กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สถาบันพระปกเกล้า
แกนโลกเปลี่ยนไป ชาติเอเชียขึ้นแท่น “ผู้นำเศรษฐกิจ” ชี้ทั่วโลกหันมาศึกษาเอเชียเพิ่มมากขึ้น รองรับการแข่งขันในสมรภูมิที่ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจสูงสุดของโลก จี้ไทยรัฐเร่งสร้างบุคลากรรับมือ AEC รวมถึงเตรียมพร้อมรับความยิ่งใหญ่ทั้งเชิงเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของทวีปเอเชีย
ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร “นักศึกษาไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรุ่นที่ 1” หรือ AEC1 สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียว่า หากอัตราเร่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียอยู่ในระดับคงที่เหมือนเช่นปัจจุบัน เชื่อว่าภายในปี 2050 เอเชียจะมีสัดส่วนปริมาณการค้าและการลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก จนเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดย 5 ประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกนั้น มี 3 ประเทศที่เป็นชาติเอเชียคือ จีน อินเดียและญี่ปุ่น “แกนของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน ทั้งในสหรัฐและยุโรป ทำให้ความสำคัญของเอเชียพุ่งสูงขึ้น ทั่วโลกจึงหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับเอเชียถึงขั้นสร้างหลักสูตรเอเชียศึกษาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ดังนั้น ไทยเองก็ต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้ตกกระแสโลก ด้วยการเร่งศึกษา, สร้าง และพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียให้มากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้ ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ก็คืออาเซียน แต่เรากลับมีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านของน้อยมาก ขณะที่ปี 2558 ไทยก็ต้องเข้าไปอยู่ในกรอบของประชมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แล้ว จึงจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด” ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ระบุ สำหรับหลักสูตร “นักศึกษาไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่สถาบันพระปกเกล้าเปิดสอนเป็นรุ่นแรกนี้ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ย้ำว่า ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับความสำคัญของเอเชียในเวทีโลก ทั้งยังเป็นการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียและอาเซียน เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันในทันทีที่กรอบ AEC เริ่มมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้า โดย รศ.ดร. ขจิต จิตเสวี กรรมการบริหารหลักสูตรฯ ได้พาคณะนักศึกษาของไทยเดินทางไปศึกษาและดูงานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา