กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลงานสหกรณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 9 ณ อาคาร UNCC สหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ในการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่ดูและงานด้านสหกรณ์ได้มาประชุมร่วมกันซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนางานด้านสหกรณ์ของแต่ละประเทศ โดย เฉพาะการนำประสบการณ์ ความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยจะยังคงส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของคนในชาติโดยการนำงานด้านสหกรณ์มาใช้ รวมทั้งจะมีการปรับปรุงพัฒนากฎหมาย และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ต่อมานายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แถลงสรุปผลการประชุม ว่า ในการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า ในการดำเนินงานด้านการสหกรณ์ ทุกประเทศจะยึดมั่นในการดำเนินงานอย่างอิสระไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานด้านสหกรณ์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งความผันผวนของตลาดและราคา รวมทั้งโอกาสในการจ้างงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งในภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจในชนบท สอดคล้องกับที่ปีนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น ปีสหกรณ์สากล ดังนั้นทุกประเทศจะกลับไปเร่งดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านสหกรณ์ที่จะช่วยในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ในประเทศไทยที่เตรียมจะผลักดันการประกาศให้งานด้านสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ โดยถือเอาวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นสหกรณ์สากล ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า นอกนี้ในการประชุมยังเน้นให้การสร้างนโยบายและวางกรอบกฎหมายที่เอื้อต่องานด้านสหกรณ์บนหลักการของไอซีเอ (ICA) โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาใช้เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยขณะนี้มามากกว่า 10 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ยืนยันว่าจะใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ งานสหกรณ์ของประเทศนั้นๆ พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน เช่น ประเทศภูฎานที่ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ และมุ่งเรื่องของความสุขมวลรวมของประชาชน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการและรัฐมนตรีที่มาประชุมยังได้ประกาศว่าจะดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งที่ประชุมยังมีมติให้ประเทศสมาชิกนำหลักการด้านธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหาร และปรับธรรมนูญให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกสามารถให้สนับสนุนงานสหกรณ์เพื่อการแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกมีแนวทางในการสร้างกลุ่มเพื่อช่วยเหลือตนเอง การวางพื้นฐานในการพัฒนากลุ่มต่างๆ ด้านสหกรณ์ และเรียกร้องให้องค์กรระดับประเทศ และนานาประเทศ พัฒนาร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น งานด้านการพัฒนาด้านสังคม และ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น
“ในส่วนของประเทศไทย ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสหกรณ์ในภูมิภาคร่วมกัน โดยขอให้มีการสนับสนุนเงินทุนจากประเทศสมาชิกในการนำทุนไปพัฒนางานด้านสหกรณ์ในบางประเทศ เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีความแตกต่างด้านการพัฒนางานด้านสหกรณ์ เช่น สหกรณ์ประเทศญี่ปุ่นที่มีงานด้านสหกรณ์ที่เข้มแข็งมาก แต่บางประเทศยังมีการดำเนินงานที่อ่อนแอ ซึ่งกองทุนนี้จะช่วยในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นและลดช่องว่างระหว่างการดำเนินการงานด้านสหกรณ์ดังกล่าวให้น้อยลง” นายสมชายกล่าว
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลงานสหกรณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2555 ณ อาคาร UNCC สหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าว ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปนั้นมีประเทศอินโดนีเซีย และ อิหร่าน เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซึ่งไอซีเอ (ICA) จะได้พิจารณาต่อไป