ก.วิทย์ เปิดศูนย์วิจัยพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง ผลิตพ่อแม่พันธุ์จากบ่อเลี้ยงเป็นรายแรกของโลก

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 20, 2004 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--ไบโอเทค
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง โดยได้รับเกียรติจาก นาย พรชัย ธรณธรรม รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดตั้งโครงการศูนย์วิจัยฯ นี้ว่า " โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง เป็นโครงการศูนย์วิจัยฯ ที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการที่จะดำเนินการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กุ้งในประเทศไทย การเก็บรักษาสายพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง รวมถึงการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้จะมีที่ทำการ 2 แห่งคือ ที่ของกองทัพเรือ ณ ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะช่วยให้การดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการผลิตกุ้งของตลาดโลก"
ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้กล่าวถึงโครงการศูนย์วิจัยฯ ว่า ไบโอเทคได้ร่วมกับ หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ เทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงทางด้านงานวิจัยเรื่องโรคกุ้ง เรื่องพันธุกรรมกุ้ง ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีความสามารถในการศึกษาวิจัยการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ที่ได้มีการต่อยอดงานวิจัยโครงการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากบ่อเลี้ยงที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในรุ่น F 4 ซึ่งกุ้งดังกล่าวผ่านการทดสอบแล้วว่าปลอดเชื้อตัวแดงดวงขาว และไวรัสหัวเหลือง และในปัจจุบันสามารถผลิตได้เป็นรุ่นที่ 6 เป็นกุ้งที่มีลักษณะทางกายภาพและระบบสืบพันธุ์ที่ใกล้เคียงพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากธรรมชาติมาก ดังนั้น โครงการศูนย์วิจัยฯที่จัดตั้งขึ้นนี้จะเป็นโครงการที่ผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากบ่อเลี้ยง และเก็บรักษาสายพันธุ์กุ้งสำหรับประเทศไทย
โครงการศูนย์วิจัยฯ ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 หน่วย คือ Nucleus Breeding Center ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตและคัดเลือกกุ้งที่มีคุณภาพสูง และปลอดโรค โดยลูกกุ้งที่ได้จะถูกส่งไปยังหน่วยที่ 2 คือ Broodstock Maturation Center ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของกองทัพเรือ อำเภอขนอม ซึ่งจะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากลูกกุ้งคุณภาพที่ถูกส่งมาหน่วยที่ 1 ซึ่งการดำเนินงานของโครงการสามารถพัฒนาการผลิตในเชิงการค้าได้ โดยนำมาใช้ทดแทนพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ ที่มีจำนวนน้อย ทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพลูกกุ้ง และโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดกับแม่พันธุ์ธรรมชาติได้ด้วย และที่สำคัญโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากบ่อดินได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในโลก
ในอนาคต เทคโนโลยีชีวภาพจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมกุ้ง ทั้งในฐานะผู้ผลิตกุ้ง และผู้ส่งออกพ่อแม่พันธุ์กุ้งคุณภาพ ในตลาดโลก
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง
อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 02 564 6700 ต่อ 3115 โทรสาร. 02 564 6701
E-MAIL : kwanjai@biotec.or.th--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ