กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ดังที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า แผนป้องกันน้ำท่วมบ้านเรายังไม่มีนวัตกรรมเครื่องมืออะไรใหม่ที่จะนำน้ำอุทกภัยหลายหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว เครื่องมืออะไรจะรับมือกับภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง Climate Changeที่นับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น เรายังขาดการระดมผู้รู้มาศึกษาว่าอะไรที่จะเป็นโซลูชั่นที่ดีที่สุดและเหมาะกับปัญหา และต้องแก้ปัญหาอย่างองค์รวมเป็นระบบด้วยหลักวิศวกรรมและเครื่องมือนวัตกรรมใหม่มาเสริมการบริหารจัดการน้ำยุคที่สิ่งแวดล้อมของโลกไม่เหมือนเดิมแล้ว
คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ หรือ TUTG ภายใต้ วสท. ซึ่งเป็นผู้จัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 (World Tunnel Congress ) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-23 พ.ค. 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะมี กว่า 60 ประเทศ มาร่วมถกและแลกเปลี่ยนวิทยาการการใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยที่ไทยและหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่
ลองดูตัวอย่าง โตเกียว 1 ใน 5 เมืองใหญ่ของโลกที่ต่างเคยเจอวิกฤติน้ำท่วมหนักหนาสาหัสมาแล้ว สภาพไม่ต่างจากที่เราเผชิญมหาอุทกภัย ปี 2554 ในบ้านเราเลย มาดูว่าเขาศึกษาและสร้างระบบป้องกันและแก้ปัญหาน้ำอุทกภัย รวมทั้งวิกฤติการจราจรในเมืองใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวิถีชีวิต กันอย่างไร
เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เคยน้ำท่วมหนัก คนญี่ปุ่นต้องนั่งเรือไฟเบอร์ พายเรือกันในโตเกียว บ้านเรือน โรงงานจมน้ำสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตทรัพย์สิน กระทบต่อศูนย์กลางธุรกิจอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศและของโลก รัฐบาลได้ศึกษาหาโซลูชั่นมาเป็น โครงการระบบอุโมงค์ G-CANS หรือ Tokyo Flood Tunnel อยู่ใต้เมืองโตเกียว นับเป็นโครงการระบบอุโมงค์ที่ก้าวล้ำทั้งวิศวกรรมเทคโนโลยีชั้นยอด ดีไซน์และการใช้งาน เริ่มก่อสร้างในปี 1992 แล้วเสร็จในปี 2004 แก้ปัญหาน้ำท่วมและลดความเสียหายได้สำเร็จ
G-CANS ออกแบบเป็นระบบอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำท่วม ระยะทาง 6.3 กิโลเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์ 10 เมตร ในระดับความลึก 50 เมตร อยู่ใต้เมือง โครงการประกอบด้วย ไซโลคอนกรีตทรงกลม 5 แห่ง แต่ละแห่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร ความสูง 70 เมตร อุโมงค์ GCANS จุน้ำอุทกภัยได้ 640,000 ล.บ.เมตรเชื่อมต่อกับแก้มลิง หรืออ่างเก็บน้ำใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Water Tank) กว้าง 78 เมตร ยาว 177 เมตร และสูง25 เมตร หรือความจุ 350,000 ล.บ.เมตร ซึ่งออกแบบให้มีเสาใหญ่ตระหง่าน จำนวน 59 ต้น แต่ละต้นหนัก 500 ตัน สามารถระบายน้ำอุทกภัยได้ถึง 200 ตันต่อวินาที สู่แม่น้ำเอโดกาว่า หรือเท่ากับระบายน้ำ1 สระโอลิมปิก ได้ภายในเพียง 10 วินาที
มูลค่าลงทุนโครงการ G-CANS 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับเป็นการลงทุนคุ้มค่าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้เมืองหลวงซึ่งเป็นหัวใจและศูนย์กลางของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและโลก นับเป็นผลงานวิศวกรรมที่ประสบผลสำเร็จดียิ่ง เป็นความสำเร็จที่มาจากความชาญฉลาดในการระดมผู้เชี่ยวชาญ การใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมมาแก้ปัญหาปัจจุบัน และวางแผนรองรับอนาคตด้วย เขาใช้เงินเป็นและทำเพือปกป้องประชาชนและประเทศชาติของเขาอย่างแท้จริง
ปัจจุบันได้เปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนโตเกียว และผู้สนใจลงไปชมโดยมีไกด์นำชม ต่างตื่นตาตื่นใจกับระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วม G-CANS Tokyo Flood Tunnel
ผู้สนใจแวะเข้า 2 ลิงค์ ชมคลิปวิดิโอ G-CANS สุดอลังการจากฝีมือและสมองมนุษย์
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=zUGFa6Kw7Xo
http://www.youtube.com/watch?v=yBEiTGn8FNQ