กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สสวท.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้คัดเลือกและจัดแปลโปรแกรม The Geometer's Sketchpad (โปรแกรม GSP) มาช่วยสนับสนุนให้คุณครูและนักเรียนใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีเครือข่ายให้การอบรมโปรแกรม GSP กว่า 40 ศูนย์โรงเรียน
ผลจากการดำเนินงานดังกล่าว พบว่ามีเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่รักในคณิตศาสตร์และชื่นชอบโปรแกรม GSP ซึ่งทุก ๆ ปี เราจะเห็นดอกผลแห่งความมุ่งมั่น มานะ พยายาม และเพียรฝึกฝนจนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญในสิ่งที่พวกเขาสนใจ ในการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP ระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ล่าสุด การประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP ระดับประเทศ ประจำปี 2555 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-6 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้องสกายบอลรูม โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ การประกวดแบ่งออกเป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลการประกวดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทอง ได้แก่ นายพีระสิทธิ์ แซ่ลิ้ม และนายวิศรุต อุปลานนท์ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา โดยมีอาจารย์เบญจวรรณ เกื้อกูล เป็นครูที่ปรึกษา
“ โปรแกรม GSP ยิ่งฝึกมาก ยิ่งมีประสบการณ์มาก จะยิ่งเก่งขึ้นครับ” นายวิศรุต อุปลานนท์ หรือ น้องดุ๊ก นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 1 ใน 2 ของนักเรียนทีมที่ชนะเลิศการประกวดในระดับมัธยมศึกษาปลาย กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ภายหลังทราบผลอย่างเป็นทางการว่า ทีมของตนและเพื่อนรุ่นน้องจากโรงเรียนเดียวกัน คือ นายพีระสิทธ์ แซ่ลิ้ม หรือ น้องหมิง ได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทอง
ด้านนายพีระสิทธ์ แซ่ลิ้ม หรือ น้องหมิง หนึ่งในทีมจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ที่ช่วยคิดช่วยทำจนผลงานโดดเด่นเป็นที่ถูกใจกรรมการ กล่าวถึงประโยชน์ของโปรแกรม GSP ว่า “สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ โปรแกรม GSP สามารถทำอะไรได้หลายอย่างสร้างกราฟก็ได้ ใช้ในการแก้โจทย์ด้านคณิตศาสตร์ก็ได้ วาดรูปเรขาคณิตก็สามารถทำได้ นี่คือเสน่ห์ของ GSP อย่างโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันของปีนี้ มีในเรื่องพีชคณิตด้วย ก็ทำให้เรารู้ว่าสามารถใช้แก้โจทย์พีชคณิตได้ด้วย ที่สำคัญ คือ โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่ายมาก อย่างผมเองก็เคยเข้ารับการอบรมครั้งแรกเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้น ม. 1 แค่ 2 วัน ก็สามารถใช้โปรแกรมได้แล้ว”
“หากเราเล่น GSP สัก 2 ชั่วโมง เราก็จะรู้เกี่ยวกับพื้นฐานการใช้งานโปรแกรม แต่ถ้าเราเล่นต่อไปเราก็จะรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าโปรแกรมนี้ใช้สร้างพาราโบลาได้ แก้พีชคณิตได้ ทำอะไรได้อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับการรู้จัก สัมผัส และฝึกฝนอยู่เป็นประจำครับ” น้องดุ๊ก กล่าวเสริม
น้องดุ๊ก เล่าต่อไปว่า ตนเองนั้นเคยเข้าร่วมการประกวดมาก่อน โดยทุกปี สสวท.จะมีประกาศ พร้อมแจ้งรายละเอียดหัวข้อที่จะทำการประกวด จากนั้นนักเรียนที่สนใจก็จะจัดทีมขึ้นมา ทีมละ 2 คน โดยมีคุณครูคอยเป็นที่ปรึกษา ฝึกฝนการทำผลงานและลองนำเสนอผลงาน ก่อนที่คุณครูจะคัดเลือกทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด เพื่อแข่งขันในระดับภูมิภาคต่อไป
“จากที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันทุก ๆ ปี จะพบว่าโจทย์ของแต่ละปีจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อโจทย์ยากขึ้น เราก็ต้องพัฒนาตัวเองโดยการหมั่นขยัน ฝึกฝน เรียนรู้ และลองทำโจทย์คณิตศาสตร์บ่อยๆ โชคดีที่ส่วนตัวผมเองชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์อยู่แล้ว จึงทำให้ไม่รู้สึกเบื่อในการฝึกแก้โจทย์ปัญหา” น้องดุ๊ก กล่าว
สิ่งที่ทำให้เยาวชนทั้ง 2 คนนี้ ประสบความสำเร็จ คือ การรู้จักการทำงานเป็นทีม ประสานการร่วมมือ และมีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ในเรื่องนี้ น้องดุ๊ก อธิบายวิธีการทำงานร่วมกันให้ฟังว่า
“เราทั้ง 2 คน จะทำงานเป็นทีม เพราะเป็นการประกวดเป็นทีม ดังนั้นแต่ละทีมก็ควรจะต้องมีการแบ่งงานกันทำที่ชัดเจน เพราะเมื่อเจอโจทย์ที่ยาก ต้องทำให้เสร็จในเวลาที่จำกัด เราต้องมีการบริหารเวลาและแบ่งงานกันให้ชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน แต่เนื่องจากบางทีเราเป็นคนทำ อาจจะไม่เห็นข้อผิดพลาดของตนเอง เมื่อทำเสร็จแต่ละข้อแล้วก็อาจจะผลัดกันตรวจทานดูวิธีการทำ และคำตอบของแต่ละคน เพื่อหาข้อบกพร่องและแก้ไขต่อไป”
สำหรับสิ่งที่ 2 เยาวชนคนเก่ง อยากฝากไปถึงเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่สนใจอยากจะร่วมประกวดโปรแกรม GSP ว่า “ก่อนอื่นควรจะทำความเข้าใจกับตัวโปรแกรมก่อนว่า สามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง ในส่วนของการเรียนรู้ฝึกฝนนั้น ทาง สสวท.เอง ได้มีศูนย์อบรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ตัวโปรแกรมในเบื้องต้น แต่หลักๆ ที่จะทำให้เราใช้โปรแกรมเป็น ใช้คล่อง และชำนาญได้นั้น คือ ต้องนำไปฝึกต่อ หรือไปพัฒนา เรียนรู้เพิ่มเติมต่อยอดจากสิ่งที่ได้รับการอบรมมา ก็จะทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ และรู้จักโปรแกรม GSP ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น” น้องดุ๊ก กล่าว
ด้านคุณครูเบญจวรรณ เกื้อกูล ครูที่ปรึกษา เปิดใจถึงเบื้องหลังความสำเร็จของเด็กกลุ่มนี้ว่า สำหรับเด็กๆ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เด็กมีความสนใจ GSP และขยันฝึกฝน ส่วนครูมีหน้าที่เพียงแค่คอยแนะนำ คอยดูแลเรื่องระเบียบวินัย เทคนิคการฝึก ฝึกอย่างไรให้สามารถตีโจทย์และทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือ คอยสร้างแรงบันดาลใจ และให้กำลังใจเขา ยกตัวอย่าง โจทย์ที่ใช้ในการประกวดแข่งขันในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากมาก แต่ด้วยความที่เด็กเองก็ชื่นชอบคณิตศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับความสนใจเทคโนโลยี และความขยันหมั่นฝึกซ้อม ทำให้เขาสามารถทำได้ และผลลัพธ์ที่ออกมา ดีเกินกว่าที่เราหวังไว้
“อยากฝากถึงคุณครูที่สอนคณิตศาสตร์ ในฐานะที่ครูสอนคณิตศาสตร์เหมือนกัน อยากให้คุณครูทุกคนเห็นความสำคัญของโปรแกรม GSP ที่ให้อะไรเรามากมาย จริงๆ แล้วมันไม่ได้ใช้แค่เพียงการสร้างภาพ สร้างสรรค์ผลงาน หรือสร้างสิ่งสวยงามเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นการสร้างกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน และอีกหลายทักษะที่เด็กของเราจะได้จากการใช้โปรแกรมนี้ เมื่อเด็กเกิดทักษะกระบวนการคิดแล้ว เขาก็จะสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในวิชาอื่นๆ ได้ด้วย” คุณครูเบญจวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่ง โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) เป็นโปรแกรมคณิตศาสตร์ ที่สามารถนำไปใช้ในวิชาคณิตศาสตร์ได้หลายวิชา ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนคณิตศาสตร์โดยการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะของการนึกภาพ ทักษะของกระบวนการแก้ปัญหา นอกจากนี้การใช้โปรแกรม GSP ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เป็นการบูรณาการสาระที่เกี่ยวข้องกับความรู้คณิตศาสตร์ และทักษะด้านเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จึงทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้พัฒนาด้านพหุปัญญาด้วย
ปัจจุบัน โปรแกรม GSP มีใช้อย่างแพร่หลายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก สามารถติดตามข่าวสารการจัดประกวด ตลอดจนอัพเดทความรู้เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP กันได้ที่เว็บไซต์ http://www3.ipst.ac.th/sketchpad/