กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--วช.
แม้ว่าประเทศไทยจะมีสมุนไพรมากมายหลายชนิด แต่สิ่งสำคัญคือ การวิจัยสมุนไพรของประเทศยังไม่ครบวงจร ขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมผลการวิจัย ประเมินผลการวิจัยและกำหนดทิศทางของงานวิจัย แหล่งสนับสนุนการวิจัยกระจัดกระจาย ขาดการประสานงาน ขาดการกลั่นกรองและตรวจสอบอย่างรอบคอบ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการสนับสนุนงบประมาณ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร. เพชรรัตน์ พงษ์เจริญ และคณะ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยเรื่อง "โครงการวิจัยจัดสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร" โดยใช้การสำรวจศักยภาพของหน่วยงานในการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร, ใช้การศึกษาฐานข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยสมุนไพรในประเทศไทยและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานวิจัยสมุนไพร ซึ่งจากการวิจัยระบุว่ากลุ่มสมุนไพรที่นักวิจัยทำการศึกษาวิจัยแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสมุนไพร ที่มีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ พญายอ เป็นต้น กลุ่มสมุนไพรที่ใช้สำหรับโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเบาหวาน (บอระเพ็ด มะระขี้นก เจียงกู่หลาน เป็นต้น) และกลุ่มสมุนไพรที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงในปัจจุบัน โดยกลุ่มนี้จะใช้เป็นเครื่องสำอางมากกว่าเพื่อเป็นยาและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคในขณะนี้ เช่น กระชายดำ กวาวเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ นักวิจัยจะให้ความสนใจกับตัวสารเคมีที่มาใช้เป็นยาและผลการออกฤทธิ์เพื่อการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรมากกว่างานวิจัยทางด้านความปลอดภัยของสมุนไพร ซึ่งการวิจัยพิษวิทยาของสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะมีศักยภาพและมีความพร้อมมากที่สุดจึงน่าที่จะให้การสนับสนุนให้ทำการวิจัยดังกล่าวมากขึ้นและในการวิจัยยังได้กล่าวถึงการขาดแคลนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยซึ่งเครื่องมือจะต้องมีความปลอดภัย มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพโดยอาจมีการจัดตั้งศูนย์เครื่องมือในแต่ละภูมิภาคขึ้น
สำหรับเครือข่ายงานวิจัยภาครัฐในมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคนั้น มหาวิทยาลัยจะมีศักยภาพและความพร้อมตลอดจนนักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรในแต่ละท้องถิ่นพอที่จะจัดตั้งศูนย์เครือข่ายงานวิจัยร่วมกันของคณะวิชาการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนเครือข่ายงานวิจัยภาครัฐและเอกชนควรจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการตลาดของสมุนไพรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
ผู้วิจัยสรุปว่า งานวิจัยสมุนไพรในประเทศไทยมีความหลากหลาย แต่นักวิจัยจะจำกัดการทำการวิจัยเฉพาะทางเคมีและพฤกษเคมีและวิจัยทางด้านเภสัชวิทยาเท่านั้น ส่วนทางด้านพิษวิทยาจะทำวิจัยน้อย อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาภาพรวม องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมีความพร้อมด้านบุคลากร
ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเครื่องมือพอที่จะจัดตั้งเครือข่ายการวิจัย แต่ขาดนโยบายระดับสูงที่ชัดเจนและระบบการบริหารจัดการที่ดี--จบ--
-นท-