กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
ทียูเอฟ แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันที่ 6 มีนาคม 2554 อนุมัติการลดทุนและเพิ่มทุนจดทะเบียน และการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น และให้แก่บุคคลในวงจำกัด ซึ่งได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทยกล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการในวันนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 202,813,450 หุ้น โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนนี้ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น และให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ได้รับหุ้นจากการแปลงสภาพหุ้นกู้แปลงสภาพ ในสัดส่วน 5 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาขายที่ 50 บาทต่อหุ้น และในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการจัดสรรดังกล่าวแล้ว บริษัทจะจัดสรรหุ้นส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งแสดงความจำนงจองซื้อเกินสิทธิตามสัดส่วนการถือหุ้น
นอกจากนี้ กรณีที่หุ้นเหลือจากการจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน และจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นที่แสดงความจำนงจองซื้อเกินสิทธิแล้ว บริษัทจะจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยจะกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่ต่ำกว่า 50 บาท ต่อหุ้น ทั้งนี้มติดังกล่าว จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งที่จะจัดขึ้นในวันที่ l0 เมษายน 2555 นี้
ทั้งนี้ นายธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า “จากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทมีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจมาก สามารถทำรายได้ในรูปเหรียญสหรัฐเท่ากับ 3,232 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตถึง 43% และสามารถทำกำไรสุทธิเท่ากับ 5,075 ล้านบาท เติบโตถึง 77% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากดำเนินธุรกิจมา พิสูจน์ถึงศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ เพราะหลังจากที่เข้าซึ่งกิจการบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส ทำให้ขนาดธุรกิจของบริษัทใหญ่ขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็มีการทำธุรกรรมจำนวนมากเกิดขึ้น แต่บริษัทก็สามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี และสำหรับแผนการเพิ่มทุนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความรวดเร็วในแผนการลดหนี้ของบริษัทอันเกิดจากการซื้อกิจการเอ็มดับบลิวแบรนด์ส รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นโอกาสทางการลงทุนอีกมากในปัจจุบัน จึงต้องมีการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งการมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของบริษัท และช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเสี่ยงจากตลาดการเงินทั่วโลกได้อีกด้วย รวมถึงในปีนี้ผู้ถือหุ้นจะเห็นนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่จะกลับมาสู่ภาวะ
ปกติอีกครั้ง คือ การจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีเงินทุนเพิ่มประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น”
ปัจจุบันอัตราหนี้สินหักเงินสดต่อทุน (Net Debt-to-Equity Ratio) ของบริษัท ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ระดับ 1.44 เท่า ซึ่งจากการเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถลดอัตราหนี้สินหักเงินสดต่อทุนลงมาที่ระดับ 0.8 เท่า อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อมั่นว่า จากโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว นายธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย