กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--มทร.ธัญบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ร่วมมือกับ บริษัท ซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด จัดโครงการความร่วมมือพัฒนา “นักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพ” สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์
นายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เล่าว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ ได้เล็งถึงความสำคัญในการพัฒนานักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาที่กำลังศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ มีคณะและสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา สาขาวิชาสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
นักศึกษาเหล่านี้มีความสนใจในการประกอบอาชีพ นักพัฒนาโปรแกรม หรือ Programmer เพื่อให้นักศึกษามีพื้นฐานที่จำเป็น และมีความพร้อมในการประกอบอาชีพ รวมทั้งบริษัท ซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด ยังได้สนับสนุนทุนการศึกษา หลังจากที่ได้เปิดหลักสูตรการฝึกอบรม ทางบริษัทยังสอบและคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเพื่อเข้าฝึกอบรมหลักสูตรเข้มข้น จากนั้นสอบวัดผลหลักสูตรเข้มข้นและคัดเลือกนักศึกษารับทุน เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จะรับบรรจุเข้าทำงานเป็นพนักงานของบริษัทฯ
“นุ๊กนิก” นางสาวฐาปนี เอี่ยมปาท นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ส่วนตัวสนใจหลักสูตรแบบนี้ การอบรมวันนี้ได้รับความรู้หลายเรื่อง ยกตัวอย่างในเรื่องของการออกแบบเว็บไซต์ ได้เรียนรู้จากพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน มาเล่าและมาสอนปฏิบัติ ซึ่งนั่งเรียนในห้อง นั่งเรียนโปแกรม Java แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา ตอนบ่ายมีการทดสอบทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ ถือว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ทางบริษัทและมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น สำหรับใครที่สนใจทางด้านอาชีพสายงานนี้ ต้องฝึกฝนเรียนรู้นอกห้องเรียนตลอดเวลา
“ปอ” ภัทรกรณ์ สุ่มมาตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า การเรียนในห้องเรียนไม่เพียงพอ Programmer ต้องตื่นตัวตลอดเวลา เนื่องจากต้องมีการพัฒนาโปรแกรมใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับตนเอง ที่ต้องพัฒนาความรู้ที่มีให้มากขึ้น ได้อบรมในวันนี้ทำให้รู้ว่า ชีวิตจริงในการทำงานกับการเรียนไม่เหมือนกัน ดูได้จากข้อสอบที่ทางบริษัทได้นำมาทดสอบ ข้อสอบยากยิ่งกว่าข้อสอบในมหาวิทยาลัยฯ ดัดแปลงข้อสอบมาจากโค้ดโปรแกรมเปลี่ยนเป็นภาษาพูด ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้เตรียมตัวเข้าทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา
“กอล์ฟ” นายวรันธร ดีทัพไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า โดยส่วนตัวสนใจทางด้านการดีไซน์เว็บไซต์ เขียนเว็บ ความรู้ที่ได้ในวันนี้ ได้รู้หลักของการออกแบบเว็บไซต์ เป็นแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต “ในห้องเรียนได้รับความรู้อีกแบบ การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็ได้รับความรู้อีกรูปแบบหนึ่ง การที่ออกมาศึกษานอกห้องเรียน เหมือนเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ” สายงานทางด้านนี้ ต้องมีทักษะใหม่ๆ เพราะว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้ล้ำหน้าและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
“เฟริท์” นายวีระยุทธิ์ แสงตะกร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เล่าว่า ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ มุมมองการทำงานของอาชีพนี้ โดยส่วนตัวสนใจในอาชีพนี้ รู้สึกดีที่ทางมหาวิทยาลัยฯ จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เป็นการให้โอกาสนักศึกษาได้เรียนรู้จากบริษัทที่ทำงานทางด้านสายวิชานี้ บรรยากาศในการอบรมเป็นกันเอง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนต่างสาขาวิชา โลกไอทีพัฒนาโดยไม่หยุดยั้ง ซึ่งเมื่อต้องการที่จะเป็นนักพัฒนาโปรแกรม ต้องอัพความรู้ตนเองเรื่อยๆ แต่เมื่อสามารถพัฒนาโปรแกรมใช้ประโยชน์ได้แล้ว ควรใช้ให้ถูกทาง ไม่ใช่ใช้ทำลายหรือโจมตีผู้อื่น
ว่าที่ Programmer อนาคตไกล เปิดมุมมองใหม่ๆ เรียนรู้นอกห้องเรียน พัฒนาฝีมือโดยการถ่ายทอดจากประสบการณ์การทำงานจริง นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเรียน และการทำงานในอนาคต โครงการความร่วมมือดังกล่าว ถือว่าเป็นกิจกรรมดีๆ และเจ๋งจริงๆ