กรมเจ้าท่าเดินหน้าด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงรุกเพื่อรับ AEC จัดทีมที่ปรึกษาเพิ่มศักยภาพข้าราชการ หนุนภาคเอกชนขยายตลาด

ข่าวทั่วไป Thursday March 8, 2012 13:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--M.O.Chic กรมเจ้าท่าประกาศวิสัยทัศน์มุ่งสู่องค์กรชั้นนำในการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำตามมาตรฐานสากล พร้อมจัดทีมที่ปรึกษาวางแผนด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงรุกเพื่อรับ AEC เปิดเสรีการค้าพาณิชย์นาวีในภูมิภาคอาเซียน และตลาดการค้าเอเชีย มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพข้าราชการด้วยความรู้ใหม่ในกระบวนทัศน์แบบสากล ปรับกระบวนการทำงานทุกระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยอมรับข้าราชการต้องมีความพร้อมสูงสุดเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการขยายธุรกิจในตลาดโลก นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นภาคีเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานระบบขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินงานประจำปี พ.ศ. 2555-2558 โดยประกาศวิสัยทัศน์ ให้กรมเจ้าท่าเป็นองค์กรชั้นนำที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีให้ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน คือ 1) พัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางน้ำให้สามารถแข่งขันได้ 2) พัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ เขื่อน รวมทั้งการขุดลอกทางน้ำตามธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนระบบการขนส่งทางน้ำให้มีประสิทธิภาพ 3) พัฒนามาตรการความปลอดภัยด้านการขนส่งทางน้ำและการพาณิชย์นาวีให้ได้มาตรฐาน และ 4) พัฒนาการผลิตบุคลากรด้านการพาณิชย์นาวีให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน การพัฒนาองค์กรถือเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับกรมเจ้าท่า เนื่องจากกรมเจ้าท่ามีภารกิจที่หลากหลาย ทั้งในด้านการกำกับดูแล ควบคุม พัฒนา ตลอดจนการดำเนินการระบบการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี โดยเฉพาะในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยจะต้องเพิ่มอัตราเร่งในการเตรียมความพร้อมของตนเองเพื่อรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้าเต็มที่ในปี พ.ศ. 2558 เมื่อประชาคมอาเซียน (AEC) มีผลต่อมาตรการทางการค้า ระบบขนส่งทางน้ำและการพาณิชย์นาวีจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเตรียมพร้อมขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการให้ความรู้ ความเข้าใจกับบุคลากรข้าราชการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง การรู้และเข้าใจภาคธุรกิจ เพื่อให้การพัฒนาภาครัฐ สอดรับและส่งเสริมภาคธุรกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ อันเนื่องมาจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากการเปิดการค้าเสรีของประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีประชากรจาก 65 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน นายถวัลย์รัฐ กล่าวว่า “ในปี 2555 นี้ กรมเจ้าท่าให้ความสำคัญมากกับการศึกษาบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานภายในกรมฯ รวมถึงข้าราชการในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ ภาระงาน และแนวทางในการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพรองรับการพัฒนาของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการขยายธุรกิจของภาคเอกชนในตลาดโลก กรมเจ้าท่าจึงได้จัดทำคำพรรณนาหน้าที่งาน (Job Description) ในทุกตำแหน่งงาน ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท แบงคอก เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด (BTR) ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกรมเจ้าท่าในปี 2555 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากร ข้าราชการ และช่วยในการกำหนดทิศทางการบริหารงาน และพัฒนาบุคลากรให้เกิดความสอดคล้องไปกับทิศทางขององค์กรได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการนำไปใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานรายตำแหน่ง การวิเคราะห์เพื่อวางแผนอัตรากำลังคน การสร้างระบบการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร และจัดทำเส้นทางการฝึกอบรมบุคลากร (Training Roadmap) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การบริหารงานและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้อย่างสอดคล้องกับระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลและการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ต่อไป” ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท แบงคอก เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด (Bangkok Training International หรือ BTR) ผู้ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของกรมเจ้าท่าในปี 2555 กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเตรียมความพร้อมขององค์กรภาครัฐ และเอกชนเพื่อรับมือกับ AEC นั้น มี 3 ประเด็นหลักที่หน่วยงานนั้นๆ ต้องให้ความสำคัญ หนึ่ง คือการเตรียมความพร้อมภายในองค์กร เมื่อหลายประเทศในอาเซียนสามารถเข้ามาทำธุรกิจกับเรามากขึ้น หน่วยงานภาคเอกชนจึงต้องวิเคราะห์ความพร้อมของตนเองในการแข่งขัน ในขณะที่ภาครัฐต้องทำความเข้าใจกับบทบาทของตนเองในการดูแลนักธุรกิจ แรงงาน รวมไปถึงผลกระทบด้านสังคม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมผู้คนจากต่างถิ่นต่างที่ สอง คือการเตรียมความพร้อมในระดับภูมิภาค ภาคเอกชนต้องมองหาโอกาสจากตลาดอาเซียน ศึกษาตลาด และพัฒนาตนเองให้รู้และเข้าใจโอกาสทางธุรกิจที่มีผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน ขณะที่ภาครัฐควรพิจารณาสร้างแนวทางในการสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถไปขยายตลาดต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ และมั่นคง สาม เตรียมการสำหรับการแข่งขันในระดับโลก หมายถึงการมองไกลไปกว่าการทำธุรกิจในตลาดภูมิภาคอาเซียน แต่หมายถึงตลาดในเอเชียทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศจีน และตลาดเอเชียอื่นๆ ภาครัฐยิ่งต้องเตรียมการปรับองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านธุรกิจ และสังคม “อาเซียน” ได้ด้วย” “แม้ภาครัฐและเอกชนจะได้มีการเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้จะยิ่งสำแดงผลอย่างชัดเจนเมื่ออาเซียนหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในอีก 3 ปีข้างหน้า การวางแผนสู่อนาคตเพื่อรับมือการแข่งขันทางการค้าในเวที ASEAN คือการเตรียมความเข้าใจในกระบวนทัศน์สากลอย่างแท้จริง รวมไปถึงการพัฒนา “ทักษะ” และการเพิ่ม “ความรู้” ที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยสนับสนุน และดูแลข้อกฎหมาย ตลอดจนต้องเตรียมรับมือกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกใบใหม่ได้อย่างแท้จริง ” ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ กล่าว ติดต่อ: M.O.Chic 02-512-5848

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ