีเพลงรัก ก็เลยเอามาประกอบหนังด้วย”
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ