กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ก.ล.ต.
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบให้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ใน 4 เรื่อง ได้แก่
(1) การให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำส่งเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่าเงินสมทบของนายจ้างได้ เพื่อเพิ่มเงินออมของลูกจ้างในกองทุนโดยไม่กระทบต่อการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างโดยในปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่านายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
(2) ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพจากกองทุนเพราะออกจากงาน สามารถโอนเงินที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนหรือเงินที่เหลือในกองทุนจากการขอรับเงินเป็นงวดไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Management Fund : RMF) หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีออกจากงานหรือชราภาพ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินในกองทุนแบบผูกพันระยะยาวได้ต่อเนื่อง
(3) ในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง และลูกจ้างหรือนายจ้างที่ไม่พร้อมที่จะส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินดังกล่าวได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี โดยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจขยายระยะเวลาหรือกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติได้ตามความจำเป็น และ
(4) การให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทกองทุนหลายนายจ้าง (pooled fund) มีทางเลือกในการบันทึกรายได้บางประเภทให้เหมาะสมกับลักษณะของสมาชิกกองทุน
“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและครอบครัวมีลักษณะที่ผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพิงตนเองมากขึ้นแต่อัตราการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุของประชากรค่อนข้างต่ำ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง จึงสมควรแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อส่งเสริมการออม ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. นี้ต่อกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป” นายวรพล กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2554 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 615,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อนหน้า มีจำนวนนายจ้าง 11,249 ราย เพิ่มขึ้น 12.7% จำนวนสมาชิก 2.3 ล้านคนเพิ่มขึ้น 8.6% ขณะที่มีสมาชิกขอคงเงินไว้ 3,338 ราย เพิ่มขึ้น 69.8% จากสิ้นปี 2553 คิดเป็นยอดเงินทั้งสิ้น4,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.3% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สมาชิกให้ความสำคัญกับการออมเงินระยะยาวอย่างเป็นระบบ ภายหลังจากมีการแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เมื่อปี 2551 ที่อนุญาตให้ลูกจ้าง
ที่สิ้นสมาชิกภาพจากกองทุนเพราะออกจากงาน สามารถคงเงินไว้ได้
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมามีนายจ้างที่จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุน (employee’s choice) จำนวน 3,348 ราย เพิ่มขึ้น 89.7% จากสิ้นปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ให้จัดตั้ง employee’s choice พร้อมสนับสนุนให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตน