กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--ทีวีบูรพา
มันคือสิ่งมีชีวิตที่เร็วที่สุดในโลก สายตาเฉียบคมกว่ามนุษย์ถึง 8 เท่า ปีกที่กว้างใหญ่ กงเล็บอันทรงพลัง ราชันที่สง่างามและน่าเกรงขามที่สุดบนท้องฟ้า พวกมันคือ นกนักล่า
อินทรีและเหยี่ยว ถูกนำมาฝึกให้ทำงานร่วมกับมนุษย์มาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีก่อนแล้ว โดยเริ่มต้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย จีนและมองโกล ซึ่งจักพรรดิเจงกีสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ ก็มีเหยี่ยวคู่ใจไว้ข้างกายยามออกล่าสัตว์ ต่อมาการฝึกนกนักล่าก็แพร่กระจายสู่หลายพื้นที่ เกิดเป็นประเพณี กีฬาเหยี่ยวล่าสัตว์ จนได้รับความนิยมทั้งจากชาวเอเชียตะวันออก กลุ่มอาหรับ ยุโรป อเมริกา และกลายเป็นกีฬาสากลระดับโลกไปแล้วในปัจจุบัน
แต่การจะดึงนกเจ้าเวหา ลงมาทำงานร่วมกับมนุษย์เดินดินได้นั้นหนทางไม่ได้โรยด้วยขนนกนุ่มนิ่ม ต้องประกอบด้วยศาสตร์ลึกลับ ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความอดทนอย่างสูง ณ จุดเริ่มต้นกบนอกกะลาจึงขอติดตามพี่ๆ จากชมรมไทย ฮอว์ค มาสเตอร์ เดินทางไปรับพญาอินทรีหัวขาว สัตว์สัญลักษณ์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งบินข้ามน้ำข้ามทวีปมาอยู่ใต้ฟ้าเมืองไทยหมาดๆ ที่สนามบิน ตรวจสอบเอกสารถูกต้องครบถ้วน ก็พาอินทรีราคา 7 หลัก ไปส่งถึงมือเจ้าของที่กำลังรออย่างใจจดจ่อ เพราะนกที่สั่งจากฟาร์มต่างประเทศนี้ ไม่ได้เหมือนพิซซ่าที่โทรสั่งปุ๊บแล้วมาส่งเลย แต่กลับต้องสั่งจองล่วงหน้ากันเป็นปีๆ จองกันตั้งแต่นกยังไม่ออกจากไข่ เพราะนกนักล่าพันธุ์ดีๆ มีลูกค้าหลายชาติที่ต้องการ และต้องรอให้นกเติบโตจนแข็งแรงอายุเกือบปีก่อนถึงจะยอมขนส่งเดินทางไกลมาให้เราได้
เมื่อพญานกถูกเปิดหมวกที่ปิดตาออก และพบเจอบ้านใหม่กับคนแปลกหน้าทั้งหลาย สัญชาตญาณความดุร้ายก็ปรากฏขึ้น กระพือปีก กระโดดหนี ส่งเสียงขู่ ประกาศความไม่เป็นมิตรให้ทราบโดยทั่วกัน แต่ปฏิบัติการผูกมิตรระหว่างคนกับนกต้องเริ่มต้นขึ้นในคืนนั้น ขั้นตอนแรกเรียกว่าการแมนนิ่ง โดยผู้ฝึกนกต้องพยายามให้นกมายืนบนแขนให้ได้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและไว้ใจ แน่นอนว่าเราจะได้เห็นอินทรีที่ก้าวร้าว ทั้งจิกกัด ดิ้น กระโดดหนี ผู้ฝึกก็ต้องอดทนกับความเหนื่อยล้า ขั้นตอนนี้อาจกินเวลาหลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน สร้างความเจ็บปวดเมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยกันทั้งคนทั้งนก ผ่านวันผ่านคืนเข้า นกจะค่อยๆ สงบลง ผ่อนคลายขึ้นและสุดท้ายก็ยอมนอนหลับลงบนแขน นั่นคือสัญญาณแห่งความไว้ใจที่นกมอบให้แก่เจ้าของ และเป็นการเปิดประตูสู่การฝึกบทเรียนต่อไป
หลักสูตรการฝึกเจ้าเวหานั้นก็ไม่ได้จบปริญญากันได้ง่ายๆ เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ยากที่สุดก็คือ คนต้องมาสอนนก “บิน“ เพราะนกนักล่าที่สั่งตรงมาจากฟาร์มนั้น หลายตัวไม่เคยทะยานสู่ฟ้ากว้างมาก่อนเลย ทักษะการกระพือปีกนั้นเทียบได้กับทารกหัดเดิน ดังนั้นห้องเรียนวิชาเหินฟ้านี้ จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคให้ผู้ฝึกต้องปวดหัว ทั้งนกบินไม่ขึ้น บินโซซัดโซเซ หาทางลงไม่เจอ จับยึดเกาะต้นไม้ไม่ได้ ไม่ยอมลงมาหาเจ้าของ และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ นกขาดความมั่นใจ จนบินหนีไป ต้องวุ่นวายเปิดสัญญาณติดตามตัว เดินค้นหาในความมืดด้วยความหวังอันริบหรี่
เมื่อนกมีชั่วโมงบินที่มากขึ้น สามารถเหินหาวในระยะทางไกลๆ เรียกแล้วบินกลับมาหาอย่างรู้ใจกัน วิชาต่อไปก็คือการฝึกล่า โดยการใช้ทั้งเหยื่อปลอม และเหยื่อจริง ที่จะแสดงสัญชาตญาณการล่าของนก ทั้งกงเล็บ สายตาและความเร็ว หมั่นฝึกฝนจนวิทยายุทธ์แกร่งกล้า ก็พร้อมที่จะลงสนามปฏิบัติงานได้แล้ว
แต่การฝึกที่สร้างความเหน็ดเหนื่อย ลำบากลำบนเหล่านี้ ปลายทางจะนำพาไปสู่อะไร ภารกิจของเจ้าเวหาจะสำเร็จหรือไม่ คนกับนกนักล่าจะสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร
ติดตามเรื่องราวความรู้ที่สนุกสนานตื่นเต้นเหล่านี้ได้ในกบนอกกะลา “นกนักล่า ภารกิจเจ้าเวหา” ศุกร์ที่ 9 มี.ค. นี้ 20.30 โมเดิร์นไนน์ทีวี