กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
รวมพลังทั้งแผ่นดิน จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์จับคู่สนับสนุนกิจกรรมฟื้นฟู ต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำ หวังป้องกันภัยพิบัติยั่งยืน
ขบวนจักรยานแห่งความเพียร ปั่นกู้วิกฤต คืนชีวิตให้แผ่นดินจากน่านสู่ชลบุรี ระยะทางกว่า ๑,๐๐๐ กม. ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน รณรงค์ฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำ ทั้งภาครัฐ-เอกชน เข้าร่วม เตรียมจับคู่สนับสนุนชุมชนจัดการพื้นที่ตนเอง สร้างโมเดลการจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน
๕ มีนาคม ๒๕๕๕ นาย นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานปล่อยขบวนปั่นจักรยานกู้วิกฤต คืนชีวิตให้แผ่นดิน จากภูผา...สู่มหานที ที่บ้านน้ำป้าก ต.ท่าวังผา จ.น่าน โดยมีนักปั่นจักรยานเข้าร่วมรณรงค์กว่า ๓๐๐ คัน
“ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นเจ้าของพื้นที่ซี่งมีการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เกิดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น ทำให้เราได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยกลุ่มต่างๆ ที่เพียรพยายามทำสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำโครงการตามพระราชดำริมาใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการปิดทองหลังพระได้ทำตัวอย่างไว้ให้เห็นแล้ว ที่บ้านน้ำป้ากแห่งนี้ และเมื่อมีกิจกรรมปั่นจักรยานกู้วิกฤตครั้งนี้ขึ้น ก็จะได้เป็นกำลังใจ สนับสนุนให้เร่งมือทำให้เกิดผลประจักษ์จริง ว่าคนน่านเข้าใจในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาป่าต้นน้ำเอาไว้ เพื่อรักษาน้ำไว้ในดิน ไม่ให้ไหลลงไปท่วมพื้นล่าง ทั้งปลูกป่า ทำฝาย ปลูกแฝกชะลอการไหลของน้ำ ล้วนเป็นวิธีที่กำลังเร่งขยายผล” ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าว
ในงานเดียวกัน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “โครงการปั่นจักรยานครั้งนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมใหญ่ที่เกิดจากความร่วมแรง ร่วมใจของหลายหน่วยงาน ทั้งจังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัด สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้งราชภัฏราชนครินทร์ และราชภัฏพิบูลสงคราม ทั้งยังมีภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมหลายหน่วยงานเพื่อจะสนับสนุน กลุ่มคนในพื้นที่ ที่กระจายตัวกันอยู่ในลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำบางปะกงจำนวน ๑๒ พื้นที่ ซึ่งเป็นจุดพักค้างของขบวนจักรยาน ให้ได้ทำกิจกรรมฟื้นฟูระบบนิเวศ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการนำแนวทางการจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวทางพระราชดำริมาปรับใช้ อาทิ ในพื้นที่ต้นน้ำ ชาวชุมชนจะได้รวมตัวกันปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่างในพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่นา ไร่ ปลูกแฝก ทำฝายชุ่มชื้น เพื่อเก็บน้ำไว้ใต้ดินภูเขาให้ได้มากที่สุด หากชาวบ้านทุกแห่งลงมือทำกันทุกต้นน้ำ น้ำฝนที่ตกลงบนภูเขาจะถูกซับไว้ในดิน ไว้ใช้ทำการเพาะปลูกได้อีก
ในพื้นที่กลางน้ำ โมเดลที่เหมาะสมคือ การนำทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ นั่นคือการขุดบ่อน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมทุกผืน หรือที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาตินำมาแปลงให้ง่ายต่อการจดจำ ว่า “โคก หนอง นา โมเดล” โดยเสียสละพื้นที่เพื่อขุดบ่อน้ำไว้เก็บน้ำ ดินที่ขุดขึ้นมาทำโคกไว้ปลูกบ้าน เลี้ยงสัตว์ ทำยุ้งฉาง เก็บข้าวเอาไว้ ถ้าน้ำท่วมมายังได้อาศัยหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนโคก มีข้าว ปลาอาหารแห้งเตรียมพร้อมไว้ พอหน้าแล้งน้ำในบ่อก็ได้ไว้ใช้ และหากทำเช่นนี้กันทุกไร่ นา น้ำที่หลากลงมาเพียงแค่ ๒ หมื่นล้าน ลูกบาศ์กเมตร ก็จะถูกกักเก็บไว้ในท้องไร่ ท้องนา ไม่หลากบ่ามาท่วมพื้นล่าง เป็นโมเดลการจัดการน้ำที่ทำได้เลย หากร่วมแรง ร่วมใจกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะชาวชุมชนที่ต้องทำหน้าที่ดูแล จัดการพื้นที่ของตัว การฟื้นฟูโดยฐานรากแบบนี้ก็จะยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้กับที่อื่นๆ ต่อไป”
ขบวนจักรยานปั่นกู้วิกฤต คืนชีวิตให้แผ่นดิน จากภูผา...สู่มหานที จะปั่นจักรยานจากน่านในวันที่ ๕ มีนาคม และมาถึงจังหวัดชลบุรีในวันที่ ๑๕ มีนาคม โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จัดกิจกรรมต้อนรับ ก่อนเข้าสู่งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ ๖ ซึ่งเป็นงานประจำปีของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๖-๑๘ มีนาคม นับเป็นกิจกรรมยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือของหลายหน่วยงาน โดยมีกลุ่มนักปั่นจักรยานหลายกลุ่มเข้าร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ อาทิ ชมรมนักปั่นสะพานบุญ คณะนักปั่นไม้ค้ำตะวัน กลุ่มสิงห์สลาตัน ชมรมจักรยานจังหวัดน่าน ชมรมจักรยานจังหวัดชลบุรี ฯลฯ
“พวกเรามารวมตัวกันเพื่อปั่นจักรยานระยะไกลในครั้งนี้ เพราะเชื่อมั่นว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้กับคนไทยทุกคนนั้น คือศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ไม่เฉพาะแต่พวกเราคนไทยเท่านั้น แต่เหมาะสมสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน ที่กำลังเดือดร้อนเพราะระบบนิเวศเสียสมดุล เช่นที่เราคนไทยต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา การปั่นจักรยานนอกจากจะทำให้ได้สุขภาพที่ดีแล้ว เมื่อนำมาปั่นเพื่อรณรงค์เผยแพร่ในเรื่องราวดีๆ การทำกิจกรรมของคนในพื้นที่ต่างๆ ที่เข้มแข็ง เพื่อกระจายข่าวสารออกไปให้ถึงกลุ่มผู้สนใจสนับสนุน ซึ่งพวกเราเชื่อว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมไทย ที่ยังอยากสนับสนุนเรื่องราวดีๆ แบบนี้ พวกเราจึงรวมกัน เอาแรงมาเป็นบุญ ปั่นจักรยานแห่งความเพียร เป็นการปฏิบัติบูชา ตามคุณธรรมแห่งความ “เพียร” จากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก” ครรชิต วิเศษสมภาคย์ ตัวแทนกลุ่มนักปั่นจักรยานกล่าวปิดท้าย ก่อนรับมอบน้ำใจจากกลุ่มผู้สนับสนุน เข้ากองบุญกู้วิกฤติด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมการปั่นจักรยานครั้งนี้ กำหนดแวะพักตามจุดต่างๆ ๑๒ จุด จ.น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี เป็นโครงการระยะที่ ๑ เพื่อ “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” กำหนดปั่นจักรยานระยะที่ ๒ จากชลบุรี สู่จังหวัดชุมพร ต้นเดือนกันยายน เพื่อดำเนินกิจกรรม “คืนชีวิตให้ผืนน้ำ” มีหน่วยงานรัฐและเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมสนับสนุน อาทิ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี สโมสรไลอ้อน มูลนิธิรักษ์ดิน-รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) Central Group of Companies เครือบริษัท ปตท. สมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สสวท.) หรือ ATSME เขื่อนสิริกิติ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด บริษัท สหพีร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท คิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต และ ศูนย์กีฬาดําน้ำ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมืองโบราณ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เฮงเจริญยนต์ อินเตอร์ และจักรยานเสือภูเขา มาริด้า
เส้นทางจักรยาน จากน่าน-ชลบุรี
๑. วันที่ ๕ มี.ค. ๕๕ บ้านน้ำป้าก อ.ท่าวังผา — สวนเอเดน จ.น่าน ระยะทาง ๕๕ กม
๒. วันที่ ๖ มี.ค. ๕๕ สวนเอเดน จ.น่าน — อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ระยะ ๑๐๙ กม.
๓. วันที่ ๗ มี.ค. ๕๕ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ —อ.ท่าปลา อุตรดิตถ์ ระยะทาง ๕๖ กม.
๔. วันที่ ๘ มี.ค. ๕๕ อ.ท่าปลา อุตรดิตถ์ —ค่ายฯ ป่าต้นน้ำชาติตระการ พิษณุโลก ระยะทาง ๑๐๙ กม.
๕. วันที่ ๙ มี.ค. ๕๕ ค่ายป่าต้นน้ำชาติตระการ-มรภ.พิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก ระยะทาง ๙๓ กม.
๖. วันที่ ๑๐ มี.ค. ๕๕ มรภ.พิบูลสงคราม - ศูนย์เครือข่ายฯ พิจิตร ระยะทาง ๖๘ กม.
๗. วันที่ ๑๑ มี.ค. ๕๕ ศูนย์เครือข่ายฯ พิจิตร — เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ระยะทาง ๑๑๐ กม.
๘. วันที่ ๑๒ มี.ค. ๕๕ เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี—โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ จ.สระบุรี ระยะทาง ๑๒๐ กม
๙. วันที่ ๑๓ มี.ค. ๕๕ โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ จ.สระบุรี-ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ จ.นครนายก ระยะทาง ๑๑๐ กม.
๑๐. วันที่ ๑๔ มี.ค.๕๕ ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ จ.นครนายก-มรร.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง ๙๙ กม.
๑๑. วันที่ ๑๕ มี.ค.๕๕ มรร.บางคล้า-ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี ระยะทาง ๕๙ กม.
รายละเอียดเส้นทางเพิ่มเติม www.facebook.com/ปั่นจักรยานกู้วิกฤต คืนชีวิตให้แผ่นดิน
ประสานงานข้อมูลเพิ่มเติม : เอื้อมพร ๐๘๕ ๓๓๕ ๖๖๔๒
ติดต่อ:
เอื้อมพร ลอยประดิษฐ์ โทร. 0853356642 e-mail : s.aeumporn@gmail.com