กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่กระทรวงวัฒนธรรม นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในที่ประชุมมอบนโยบายแก่คณะผู้บริหารศูนย์คุณธรรมว่า ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มีภารกิจที่สำคัญ คือ ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมพลังของกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างสังคมสันติสุขด้วยฐานคุณธรรมความดี การทำงานของศูนย์ฯ ที่ผ่านมาประสบกับปัญหาในด้านกำลังคน ซึ่งมีอยู่เพียง ๒๐ คน และงบประมาณในการบริหาร ที่ได้รับจัดสรรเพียง ๑ ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
นางสุกุมล กล่าวอีกว่า การทำงานในเรื่องคุณธรรมถือว่าเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้เวลา โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่ขาดความสามัคคี การมีคุณธรรม และจริยธรรม ดังที่เห็นจากข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มีการเสนอในเชิงลบมากกว่าบวก ดังนั้น การทำงานของศูนย์คุณธรรมจะต้องมีการบูรณาการสร้างเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้นเพราะจะเป็นพลังสนับสนุนขับเคลื่อนให้บรรลุไปสู่จุดมุ่งหมายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมในการส่งเสริมให้คนในสังคมมีคุณธรรมจริยธรรม อย่างโครงการคนดี คิดดี สังคมดี ก็สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์คุณธรรมได้ เพราะมีภารกิจหลักที่เน้นให้สังคมมีคุณธรรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำความดี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความกตัญญู การเสียสละการเก็บเงินคืนเจ้าของ หรือการมีจิตอาสา ก็จะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เยาวชน และสามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้ ขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับการยกย่องก็จะมีความรับผิดชอบโดยคงความดีไว้ตลอด ซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะมีการขยายโครงการฯ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยทำเข็มคุณงามความดีที่ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ มอบให้แก่ผู้ที่ทำความดีอีกด้วย
“ขณะนี้ ทางศูนย์คุณธรรมมีการเผยแพร่หนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม ไปยังโรงเรียนต่างๆ มากมาย ซึ่งหนังสือเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่นับวันจะหายไปจากโรงเรียน ดังนั้น จึงต้องเร่งบูรณาการกับหลาย ๆ หน่วยงานให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนและหนังสือในโรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การให้ การรับ และการมีน้ำใจ อย่างเช่นโครงการเปิดศูนย์คุณธรรมอาชีวะจิตอาสา ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการบูรณาการร่วมกับโรงเรียนอาชีวะศึกษา ๑๒ โรงเรียน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี สามารถทำให้ชุมชนมี ส่วนร่วมในการทำงาน และทำให้คนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับที่เรียนสายอาชีวะ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการสร้างคุณธรรมให้หน่วยงานอื่น ๆ และควรขยายผลให้มากยิ่งขึ้น”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว