กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--เอไอเอส
นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงความคืบหน้าในการทดสอบเทคโนโลยี 4G ว่า “จากการที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้อนุมัติให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ทำการติดตั้งอุปกรณ์ดำเนินการทดสอบ เทคโนโลยี LTE-Long Term Evolution หรือ ที่รู้จักกันในชื่อของ 4G ใน 2 เทคโนโลยี และ 2 พื้นที่ ประกอบด้วย
1. โครงการทดสอบและทดลองระบบบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง Broadband Wireless Access-BWA ในย่านความถี่ 2300 MHz (20 MHz)ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในลักษณะ Time Division Duplex หรือ TDD ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งในเขตพื้นที่ชั้นใน บริเวณถนนพระรามหนึ่ง ตั้งแต่ มาบุญครองถึงเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงชั้นนอกจากศูนย์ราชการ กระทรวงไอซีที และ สำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ โดยมีจำนวนสถานีฐาน 20 แห่ง เปิดให้ทดสอบถึงช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2555 และ
2. โครงการทดสอบและทดลองระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 4 ในย่านความถี่ 1800 MHz (10 MHz D/L + 10 MHz U/L) ด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution ซึ่งใช้คลื่นความถี่ในลักษณะ Frequency Division Duplex หรือ FDD ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในเขตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โดยเบื้องต้นมีจำนวนสถานีฐาน 8 แห่ง เปิดให้ทดสอบถึงช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม 2555
โดยเป็นการทดสอบรูปแบบของการทดสอบเชิงเทคนิคชั่วคราว หรือ Technical Trial ซึ่งมิได้แสวงหากำไรเชิงพาณิชย์ หรือ Non Commercial นั้น ผลจากการทดสอบในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นที่น่าพอใจและได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการเปิดประมูลของ กสทช. เป็นอย่างยิ่ง อาทิ
- ความเร็วและความเสถียร
TDD Download 50-80 Mbps Upload 5-15 Mbps
FDD Download 50-60 Mbps Upload 20-30 Mbps
- รัศมีในการส่งสัญญาณ (Coverage Area) อยู่ที่รัศมี 1 กิโลเมตร
- ลักษณะการใช้งานในขณะเคลื่อนที่ Handover ภายใต้ Coverage ที่มีความต่อเนื่อง (เฉพาะการทดสอบที่ จ.มหาสารคาม) พบว่าสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
- ความสัมพันธ์ของย่านความถี่และช่วงกว้างความถี่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานเทคโนโลยี LTE นั้นพบว่า โดยทั้งสองย่านสามารถทำงานได้ดี แต่จำเป็นต้องใช้ความกว้างของแถบความถี่มากกว่า 20 MHz หากต้องการความเร็วเกิน 100 Mbps
- ความเร็วของการเข้าถึง Content ด้าน Multi Media แบบ HD สูงกว่า 3G ถึง 5-10 เท่า (20 ms latency)
- รูปแบบของ Applicationที่เหมาะสมและตรงใจผู้บริโภค ในประเภท video interactive, 4G to wifi และ multimedia content
โดยเอไอเอสได้เริ่มเปิดจุดทดสอบเทคโนโลยี LTE ในกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตนเอง และได้ผสมผสานเอาเทคโนโลยี Real Time Video Interactive เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เห็นภาพของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต หากโครงสร้างพื้นฐานมีความแข็งแรง
สำหรับจุดทดสอบเทคโนโลยี 4G เบื้องต้นมี 2 จุด คือ
1. บริเวณชั้น 2 สยามเซ็นเตอร์ ช่วงทางเชื่อมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเปิดจุดทดสอบภายใต้แนวคิด “Beauty Consult on 4G” ให้ประชาชนได้โต้ตอบกับกูรูช่างออกแบบทรงผมจากร้าน TO B 1 ซึ่งตั้งอยู่ ณ สยามแสควร์ ซอย 2 ที่จะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับทรงผมที่เหมาะสมผ่าน Video Interactive บนเครือข่าย 4G
2. บริเวณชั้น 1 วัน-ทู-คอล! ช็อป @Digital Gateway ที่เปิดให้ประชาชนทดสอบและสัมผัสกับความเร็วของเทคโนโลยี 4G เมื่อท่องโลกอินเตอร์เน็ต
นายปรัธนา กล่าวในตอนท้ายว่า “เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ได้จากการทดลอง ทดสอบในทั้ง 2 พื้นที่ จะทำให้การเตรียมพิจารณาเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆของประเทศไทยเป็นไปอย่างละเอียด รอบคอบ เสริมมุมมองได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้นจากการผนึกกำลังกันของเอกชนและภาครัฐ”