กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ที่ระดับ "BBB-" โดยสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นหลังจากที่บริษัทสามารถระดมทุนได้ 11,000 ล้านบาทเมื่อเดือนมกราคม 2547 นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุนการผลิตของบริษัท สถานะการเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ และความเป็นผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติก Low Density Polyethylene (LDPE) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทได้รับผลกระทบในทางลบจากความคล่องตัวทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำของบริษัท ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับยอดหนี้ทั้งหมดซึ่งระบุไว้ในรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีปี 2546 รวมทั้งข้อพิพาททางกฎหมายที่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดหลายประเด็น และหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทหากศาลตัดสินให้เจ้าหนี้เป็นฝ่ายชนะ ในการจัดอันดับเครดิตองค์กรนี้จะถือว่าหนี้ที่ซื้อคืนแบบมีส่วนลดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะมีเพียงประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนี้ที่จะมีการซื้อคืนเพิ่มเติมจะไม่มีส่วนลด
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ค่าเงินบาทที่ลดลงซึ่งเป็นผลจากการลอยตัวของเงินบาทประกอบกับความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดต่ำลงนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเซียในปี 2540 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของบริษัท พีทีไอ โพลีน ภาระหนี้ที่สูงขึ้นประกอบกับความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดต่ำลงอย่างรุนแรงทำให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้ในปี 2540 และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2543 โดยบริษัทได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้ รวมทั้งได้เข้าสู่กระบวนการซื้อหนี้คืนในปีเดียวกัน ภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ บริษัทจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดภายในเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2543 สิ้นสุดปี 2547 โดยบริษัทสามารถขอขยายกำหนดเวลาออกไปได้อีก 3 ปี นอกจากนี้ บริษัทในฐานะผู้บริหารแผนจะต้องระดมทุนได้อย่างน้อย 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อคืนหนี้จำนวน 219.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ซึ่งภายหลังได้ขยายเวลาถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 โดยดอกเบี้ยค้างจ่ายนับถึง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2542 จำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะได้รับการแปลงสภาพเป็นทุน อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาล บริษัทกำลังเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยกเว้นดอกเบี้ยค้างจ่ายดังกล่าวแทนการแปลงสภาพให้เป็นทุน
แม้จะไม่สามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่บริษัทก็ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งต่อมาบริษัทก็ประสบผลสำเร็จในการระดมทุนจำนวน 11,000 ล้านบาท (ประมาณ 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเดือนมกราคม 2547 และทางบริษัทได้วางเงินจำนวน 5,549 ล้านบาทไว้ที่ศาลล้มละลายกลางเพื่อให้เจ้าหนี้มารับคืน อย่างไรก็ดี เจ้าหนี้บางรายถือว่ากระบวนการซื้อคืนหนี้ของบริษัทไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่ต้องการที่จะขายหนี้แบบมีส่วนลดให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ประเด็นพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการซื้อหนี้คืนและปัญหาเรื่องสถานะของบริษัทที่จะยังคงความเป็นผู้บริหารแผนอยู่หรือไม่นั้นยังอยู่ในกระบวนการไกล่เกลี่ยของศาล นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาทอื่นระหว่าง Krupp Polysius AG และ Projecktall Industrieberatung GmbH กับบริษัทในการเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่บริษัทกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรที่จะใช้ในโรงผลิตปูนซีเมนต์โรงที่ 4 ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้สั่งให้บริษัทจ่ายชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสองจำนวน 47 ล้านยูโร และข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับธนาคารแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งให้บริษัทชำระหนี้จำนวน 7,274 ล้านบาทให้แก่ธนาคารแห่งนั้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า หลังจากที่บริษัททีพีไอ โพลีน สามารถระดมทุนได้ในเดือนมกราคม 2547 ทำให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทสามารถให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไขต่องบการเงินปี 2546 ของบริษัทได้ โดยผู้สอบบัญชีได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของยอดหนี้ที่แท้จริงของบริษัทและการใช้งบการเงินของบริษัทร่วมที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี ทั้งนี้ เนื่องจากยอดหนี้ที่เจ้าหนี้บางรายได้ยื่นขอรับชำระหนี้มียอดสูงกว่ายอดหนี้ที่บันทึกในงบการเงินของบริษัท ดังนั้น การจัดอันดับเครดิตในครั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับคำกล่าวอ้างของผู้บริหารของบริษัทที่ระบุว่ายอดหนี้ที่ต่างกันระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัทเกิดจากวิธีการคำนวณดอกเบี้ยที่ต่างกัน และยอดที่ต่างกันจากการประเมินของบริษัทนั้นมีเพียง 160 ล้านบาท ซึ่งหากยอดหนี้ดังกล่าวมีความแตกต่างจากที่บริษัทระบุไว้ ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.59% ในปี 2545 มาเป็น 23.35% ในปี 2546 นอกจากนี้ภายหลังการเพิ่มทุน สัดส่วนของเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็ปรับตัวลดลงจาก 77% ณ สิ้นปี 2546 มาอยู่ที่ต่ำกว่า 60% ในปีนี้ แม้ว่าเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะปรับตัวดีขึ้นจาก 1.22% ในปี 2545 มาอยู่ที่ 9.13% ในปี 2546 ทว่าตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่เป็นลูกค้าของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
-นท-