วช. วิจัยเรื่อง "ความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายอาญาต่อจำเลย ศึกษาผ่านทนายความขอแรง"

ข่าวทั่วไป Monday April 19, 2004 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--วช.
จำเลยยากจนจำใจใช้บริการทนายความขอแรง
"ทนายความขอแรง" เป็นทนายที่ได้ลงชื่อไว้ที่ศาลเพื่อทำหน้าที่ว่าความในคดีอาญาให้แก่จำเลยซึ่งเมื่อมีคดีอาญาที่กฎหมายกำหนดให้ศาลจัดหาทนายความให้ศาลก็จะแต่งตั้งทนายความขอแรงทำหน้าที่แก้ต่างให้กับจำเลยที่แถลงต่อศาลว่าตนเองไม่มีทนายแก้ต่างและต้องการทนาย
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายจึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ นางจารุวรรณ ขำเพชรและนายพงษ์ศักดิ์ ขำเพชร จากคณะศิลปศาสตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและสำนักงานทนายความอุดมผาสุก ทำการวิจัยเรื่อง "ความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายอาญาต่อจำเลย ศึกษาผ่านทนายความขอแรง" โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายอาญา เพื่อศึกษาทางเลือกของจำเลยในการเลือกใช้ทนายความและเพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการดำเนินคดีของทนายความขอแรง ทั้งนี้ ได้ใช้ทนายความขอแรงที่ลงชื่อไว้ยังศาลจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 14 ราย และจำเลย 11 คน ที่ต้องคดีอาญากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดที่แตกต่างกันไป ได้แก่ พยายามฆ่าผู้อื่น จำหน่ายยาบ้า พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเรา ลักทรัพย์ ลักทรัพย์และรับของโจร
ผลการวิจัย พบว่า กฎหมายได้รับการบัญญัติขึ้นมาด้วยความเสมอภาคเพื่อนำมาใช้บังคับบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติแต่การที่กฎหมายจะผดุงความยุติธรรมได้ต้องขึ้นอยู่กับ เจ้าหน้าที่หรือผู้นำกฎหมายไปบังคับใช้ต้องมีใจเป็นธรรม เคารพหลักนิติธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องแจ้งสิทธิต่าง ๆ ให้กับผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งต้องรับฟังหรือค้นหาพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย นอกจากนี้ยังพบว่าในการนำกฎหมายไปบังคับใช้ยังไม่มีความเสมอภาคเนื่องจากโครงสร้างทางสังคมแตกต่างกัน เช่น จำเลยมีการศึกษาต่ำ ฐานะยากจน มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีเงินจ้างทนายความ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้จำเลยที่ยากจนจำเป็นต้องใช้ทนายความขอแรงที่ศาลตั้งให้แม้ว่าจะไม่พอใจกับผลการช่วยเหลือก็ตาม ด้วยเห็นว่าประสบการณ์น้อย ไม่มีความช่ำชองในการดำเนินคดี
ผู้วิจัยให้ข้อสรุปและแนะนำว่า อัตราการรู้หนังสือของคนไทยบางกลุ่ม แม้ว่าจะจบการศึกษาภาคบังคับก็ตามก็ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ จึงทำให้คนเหล่านี้หลงเชื่อง่าย รวมทั้งการไม่รู้กฎหมาย ขาดความเข้าใจกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของตนเอง จึงทำให้ถูกเอาเปรียบได้โดยง่าย ดังนั้น รัฐควรมีการเผยแพร่ความรู้กฎหมายเบื้องต้นให้ประชาชนทราบ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ