กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอความร่วมมือเจ้าของอาคารสูงปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารให้อยู่ในสภาพปลอดภัยต่อการเกิดอัคคีภัย โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด จัดให้มีระบบเตือนภัย ระบบตรวจจับควันไฟ และจัดระเบียบบันไดหนีไฟให้สามารถใช้งานได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนผู้อยู่อาศัยในอาคารสูง ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ ศึกษาเรียนรู้การป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง และการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากเหตุเพลิงไหม้อาคารฟิโก เพลส ซึ่งเป็นอาคารสูง และตัวอาคารล้อมรอบด้วยกระจกติดฟิล์ม ทำให้ยากต่อการควบคุมเพลิง ประกอบกับช่วงนี้สภาพอากาศแห้ง ลมพัดแรง หากเกิด เพลิงไหม้ จะยากต่อการดับเพลิง เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันเพลิงไหม้อาคารสูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอความร่วมมือเจ้าของอาคารสูง และผู้ประกอบการในอาคารสูง โดยเฉพาะอาคารที่สร้างก่อนปี พ.ศ.2535 ปรับปรุงสภาพอาคาร ให้ถูกต้องและปลอดภัยตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด โดยให้มีพื้นที่หนีไฟ ติดตั้งระบบเตือนภัยภายในอาคาร
ทั้งระบบตรวจจับควันไฟ สัญญาณกระจายเสียงภายในอาคาร ระบบดับเพลิงภายในอาคาร เช่น ระบบสเปรย์ ระบบสปริงเกอร์ พร้อมมีอุปกรณ์และเครื่องหมาย โดยเฉพาะป้ายแสดงทิศทางหนีไฟไว้ให้ชัดเจนและอยู่ในระดับสายตา จัดระเบียบบริเวณบันไดหนีไฟและทางเดินระเบียงรอบอาคารไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง ซึ่งประตูหนีไฟควรเปิดใช้งานได้สะดวกทั้ง 2 ทาง และห้ามล็อคประตูหนีไฟอย่างเด็ดขาด
เพื่อสะดวกต่อการหนีไฟ หมั่นตรวจสอบถังดับเพลิงเคมีให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดี สำหรับผู้ที่อาศัยในอาคารสูงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ เช่น การเสียบปลั๊กไฟหลายอันไว้ในเต้าเสียบเดียวกัน การจุดไฟเผากระดาษ เป็นต้น
ควรศึกษาเรียนรู้วิธีการป้องกันและการปฏิบัติตนให้ถูกต้องปลอดภัยจากอัคคีภัย ศึกษาเส้นทางหนีไฟและวิธีการใช้ถังดับเพลิงเคมี
หมั่นตรวจตราอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี หากชำรุดควรแจ้งช่างผู้ชำนาญมาดำเนินการแก้ไข ควรปิดสวิตช์
และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ โดยเก็บแยก
วัตถุไวไฟในที่มิดชิด เป็นสัดส่วน ตลอดจนร่วมกันระแวดระวัง หากพบเห็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ให้รีบแจ้งเจ้าของอาคารดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทันที อีกทั้งร่วมกันสอดส่องดูแลบันไดหนีไฟและประตูหนีไฟให้สามารถเปิดใช้งานได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
นายวิบูลย์ฯ กล่าวต่อไปว่า หากเป็นบุคคลแรกที่พบเหตุเพลิงไหม้ให้ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนกตกใจ ตะโกนบอกหรือรีบกดสัญญาณเตือนภัย แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้ทราบโดยทันที และรีบออกจากอาคารที่เกิดเหตุทันที อย่างเป็นระเบียบและรวดเร็ว
โดยควรหนีลงด้านล่างของอาคารทางบันไดหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด เนื่องจากเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างอยู่ภายในลิฟต์และขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต และหากเส้นทางหลบหนีมีควันไฟปกคลุมให้นำผ้าชุบน้ำมาปิดจมูกไว้ และหมอบคลานต่ำ เพื่อป้องกันการสำลักควันในขณะหลบหนี ห้ามหลบหนีไฟภายในห้องน้ำหรือจุดอับภายในอาคาร เช่น ห้องใต้ดิน หรือดาดฟ้า เพราะนอกจากจะทำให้ยากต่อการเข้าให้ความช่วยเหลือแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ที่สำคัญ อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สินเพราะอาจได้รับอันตราย เมื่อหนีออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเหตุอีกครั้ง