ธ.ไทยพาณิชย์ ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินไตรมาสแรกของปี 2547 ก่อนการสอบทาน

ข่าวทั่วไป Monday April 19, 2004 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินไตรมาสแรกของปี 2547 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ: กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 6,858 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นสำหรับไตรมาสแรกของปี 2547 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3,601 ล้านบาท หรือร้อยละ 111 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้วคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า "กำไรไตรมาสนี้สูงขึ้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากการขายหุ้นบางส่วนที่ธนาคารถืออยู่ซึ่งเป็นหุ้นของกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมดีขึ้นจากปริมาณธุรกิจของบริษัทในเครือที่เป็นสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น สำหรับรายได้จากธุรกิจหลักอยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากธุรกิจด้านประกัน (Bancassurance) ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ไตรมาสนี้ธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 40 ที่ธนาคารตั้งเป้าหมายไว้"
ในด้านนโยบายการดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า "ขณะนี้ธนาคารกำลังอยู่ในโครงการปรับปรุงธนาคารขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเน้นการสร้างธุรกิจ การสร้างคุณภาพการดำเนินธุรกิจ และการสร้างคน เพื่อการเป็นผู้นำบริการทางการเงินเต็มรูปแบบ หรือ Universal Bank ซึ่งโครงการดังกล่าวส่งผลดีให้เห็นในงบการเงินของธนาคารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าธนาคารจะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวในอนาคตอันใกล้"
รายละเอียดผลประกอบการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาสนี้ จำนวน 4,745 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 7.8 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.1 เนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาธนาคารมีดอกเบี้ยรับจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่เสร็จสิ้นลง และทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาส 4/2546 เป็นร้อยละ 2.5 ในไตรมาสนี้
2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จำนวน 6,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,355 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนซึ่งมีจำนวน 2,163 ล้านบาท โดยมีสาเหตุดังนี้
- กำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3,635 ล้านบาท เทียบกับขาดทุน 298 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่เนื่องจากการขายหุ้นในบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินออกไป
- ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมเพิ่มขึ้นจำนวน 374 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากปริมาณธุรกิจของบริษัทสถาบันการเงินในเครือที่เพิ่มขึ้น
- รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 65 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ธุรกิจ Bancassurance
- กำไรจากการปริวรรตเพิ่มขึ้น 45 ล้านบาทตามปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 4,339 ล้านบาท หรือร้อยละ 199 เนื่องจากกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3,593 ล้านบาท รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 370 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมเพิ่มขึ้น 323 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จำนวน 3,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 353 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 จากไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้
- ค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น 330 ล้านบาทจากการให้โบนัสพิเศษแก่พนักงานและการปรับเงินเดือนประจำปี
- ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 130 ล้านบาท ตามปริมาณธุรกิจ
- ค่าภาษีอากรลดลง 141 ล้านบาท
โดยรวมแล้วอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Operating cost to income ratio) จึงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46.3 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 53.6 ในไตรมาสนี้
เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 656 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้น
4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์
ในไตรมาสนี้ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 600 ล้านบาท ตามนโยบายการตั้งสำรองทั่วไป (General reserve) เดือนละ 200 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2547 ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 71,775 ล้านบาท ลดลง 186 ล้านบาทเนื่องจากมีการตัดหนี้สูญจำนวนหนึ่ง และมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ร้อยละ 82.4
งบดุล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 ธนาคารมียอดสินเชื่อ 525,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,005 ล้านบาทหรือร้อยละ 3.8 จากสิ้นปี 2546 โดยสินเชื่อขยายตัวดีในทุกกลุ่ม ขณะที่ธนาคารมียอดเงินฝาก 623,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2546 จำนวน 15,988 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารในไตรมาสนี้ดีขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 83.4 เป็นร้อยละ 84.3
ธนาคารมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2547 จำนวน 148,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,003 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเพิ่มเงินลงทุนในบริษัทย่อย (บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์) การลงทุนในกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ จำนวน 5,000 ล้านบาท การขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไปบางส่วน ในขณะที่มูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทเผื่อขายลดลงจากการตีราคาตามตลาดในด้านหนี้สิน เงินกู้ยืมระยะสั้นลดลง 3,780 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนโดยมียอดคงค้าง ณ 31 มีนาคม 2547 จำนวน 1,881 ล้านบาท เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิแปลงสภาพ (Euro Convertible Debenture) จำนวน 3,810 ล้านบาทได้ถึงกำหนดชำระในเดือนมกราคม
ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 75,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2546 จำนวน 50 ล้านบาทจากกำไรสุทธิไตรมาส 1/2547 จำนวน 6,858 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนเกินทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนลดลง 8,013 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุนและส่วนเกินทุนที่ลดลงตามภาวะตลาดเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) ณ 31 มีนาคม 2547 มีจำนวน 66,072 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 12.3 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 7.1 ของสินทรัพย์เสี่ยง
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs)
ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งประกอบด้วยเงินให้สินเชื่อจัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานลงมาตามคำนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 จำนวนทั้งสิ้น 87,102 ล้านบาทหรือ ร้อยละ 16.4 ลดลง 2,667 ล้านบาทจากจำนวน 89,769 ล้านบาท (ร้อยละ 17.5) ณ สิ้นปี 2546--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ