กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมแห่งสถาบัน ชาติ พระศาสนาและพระมหากษัตริย์จัดงานวันมาฆบูชา ๒๕๕๕ เพื่อเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” หรือเรียกว่า “พุทธชยันตี” อันเป็นวันที่พระพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดขึ้น ระหว่างวันที่ ๕-๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมีกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาและคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชนและพุทธศาสนิกชนมากมาย
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ถือเป็นวาระสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดีย เป็นต้น ก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของวาระพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคมที่จะให้ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการฉลองพุทธชยันตี โดยกำหนดให้จัดกิจกรรมเป็นพิเศษ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้ง ๓ วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬบูชา โดยจะเริ่มพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในวันมาฆบูชานี้ รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ด้วยการระลึก ถึงพระคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ร่วมกันทำบุญและปฏิบัติบูชาตามแนววิถีพุทธ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสพระชนมายุครบ ๘๕ พรรษา และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติสืบไป
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า วันมาฆบูชา ที่จะเวียนมาถึงในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันเนื่องจากเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ดังนั้น วันมาฆบูชาปีนี้นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติกันมาทุกปี ยังเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ปี ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ธรรม วันมาฆบูชาถือเป็นวันแห่งพระธรรม จึงเป็นวาระสำคัญพุทธศาสนิกชนได้ยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามหลักเนื้อหาที่ว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจ ให้บริสุทธิ์” เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ จึงนับเป็นปีแห่งการปฏิบัติบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ การจัดงานวันมาฆบูชา ๒๕๕๕ ในปีนี้ถือเป็นการเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” โดยวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป วันที่ ๕-๗ มีนาคม ๒๕๕๕ เช่น การปล่อยขบวนรถบุพชาติประชาสัมพันธ์งานมาฆบูชา การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยสรภัญญะ การประกวดร้องเพลงส่งเสริมศีลธรรม การประกวดตอบปัญหาธรรม การประกวดนิทานคุณธรรม การประกวดหนังสั้นส่งเสริมคุณธรรม การเจริญพระพุทธมนต์ปาฏิโมกข์ การเวียนเทียน สักการะพระบรมสารีริกธาตุ การเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศลฯ และการสาธยายธรรม ธรรมทัศนา เนื่องในพุทธวาระมาฆบูชา ๒๕๕๕ ในรูปแบบของสื่อผสมที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าใจถึงที่มาความหมายและความสำคัญของพุทธชยันตีอย่างแท้จริง สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ณ พุทธมณฑล ในวันที่ ๓-๗ มีนาคม ๒๕๕๕ มีกิจกรรมที่เน้นการปฎิบัติบูชาต่างๆ เช่นการปฏิบัติธรรม กิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพิธีเวียนเทียน พิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล การประกวดจัดโต๊ะหมู่บูชาและโคมแขวน วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๗.๓๐ น. ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป เวลา ๑๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีเวียนเทียนที่ลานองค์พระประธานพุทธมณฑล เป็นต้น
พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า พุทธชยันตีเป็นวาระที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนาพุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่าชยันตีมาจากคำว่า “ชย” คือชัยชนะ อันหมายถึง ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก “พุทธชยันตี” จึงมีความหมายว่าเป็นการตรัสรู้ และการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ในปัจจุบันพุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึงชัยชนะของพุทธศาสนาและชาวพุทธด้วย ส่วนวันมาฆบูชา ซึ่งถือว่าเป็นวันพระใหญ่ที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเช่นกันคือเป็นที่ตรงกับ ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งในปีนี้คือวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖ พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายการประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง
วันมาฆบูชานี้ถือเป็นวันแห่งพระธรรม พุทธศาสนิกชนจึงควรปฏิบัติบูชาด้วยการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนและนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ความสุขและสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคมสืบไปและการเฉลิมฉลอง “พุทธยันตี ๒,๖๐๐ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” นั้นพุทธศาสนิกชนควรได้ศึกษาและเข้าใจถึงที่มาแห่งความหมายและความสำคัญของพุทธชยันตีอย่างแท้จริง ปฏิบัติบูชาด้วยการทำจิตใจให้สูงขึ้นตระหนักรู้ละอายชั่วกลัวบาป และใฝ่กุศล ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา การปฏิบัติบูชาตามแนววิถีพุทธของคนไทย จึงถือเป็นแบบอย่างสำคัญที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติ การสืบสานและปกป้องพระศาสนาถือเป็นการจรรโลงพระศาสนาให้คงอยู่สืบไป
ประวัติการถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย