กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “จากกระแสข่าวการลักลอบจับช้างป่า และการนำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยงในปัจจุบัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรช้างในประเทศมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องและเกิดความสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม เรื่องนี้ ทส. ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบการนำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยง ซึ่งขณะนี้ ทส. ได้มอบหมายให้ อ.อ.ป. ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา รวมถึงนักวิจัยช้างเอเชียทั่วประเทศ เพื่อสำรวจประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศ เบื้องต้น อ.อ.ป. ได้เสนอโครงการสำรวจจำนวนประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทย ด้วยการ “จัดทำฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมช้าง หรือ DNA”
สำหรับการจัดทำฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมช้าง ภายใต้ “โครงการสำรวจจำนวนประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงจำนวนประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างไทย และเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลทางพันธุกรรมของช้างเลี้ยงและช้างป่าทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นการวางแนวทางในการอนุรักษ์ช้างไทยต่อไปในอนาคต รวมถึงเป็นการประสานความร่วมมือขององค์กร และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนางานวิจัยเรื่องพันธุกรรมช้างให้เป็น ที่ยอมรับสู่ระดับสากล และสามารถลดปัญหาการลักลอบนำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณเป็นช้างเลี้ยงได้ในอนาคต
นายวรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า “การจัดทำข้อมูลรหัสพันธุกรรมช้าง อ.อ.ป. ได้ดำเนินการตามแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 โดยได้ประสานงานกับคณะนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมโครงการสำรวจจำนวนประชากรช้างและตรวจดีเอ็นเอช้างเลี้ยงและช้างป่าทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน ป้องกันการนำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณช้างเป็นช้างเลี้ยง ซึ่งประกอบด้วย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์ กรมปศุสัตว์ โรงช้างต้นสวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง และกรมอุทยาน-แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นต้น”
ผอ.สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การเข้าเก็บตัวอย่างเลือดของช้างในปางช้างปัจจุบัน ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากปางช้างเท่าที่ควร เนื่องจากเจ้าของธุรกิจปางช้างเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะมาจับในเรื่องที่ผิดกฎหมาย จึงทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น และหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐในเรื่องงบประมาณดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะทำให้การดำเนินการเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น”
นายสิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์และบริบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระ-อุปถัมภ์ฯ กล่าวถึงการดำเนินการว่า “คณะผู้ร่วมวิจัย ได้ดำเนินการติดไมโครชิพให้กับช้างเพื่อทำทะเบียนประวัติช้างเลี้ยง ได้ประมาณ 90% ของช้างเลี้ยงทั่วประเทศ และเริ่มเก็บตัวอย่างเลือดช้างเลี้ยงและเก็บมูลช้างป่า เพื่อนำมาทดลองสกัดหาดีเอ็นเอและถอดรหัสพันธุกรรม ในห้องปฎิบัติการตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งผลจาก การดำเนินงานเป็นที่พอใจ ต่อมาในปี 2553 สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการและประสานงานโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุดคณะนักวิจัยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดจากช้างเลี้ยง 1,020 ตัวอย่าง นำเก็บไว้ในธนาคารดีเอ็นเอ สกัดตรวจดีเอ็นเอและถอดรหัสทางพันธุกรรมแล้ว จำนวน 500 ตัวอย่าง เก็บตัวอย่างมูลช้างป่า จำนวน 400 ตัวอย่าง สกัดตรวจดีเอ็นเอและถอดรหัสทางพันธุกรรมได้แล้วทั้งหมด จากผลการดำเนินงานโครงการฯ นี้ จะเป็นประโยชน์ในด้านการวางแนวทางการอนุรักษ์ช้างเลี้ยงและช้างป่าในอนาคต และสามารถป้องกันการนำลูกช้างป่ามาสวมเป็นช้างเลี้ยงได้ รวมถึงยังสามารถป้องกันการสวมตั๋วรูปพรรณในช้างเลี้ยง และสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นพ่อ แม่ ลูก ได้จากฐานข้อมูลในเรื่อง “ดีเอ็นเอ”